เปิดแผนปลดล็อกพลังงานสะอาด หนุนประชาชน - ภาคธุรกิจซื้อไฟ

เปิดแผนปลดล็อกพลังงานสะอาด หนุนประชาชน - ภาคธุรกิจซื้อไฟ

เปิดแผนงานปี 67 “วัฒนพงษ์ คุโรวาท” คุมกรมพัฒนาพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน 6 เดือน พร้อมปลดล็อกกฎระเบียบภาครัฐเอื้อ “ประชาชน - ภาคธุรกิจ” เดินหน้าพลังงานสะอาด ตอบโจทย์ประเทศมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero สนพ.เผย แผน PDP 2024 ค่าไฟฟ้าตลอดแผน 3.8704 บาทต่อหน่วย

“ประเทศไทย” ก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงทุกมิติทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม โดยทั่วโลกให้ความสำคัญต่อประเด็นสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะกระทบระยะยาว ซึ่งส่งผลกระทบต่อการวางนโยบายพลังงานของไทยให้ซับซ้อนมากขึ้น เพราะพฤติกรรมผู้ผลิต และผู้ใช้พลังงานเปลี่ยนแปลงไป

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า แผนการดำเนินงานปี 2567 ตามภารกิจกรมฯ อาจต้องทบทวนให้เป็นปัจจุบันขึ้น โดยภาพใหญ่ประเทศต้องตอบโจทย์พลังงานสะอาด ที่ไทยต้องบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ.2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ปี ค.ศ.2065

กรมฯ มี 2 แผนที่ต้องรับฟังความคิดเห็นสาธารณะวันที่ 18 มิ.ย.2567 รวม 2 แผน คือ 1.ร่างแผนปฏิบัติการด้านพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (พ.ศ.2567-2680) หรือ AEDP 2024 และ 2.ร่างแผนปฏิบัติการด้านการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2567-2580 หรือ EEP 2024

ทั้งนี้ เพื่อนำมารวมกับอีก 3 แผนคือ ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP), ร่างแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และร่างแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) ก่อนจะมารวมอยู่ในแผนพลังงานชาติ 2024

“งานสำคัญที่ต้องเร่งทำคือ แผนพลังงานชาติ 2024 ซึ่งกรมฯ ดู 2 แผน คือ แผน AEDP และ EEP ต้องเน้นพลังงานสะอาดเพราะทิศทางพลังงานเปลี่ยนแปลง ในแผนใหม่จะซื้อพลังงานสะอาดจากต่างประเทศได้ โดยเฉพาะการซื้อพลังงานน้ำ” นายวัฒนพงษ์ กล่าว

 

 

นายวัฒนพงษ์ กล่าวว่า ร่างแผนใหม่จะปรับให้เข้มข้นขึ้นตามกรอบแผนชาติที่ระบุต้องผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 50% ขณะที่แผนใหม่เพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด ซึ่งไทยมีพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ชีวมวล ที่มาจากภาคการเกษตรกร ซึ่งถึงแม้ว่าราคาต้นทุนจะแพงกว่าพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลแต่สุดท้ายต้องเห็น

ทั้งนี้ เดิมอุตสาหกรรมใช้น้ำมัน และก๊าซมาผลิตไฟฟ้า เมื่อเปลี่ยนเทคโนโลยีแต่อาจไม่บรรลุผลเพราะกติกาการค้าโลกเดิมอาจไม่บีบเหมือนมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) แต่ปัจจุบันเข้มข้นขึ้นทำให้อุตสาหกรรมปรับตัวเพราะใช้พลังงานจากฟอสซิล 100% ไม่ได้แล้ว จะต้องใช้พลังงานทดแทนร่วมด้วย

“กติกาการค้าโลก กลุ่มอุตสาหกรรมต้องใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น ซึ่งกรมฯ สนับสนุนเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด (Wood Pellet ) เป็นผลิตภัณฑ์จากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาอัดเม็ดหรือแท่ง เช่น แกลบ ซังข้าวโพด เหง้ามันสำปะหลัง กะลาปาล์ม เปลือกไม้ เศษไม้หรือขี้เลื่อย”

นายวัฒนพงษ์ กล่าวถึงนโยบายไฟฟ้าเพื่อเกษตรกรว่า พพ.สนับสนุนด้านนี้มากว่า 71 ปี ในการพัฒนาเขื่อนการพลังงานแห่งชาติ เมื่อมี กฟผ. และกรมชลประทาน จึงได้แบ่งงาน และแยกไปดำเนินการ ถือเป็นการทำเพื่อประชาชนด้านเกษตรกรรวมถึงพื้นที่ชายแดน

 

 

 

