เปิดเหตุผลเลื่อน 'แผนพลังงานชาติ' หวั่น 'ทรัมป์' ป่วนนโยบายเศรษฐกิจสีเขียว
เปิดเหตุผล! "กระทรวงพลังงาน" ต้องเลื่อนดัน "แผนพลังงานชาติ" เข้าครม. จับตา นโยบาย "ทรัมป์" ป่วนนโยบายเศรษฐกิจสีเขียว
KEY
POINTS
- เทรนด์โลกกำลังไปในเรื่องของพลังงานสะอาด ภาครัฐจะต้องปรับกระบวนการทำงานโดยเฉพาะนโยบายเน้นเรื่องความมั่นคง ราคาไม่แพงและยั่งยืน
- มาตรการทางภาษีจะกีดกันทางการค้า รัฐต้องหาพลังงานสะอาดให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น กระทรวงพลังงานมีกรอบลดการปลดปล่อยคาร์บอนแผนตอนนี้จะอยู่ที่ 2037 ซึ่งทิศทางพลังงานการใช้เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้ายังพึ่งก๊าซธรรมชาติ 58%
- การขับแผนพลังงานชาติ อาจจะต้องเลื่อนเวลาประกาศใช้ไปเป็นต้นปี 2568 เนื่องจากนโยบายทรัมป์ 2.0 คือ make America great again กดดันเศรษฐกิจโลก
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวเสวนาหัวข้อ “Future Energy in Thailand” งาน 2024 The Annual Petroleum Outlook Forum “Regenerative Thailand with Cleanergy คิดนำ ล้ำหน้า ขับเคลื่อนอนาคตไทย ด้วยพลังงานสะอาด” จัดโดย กลุ่มบริษํท ปตท.จำกัด (มหาชน) และกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
นายวัฒนพงษ์ กล่าวว่า เทรนด์โลกกำลังไปในเรื่องของพลังงานสะอาด ภาครัฐจะต้องปรับกระบวนการทำงานโดยเฉพาะนโยบายเน้นเรื่องความมั่นคง ราคาไม่แพงและยั่งยืน ตามแผนเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภาคพลังงานเป็นตัวหลัก หากไม่ใช้พลังงานสะอาดจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย Net Zero ปี 2065
นอกจากนี้ มาตรการทางภาษีจะมาการกีดกันทางการค้า ภาครัฐต้องจัดหาพลังงานสะอาดให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น กระทรวงพลังงานจะมีกรอบในการลดการปลดปล่อยคาร์บอนแผนตอนนี้จะอยู่ที่ 2037 ซึ่งทิศทางพลังงานการใช้เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้ายังพึ่งก๊าซธรรมชาติ 58% จึงต้องเพิ่มพลังงานหมุนเวียนอีก 10% และให้มากกว่า
“ที่ผ่านมาเราการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานฟอสซิลเยอะ ทั้งก๊าซธรรมชาติ ระบบท่อ terminal และคลังต่าง ๆ เมื่อเปลี่ยนผ่านโดยไม่คำนึงเงินที่ลงทุนคงเป็นไปไม่ได้จึงต้องพยายามลดเท่าที่ทำได้”
สำหรับแนวทางหลักในการขับเคลื่อน คือ 1. เทคโนโลยี 2. การบริหารจัดการพลังงาน 3. เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ดังนั้น ยอมรับว่า แผนพลังงานชาติ อาจจะต้องเลื่อนเวลาประกาศใช้ไปเป็นต้นปี 2568 เนื่องจากนโยบายทรัมป์ และการจะเข้ามาของทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา (OCA)
ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) บรรยายพิเศษในหัวข้อ “สถานการณ์โลกเรื่องพลังงาน หลังเลือกตั้ง USA” ว่า นโยบายโดนัลด์ ทรัมป์ 2.0 หากมองนโยบายสหรัฐฯ สิ่งที่เป็นนโยบายเดียวกันคือ make America great again กดดันเศรษฐกิจโลก จะส่งผลให้กระทบ 6 ด้าน คือ 1. ความผันผวนเศรษฐกิจสูงจากความไม่แน่นอนในการทำงานนโยบายเศรษฐกิจและการต่างประเทศ 2. เร่งให้เกิดการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ ทำให้การค้าโลกรอตัวและเกิดการย้ายฐานการผลิตจากนโยบาย America first
3. เกิดการแบ่งขั้วทางเทคโนโลยีและการค้าจากการกลับมาของ Trade war and Tech war ระลอกใหม่ที่รุนแรงกว่าเดิม 4. ต้นทุนสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสหรัฐและสินค้าจีนทะลักเข้ามาแข่งขันในตลาดอื่นๆ มากขึ้น 5. มาตรการติดกันทางการค้าที่เข้มงวดขึ้นกับประเทศที่ได้ดุลการค้าจากสหรัฐรวมทั้งอาจถูกกล่าวหาเป็นฐานการผลิตของจีนและ 6. การแก้ไขปัญหาโลกร้อนชะลอออกไปเป้าหมาย Net Zero ช้ากว่าที่กำหนดและอาจกลับไปสู่ยุคการแข่งขันด้านต้นทุน
“เมื่อทรัมป์มาเกิดความผันผวนเรื่องค่าเงินเป็นอย่างมาก รวมถึงการหาเสียงเรื่องภาษีนำเข้าแต่ยกเว้นจริง 60 - 100% ซึ่งจีนย้ายฐานผลิตรถ EV ที่เม็กซิโกจะขึ้นอีก 200% จึงเป็นที่มาจากนี้ไปการแบ่งขั้วสงครามการค้าจะดุเดือดและรุนแรงขึ้นส่วนเทคโนโลยีก็เช่นกัน เพราะโดนจีนแย่งเป็นผู้นำด้านพลังงานสะอาดไปแล้ว ทั้งในเรื่องของ โซลาร์ และยานยนต์ไฟฟ้า (EV)”
อย่างไรก็ตาม จากภูมิรัฐศาสตร์จีนกับสหรัฐ เกิดการย้ายฐานห่วงโซ่อุปทานเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมเป้าหมายมาในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งรวมถึงไทย แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดและช่วยให้ไทยได้โอกาสคือการขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มขึ้นเพิ่มขึ้นทุกปีโดยปีที่แล้วสูงระดับ 1.4 ล้านล้านบาท ปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 1.5 ล้านล้านบาท และเมื่อเทียบดูแล้วเวียดนามจะได้ประโยชน์สูงสุดในช่วง 3 ปีเวียดนามทำตัวเลขส่งไปสหรัฐเพิ่มขึ้นทุกปี รองลงมาคือคืออินโดนีเซีย ซึ่งแม้ไทยจะส่งออกให้สหรัฐฯ เพิ่มขึ้แต่ก็นำเข้าจากจีนเยอะขึ้นเช่นกัน
สำหรับผลกระทบนโยบายทำทรัมป์ 2.0 ด้านพลังงาน คือ 1.เพิ่มการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน จะทำให้ต้นทุนต่ำลงที่ประมาณ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล 2. ถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสปี 2015 ที่เคยสัญญาไว้
3. ชะลอการดำเนินงานสำหรับการลงทุนด้านพลังงานสะอาด 4. ส่งเสริมเทคโนโลยีนิวเคลียร์ขนาดเล็ก SMR และโซลาร์แต่ลดการให้เงินอุดหนุนหรือการให้เครดิตภาษีการลงทุนในส่วนของพลังงานลมไฮโดรเจนและ CCS เป็นต้น และ 5. เจรจาให้ยุติสงครามรัสเซียยูเครน ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่คาดเดาได้ยาก และจะส่งผลต่อราคาน้ำมันโลก