ส.อ.ท. ชี้ แผน PDP 2024 ยังไม่ตอบโจทย์พลังงานสะอาด 'ค่าไฟแพง'

ส.อ.ท. ชี้ แผน PDP 2024 ยังไม่ตอบโจทย์พลังงานสะอาด 'ค่าไฟแพง'

"ส.อ.ท." เผยแผน PDP 2024 มีการพัฒนาที่ดีขึ้น แต่อาจยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการด้านพลังงานสีเขียว และราคาค่าไฟฟ้าที่ยังสูงอยู่

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงจุดยืน ส.อ.ท. ต่อ (ร่าง) แผน PDP 2024 ว่า ได้เห็นพัฒนาการของแผนที่ดีขึ้น แต่อาจยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการด้านพลังงานสีเขียว และราคาค่าไฟฟ้าที่ยังสูงอยู่

ทั้งนี้ ส.อ.ท. มีหลักการ 3 ด้าน คือ 1. ความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ที่ควรเน้นเปิดเสรี และมองความคุ้มค่าต้นทุนที่ต้องจ่ายไปกับความมั่นคง โดยนโยบายการเปิดเสรีไฟฟ้า และการเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้กับบุคคลที่สาม (TPA) ควรเร่งส่งเสริมให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม มีการกำหนดแผนการ Implementation และผู้รับผิดชอบให้ชัดเจน เพื่อรองรับความต้องการ Green Energy ของภาคอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ ควรพิจารณาสัดส่วน Demand & Supply ให้เหมาะสม ไม่สร้างปัญหา Supply over Demand มากเกินไป เพราะความจำเป็นในการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ และความคุ้มค่า เปรียบเทียบกับการยืดอายุโรงไฟฟ้าเดิมแทนการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ที่ต้องมีสัญญาผูกพันไปอีก 20-25 ปี และทบทวนการพยากรณ์ความต้องการพลังงานไฟฟ้าของประเทศให้อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงที่เปลี่ยนแปลงไป 

นอกจากนี้ ควรพิจารณานำเทคโนโลยี AI มาช่วยการพยากรณ์ และกรณี LOLE นั้น ควรมีการกำหนดเกณฑ์เป็นช่วงที่เหมาะสม โดยมีการกำหนดเกณฑ์ค่าต่ำ และเกณฑ์ค่าสูง (ปัจจุบันเกณฑ์ค่าสูง คือ 0.7 วัน/ปี) และมีการให้ข้อมูล Reserve Margin ควบคู่ไปด้วย

ในขณะที่สัดส่วนเชื้อเพลิงฟอสซิล และพลังงานหมุนเวียน รวมถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีส่งผลโดยตรงต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้า และต้นทุนของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน ควรมีการพิสูจน์ และติดตามว่าสามารถบรรลุได้ตามเป้าหมายของแผนหรือไม่อย่างใกล้ชิดในแต่ละช่วงเวลา

"ภาครัฐควรส่งเสริมการลงทุนเทคโนโลยีใหม่ให้กับภาคเอกชน เช่น ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (BESS) เพื่อเกิดการกระจายลงในระบบ Distribution ตามพื้นที่ และเกิด Optimization ในระบบไมโครกริด เพื่อลดการผูกขาด"

2. ราคาเหมาะสม และเป็นธรรม มีความโปร่งใส รอบคอบ ปิดความเสี่ยงจากราคาพลังงานฟอสซิลผันผวน โดยในแผนฯ ควรมีการเปรียบเทียบต้นทุนพลังงาน ประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าประเภทต่างๆ ให้เห็นถึงโรงไฟฟ้าที่มีความคุ้มค่ามากที่สุด ซึ่งส่งผลต่อความสามารถต่อการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม โดยแสดงข้อมูลให้ชัดเจน เช่น ต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าประเภทต่างๆ ค่าเชื้อเพลิง ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าตลอดอายุของโรงไฟฟ้าหารด้วยปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ (Levelised Cost of Electricity : LCOE) เป็นต้น

กรณีโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ ควรทบทวนบทเรียนจากอดีต โดย ค่า EP ไม่ผลักภาระให้ผู้บริโภค 100% แบบ Cost plus ควรทบทวนสูตรให้โรงไฟฟ้ารับภาระความเสี่ยงจากการผันผวนของ NG บ้างตามสมควร ในขณะที่ค่า AP ควรลดลงจากสัญญาเดิม 50% โดยเฉพาะหลังการคืนทุน

"ควรพิจารณาการใช้พลังงานหมุนเวียนผสมผสานกับระบบกักเก็บพลังงานที่สามารถประกันราคาได้ตลอดอายุสัญญาเป็นหลัก มากกว่าการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากความผันผวนของราคานำเข้า LNG"

3. มุ่งสู่เป้าพลังงานสะอาดของประเทศ เปิดกว้างรับเทคโนโลยี และความร่วมมือกับทุกภาคส่วนมากขึ้น เนื่องจากการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ของประเทศ มีเป้าหมายการปลดปล่อยคาร์บอนที่ต่ำมาก โดยเน้นลดการปลดปล่อยในภาค Energy Industries และ Transportation แต่ยังขาดแผนที่ชัดเจนในภาคส่วนดังกล่าว เพื่อให้ภาคการผลิตไฟฟ้าสามารถปรับลดการปลดปล่อย CO2 ได้บนความเป็นไปได้เชิงเศรษฐศาสตร์

นอกจากนี้ ควรเร่งการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีอื่น มุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายการถ่ายทอดเทคโนโลยีพลังงานสะอาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ  โดยเฉพาะเรื่อง Carbon Capture, Utilization, and Storage เช่น การประโยชน์จากแหล่ง Lignite ในประเทศ 

"ภาครัฐควรร่วมเอกชนใกล้ชิดในการเปิดเวทีกว้าง เพื่อทางเลือกพลังงานใหม่ที่มีราคาถูกลง ให้บรรลุเป้าหมายและตอบโจทย์ Carbon Neutrality และ Net Zero ของประเทศ  อีกทั้งกรณีที่มีการเติมไฮโดรเจน (H2) เข้าไปผสมกับก๊าซธรรมชาติ ที่ควรมีการพิจารณาถึงเรื่องต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างเหมาะสมด้วย และควรเร่งพัฒนาศูนย์สารสนเทศด้านพลังงาน เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน ทำให้เกิดความโปร่งใส และตรวจสอบได้"

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์