ดังนั้น อาจจะต้องมาดูแผนงานเดิมว่าจะส่งเสริมต่อ และพัฒนาอย่างไรจากงบประมาณที่ พพ. ได้รับระดับพันล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการพลังน้ำ การอนุรักษ์พลังงาน และการส่งเสริมด้านประสิทธิภาพ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้หารือกระทรวงการคลัง ว่า เป้าการอนุรักษ์พลังงานประเทศ หรือการเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์จะสนับสนุนอย่างเดียวไม่ได้ เพราะหากผู้ประกอบการเปลี่ยนเทคโนโลยีแล้วไปลดหย่อนภาษีได้ หรือแม้กระทั่งด้านลงทุนในการติดตั้งโซลาร์กลุ่มเกษตรกรในลักษณะลดหย่อนภาษี ตอนนี้พยายามให้หน่วยงานภาครัฐรับได้สิทธิประโยชน์ด้วย เพราะถือเป็นอาคารที่ควบคุมที่ใช้พลังงาน เพราะภาครัฐมีกฎหมายควบคุมว่าพื้นที่ตั้งแต่ 200 เมตร ต้องติดตั้งโซลาร์รูฟ ซึ่งขณะนี้ พพ. ได้ปลดล็อกให้หน่วยงานราชการทำได้แล้ว

ปลดล็อกระเบียบภาครัฐเอื้อประโยชน์ประชาชน

“ตอนนี้นรัฐบาลพยายามปลดล็อกกฎระเบียบให้ง่ายขึ้น เช่น การขอติดตั้งโซลาร์ภาคประชาชนรวมถึงการขอลดหย่อนภาษี ซึ่งตั้งเป้าที่ 90,000 หลังใน 3 ปีนี้ ซึ่งปัจจุบันมีการขอติดตั้งเยอะขึ้น ต่างจากสมัยก่อน 1 ปียอดขอติดตั้งระดับ 100 ราย แต่ตอนนี้ขยับมาที่ 300 ราย ซึ่งนายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน ก็เร่งเรื่องนี้ เพื่อแก้ไขกฏระเบียบต่างๆ และให้สำนักงานกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ดำเนินการให้จบในหน่วยงานเดียว เพื่อเป็น One Stop Service” นายวัฒนพงษ์ กล่าว

นายวัฒนพงษ์ กล่าวว่า สำหรับแผน PDP นั้น กฎหมายระหว่างประเทศเดิมใช้มากว่า 10-15 ปี ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกได้เห็นความสำคัญของพลังงานนิวเคลียร์ให้เป็นตัวเลือก ดังนั้น ประเทศไทยก็ควรจะมีบ้าง เพื่อบาลานซ์ เพราะหากมีแต่โซลาร์ก็จะไม่เสถียร ซึ่งต้องยอมรับว่าพลังงานนิวเคลียร์นั้นสะอาดสุด จึงจะต้องเน้นสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนถึงความปลอดภัย เพราะจะเน้นไปที่พลังงานไฮโดรเจนในสัดส่วนที่มากก็จะยังแพง

“กรมฯ คงต้องกลับมาทบทวนบทบาทของการเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนแผนประเทศ จึงต้องดูงานที่ทำว่าถูกต้องหรือไม่ แต่ที่สำคัญคือ งานใหม่ที่จะต้องนำดิจิทัล นวัตกรรมเข้ามาพัฒนาองค์กร และวางทิศทางการทำงานสื่อสารให้สาธารณะทราบถึงภารกิจที่ตอบโจทย์มากยิ่งขึ้น โครงการในอดีตที่ดีก็นำกลับมาทำ และคิดสิ่งใหม่ให้สอดคล้องกับปัจจุบัน” นายวัฒนพงษ์ กล่าว

“พีดีพี” ใหม่กำลังผลิตตามสัญญา 1.1 แสนเมกะวัตต์ 

รายงานข่าวระบุว่า สำหรับเวทีวันแรก รับฟังความเห็น “ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (PDP 2024)” และ “ร่างแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ.2567-2580 (Gas Plan 2024) โดยสาระสำคัญของแผน PDP 2024 ได้พยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศช่วงปลายแผนในปี 2580 อยู่ที่ 56,133 เมกะวัตต์ 

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญา (ณ เดือน ธ.ค.2566) อยู่ที่ 53,868 เมกะวัตต์ แต่ระยะยาวจะมีโรงไฟฟ้าหมดอายุและปลดจากระบบ 18,884 เมกะวัตต์ จะทำให้ไฟฟ้าในระบบเหลือ 34,984 เมกะวัตต์ ดังนั้นเพื่อให้การผลิตเพียงพอจึงวางแผนจัดหาไฟฟ้าใหม่ในแผน PDP 2024 มารองรับอีก 77,407 เมกะวัตต์ และจะทำให้ไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญา 112,391 เมกะวัตต์ ในปลายแผนปี 2580

สำหรับกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ 77,407 เมกะวัตต์ จะมาจาก 3 ส่วน ได้แก่ 1.กำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ 47,251 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 34,851 เมกะวัตต์ , โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 6,300 เมกะวัตต์ ,โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) 600 เมกะวัตต์ ,การรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ 3,500 เมกะวัตต์ และอื่นๆ (DR, V2G) 2,000 เมกะวัตต์

