สงครามรถยนต์ EV สะเทือน ‘ศก.ไทย’ กว่าที่คิด
ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนแข่งขันกันลดราคารถยนต์จนกลายเป็น “สงครามราคา” ไปแล้ว เมื่อผู้คนคาดหวังว่าราคาจะปรับลดลง ก็จะยังไม่ซื้อสินค้า รอจนกว่าราคาจะถูกลงมา แถมยังกระทบไปถึงราคารถยนต์มือสองด้วย ที่สำคัญยังทำให้เวลธ์ของคนทั่วไปลดลงตามด้วย
เดิมเราคิดว่าการหั่นราคาขายรถยนต์ของค่ายรถต่างๆ โดยเฉพาะค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนจะเป็นผลดีกับผู้บริโภค เพราะได้สินค้าที่คุณภาพดีขึ้น ราคาถูกลง แต่สถานการณ์ล่าสุด อาจไม่ได้เป็นอย่างที่คิดไว้ก็ได้ ในทางตรงกันข้ามดูเหมือนว่า “สงครามราคา” ของค่ายรถยนต์ต่างๆ ในเวลานี้ กำลังทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้ม “ซึมตัว” หนักขึ้น ขณะที่ผู้บริโภคจำนวนมาก ก็โดนผลกระทบทางอ้อมไปด้วย กระทบยังไงเดี๋ยวจะเล่าให้ฟัง!
เวลานี้ต้องยอมรับว่า การแข่งขันของค่ายรถยนต์ต่างๆ โดยเฉพาะค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน “ดุมากขึ้น” จนเรียกได้ว่าเป็น “สงครามราคา” ไปแล้ว เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านี้ BYD ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าเบอร์หนึ่งจากจีน หั่นราคาขายรถยนต์รุ่นนิยม Dolphin ลงประมาณ 140,000-160,000 แสนบาท ซึ่งแคมเปญดังกล่าวมีผลถึงสิ้นเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา และหลังจากแคมเปญนี้สิ้นสุดลง BYD ก็ประกาศแคมเปญใหม่ต่อเนื่อง โดยคราวนี้หั่นราคารถรุ่นยอดนิยม ATTO 3 ลงราว 90,000-340,000 บาท มีผลถึงสิ้นเดือนก.ค.นี้ เรียกได้ว่าปลุกวงการรถยนต์เดือดขึ้นมาทันที ซึ่งผลกระทบไม่ได้จำกัดแค่รถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น แม้แต่รถยนต์สันดาปหรือไฮบริดก็โดนหางเลขไปตามๆ กัน
หลัง BYD ประกาศแคมเปญดังกล่าวไปไม่นาน แม้จะเป็นแคมเปญช่วงสั้นๆ แต่ก็ทำให้ค่ายรถยนต์อื่นๆ นั่งไม่ติด คู่แข่งทางตรงอย่าง Neta ที่เพิ่งจะเปิดตัว Neta V-II ไปไม่นานก็ต้องปรับกลยุทธ์หั่นราคาลงตาม โดยปรับลดราคาขายลงอีก 50,000 บาทในรุ่นเริ่มต้น ทำให้ราคาขายลดลงมาเหลือ 499,000 บาท จากเดิม 549,900 บาท ...ต้องบอกว่า “สงคราม” นี้ยังไม่มีท่าทีว่าจะจบลงง่ายๆ ในขณะที่กูรูรถยนต์ต่างบอกกับผู้ซื้อรถเป็นเสียงเดียวกันว่า ถ้าไม่รีบก็น่ารอ เพราะอนาคตอาจจะเห็นรถยนต์รุ่นอื่นๆ ปรับราคาลงตามได้เช่นกัน
ย้ำอีกทีว่าการปรับราคาของทั้ง BYD และ Neta เป็นเพียงแคมเปญการตลาดช่วงสั้นๆ อย่างของ BYD จบไปแล้วเมื่อสิ้นเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมาสำหรับรุ่น Dolphin และรุ่น ATTO 3 จะสิ้นสุดในเดือนก.ค.นี้ ขณะที่ Neta โปรโมชันนี้จะมีไปจนถึงสิ้นเดือนก.ค.เช่นกัน แม้จะเป็นแคมเปญสั้นๆ แต่ก็ทำให้คนที่คิดจะซื้อรถเริ่มไม่มั่นใจว่า รุ่นที่ตัวเองจะซื้อมีโอกาสลดราคาลงมาด้วยหรือไม่ จึงกลายเป็นภาวะสุญญากาศขึ้นมา เพราะหลายคนเริ่มโลเลที่จะควักเงินซื้อรถยนต์ในเวลานี้แล้ว โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากคาดหวังว่า อนาคตราคาจะถูกลงกว่านี้ จนเวลานี้เกิดวลีที่เป็นไวรัลขึ้นมากับรถยนต์ไฟฟ้าว่า “ซื้อก่อนประหยัดก่อน ซื้อหลังประหยัดกว่า”
ภาวะแบบนี้ในทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “ภาวะเงินฝืด” เพราะเมื่อผู้คนคาดหวังว่าราคาจะปรับลดลง ก็จะยังไม่ซื้อสินค้า รอจนกว่าราคาจะถูกลงมา ซึ่งจริงๆ เราก็เห็นแล้วว่ายอดขายรถยนต์เดือนล่าสุดลดลงไปถึง 23% (ส่วนหนึ่งอาจเพราะภาวะเศรษฐกิจ) แถมยังกระทบไปถึงราคารถใช้แล้วหรือรถยนต์มือสองด้วย เพราะเมื่อรถยนต์มือหนึ่งราคาร่วงลงหนัก ราคารถยนต์มือสองย่อมร่วงลงตาม ที่สำคัญยังทำให้เวลธ์ของคนทั่วไปลดลงตามด้วย อย่างคนที่มีรถยนต์เวลานี้หากเกิดความจำเป็นต้องนำไปค้ำประกันขอสินเชื่อ มูลค่ารถที่แบงก์ประเมินให้ก็ลดลงจากเดิมค่อนข้างมาก แถมยังขอสินเชื่อยากขึ้นตามไปด้วย ...เราจึงเชื่อว่าผลกระทบจาก “สงครามราคารถยนต์” ในเวลานี้ กระทบต่อเศรษฐกิจไทยหนักกว่าที่คิดไว้มาก!