2.กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรอง 12,957 เมกะวัตต์ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ 2,472 เมกะวัตต์ และระบบกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่ 10,485 เมกะวัตต์ และ 3.มาจากโรงไฟฟ้าที่มีสัญญาข้อผูกพันไปแล้ว 17,199 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ เมื่อแยกดูพลังงานหมุนเวียนที่จะมีกำลังการผลิตใหม่ 34,851 เมกะวัตต์ มาจากพลังงานแสงอาทิตย์ 24,412 เมกะวัตต์, พลังงานลม 5,345 เมกะวัตต์, ชีวมวล 1,045 เมกะวัตต์, ก๊าซชีวภาพ 936 เมกะวัตต์, พลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำ 2,681 เมกะวัตต์, ขยะอุตสาหกรรม 12 เมกะวัตต์, ขยะชุมชน 300 เมกะวัตต์, พลังน้ำขนาดเล็ก 99 เมกะวัตต์ และความร้อนใต้พิภพ 21 เมกะวัตต์ 

โดยรวมคิดเป็น 51% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากแผนเดิม PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ที่มีสัดส่วนพลังงานทดแทนเพียง 36%

สำหรับค่าไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดแผน PDP2024 อยู่ที่ 3.8704 บาทต่อหน่วย ต่ำกว่าแผนเดิม PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (หากใช้สมมติฐานเดียวกันมาคำนวณ) ค่าไฟฟ้าจะสูงกว่าอยู่ที่ 3.9479 บาทต่อหน่วย

สนพ.เพิ่มพลังงานทดแทน 3.4 หมื่นเมกะวัตต์

นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า แผน PDP 2024 ในส่วนพลังงานทดแทน 34,851 เมกะวัตต์ จะมีปริมาณการผลิตไฟฟ้าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำ 2,681 เมกะวัตต์ แต่อนาคตหากการผลิตไฟฟ้าแบบทุ่นลอยน้ำมีศักยภาพขึ้นอาจขยับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่กำหนดไว้ 24,412 เมกะวัตต์ มาให้พลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำแทนก็ได้

สำหรับโรงไฟฟ้าใหม่ปี 2567-2580 ที่ กฟผ.เป็นผู้ดำเนินการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 3 ขนาด 700 เมกะวัตต์ ในปี 2571 ,โรงไฟฟ้าพระนครใต้ ชุดที่ 5 ขนาด 700 เมกะวัตต์ ในปี 2573 , โรงไฟฟ้าจะนะ ชุดที่ 3 ขนาด 700 เมกะวัตต์ ปี 2577 , โรงไฟฟ้าพระนครใต้ชุดที่ 6 ขนาด 700 เมกะวัตต์ ปี 2578, โรงไฟฟ้าพระนครเหนือชุดที่ 4 ขนาด 700 เมกะวัตต์ ในปี 2579

นอกจากนี้ มีโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ เขื่อนจุฬาภรณ์ 801 เมกะวัตต์ ปี 2577, โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ เขื่อนวชิราลงกรณ 891 เมกะวัตต์ ปี 2579 และโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ เขื่อนกะทูน 780 เมกะวัตต์ ปี 2580 

รวมทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) รวม 600 เมกะวัตต์ ในปี 2580 ที่มีแนวโน้มว่า กฟผ.จะเป็นผู้ดำเนินการเพราะมีศักยภาพ ซึ่งรวมแล้ว กฟผ.จะได้ดำเนินการผลิตไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าใหม่ปี 2567-2580 รวมประมาณ 6,572 เมกะวัตต์

สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม โรงใหม่ตามแผน PDP 2024 จะมีทั้งสิ้น 2,800 เมกะวัตต์ ซึ่งมีโอกาสทั้งภาคเอกชนหรือ กฟผ. จะดำเนินการ โดยขึ้นกับนโยบายรัฐบาลเป็นหลัก เช่นเดียวกับการผลิตไฟฟ้า Battery Energy Storage System (BESS) หรือระบบกักเก็บพลังงาน รวม 10,485 เมกะวัตต์ ขึ้นกับนโยบายรัฐบาลว่าจะให้ใครผู้ผลิต

เพิ่ม “ก๊าซอ่าวไทย-เมียนมา” ลดนำเข้า

ส่วนด้านแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ.2567-2580 (Gas Plan 2024) กำหนดความต้องการก๊าซธรรมชาติปี 2567-2580 อยู่ที่ 4,700-4,800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยจะจัดหาก๊าซฯ จากแหล่งที่มีศักยภาพในอ่าวไทย และเมียนมาเพิ่มขึ้นทำให้การนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ลดลง 

ทั้งนี้ ไม่ได้นำก๊าซจากพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา (OCA) มาพิจารณาเพราะยังไม่ชัดเจน ส่วนโครงสร้างพื้นฐานก๊าซยังรองรับก๊าซในปัจจุบันได้เพียงพอ แต่อนาคตต้องพิจารณาโครงสร้างพื้นฐานก๊าซเพิ่มทั้งรองรับการนำเข้า LNG ถังเก็บก๊าซและระบบรับส่งก๊าซ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น และใช้ในการบริหารจัดการรองรับความต้องการใช้ก๊าซในการผลิตไฟฟ้า รวมถึงในอุตสาหกรรม และ Regional LNG Hub

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์