‘กฤษฎีกา’ ตอบกลับ ’สภาพัฒน์’ ยกเลิกกฎหมาย 'ปฎิรูปประเทศ' ไม่ได้

‘กฤษฎีกา’ ตอบกลับ ’สภาพัฒน์’ ยกเลิกกฎหมาย 'ปฎิรูปประเทศ' ไม่ได้

"สภาพัฒน์" ส่งหนังสือหารือ "กฤษฎีกา" ถามประเด็นการยกเลิกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ “แผนปฏิรูปประเทศ” ก่อนกฤษฎีกาเช็กข้อกฎหมายยังมีความจำเป็นตามรัฐธรรมนูญ ยกเลิกไม่ได้ แนะแก้ไขหรือปรับปรุงกฎหมาย เพื่อไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญ

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ถึงแนวทางการการยกเลิกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศ นั่นคือ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2560 หลังจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติได้รับทราบการการดำเนินการตามแผนซึ่งบรรลุผลสัมฤทธิ์แล้ว


สำหรับการขอยกเลิก พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2560 นั้น ที่ผ่านมา สศช. ได้รายงานต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2566 เพื่อรับทราบ ซึ่งคณะกรรมการก็ได้มีมติรับทราบผลการประเมินผลสัมฤทธิ์ฯ แล้ว สศช. จึงได้ทำหนังสือเข้ามาขอหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับการยกเลิกกฎหมายว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ 

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตอบกลับข้อหารือของ สศช. สรุปเป็นประเด็นต่าง ๆ ได้ดังนี้

1. สศช. ได้ประเมินผลสัมฤทธิ์ของพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศฯ แล้วเห็นว่าพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศฯ หมดความจำเป็นเนื่องจากการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศบรรลุผลสัมฤทธิ์ตามที่บัญญัติไว้ ในมาตรา 257 และมาตรา 258 ของรัฐธรรมนูญ เรียบร้อยแล้ว 

ส่งผลให้การมีอยู่ของพ.ร.บ.ดังกล่าวไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยการประเมินผลสัมฤทธิ์ดังกล่าวสามารถใช้เป็นเหตุผลในการยกเลิกพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศฯ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นตามมาตรา 259 ของรัฐธรรมนูญ อันเป็นบทบัญญัติถาวร ได้หรือไม่

2. มาตรา 259 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญ กำหนดให้การปฏิรูปประเทศเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ ในการตีความคำว่า “กฎหมายว่าด้วย...” นั้น ในที่นี้ หมายความว่าต้องเป็นเฉพาะกฎหมายระดับพระราชบัญญัติเท่านั้น หรือหมายความรวมถึงกฎหมายลำดับรองอื่น ๆ ได้หรือไม่

3. การยกเลิกพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศฯ จะส่งผลให้บทบัญญัติมาตรา 259 ของรัฐธรรมนูญ ขาดสภาพบังคับเพราะไม่มีกฎหมายที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการปฏิรูปประเทศ หรือไม่

ทั้งนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้พิจารณาข้อหารือของ สศช. โดยมีผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี (สศช. และสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง) เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริง และปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า 

แม้การประเมินผลสัมฤทธิ์ ของพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2560 จะแสดงให้เห็นว่า การปฏิรูปประเทศบรรลุผลสัมฤทธิ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 257 และมาตรา 258 ของรัฐธรรมนูญ และแผนการปฏิรูปประเทศที่ออกตามพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศฯ สิ้นสุดลงแล้ว 

แต่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องยังมีหน้าที่ต้องดำเนินการต่อเนื่องต่อไปในประเด็นที่ยังคงค้างอยู่ผ่านแผนระดับที่ 2 อื่น ๆ เช่น แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ  นอกจากนี้ หน่วยงานของรัฐมีความเข้าใจเรื่องการปฏิรูปประเทศแล้ว รวมทั้งได้นำประเด็นขับเคลื่อนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศไปกำหนดไว้ตามแผนระดับที่ 3 ซึ่งเป็นแผนปฏิบัติราชการของหน่วยงานของรัฐแต่ละหน่วยงานอีกด้วย การดำเนินการในลำดับถัดไปจึงสามารถกระทำได้ผ่านกลไกของฝ่ายบริหารแล้ว สศช. จึงเห็นว่าไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปประเทศใช้บังคับอีก 

ทั้งนี้ เมื่อยกเลิก พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2560 แล้ว สศช. จะยังคงมีหน้าที่และอำนาจในการติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐผ่านการติดตามการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติต่อไป

จากข้อหารือและข้อเท็จจริงเพิ่มเติมดังกล่าว คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) เห็นว่ามีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า เมื่อ สศช. ได้ประเมินผลสัมฤทธิ์ของพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2560 แล้ว ผลการประเมินผลสัมฤทธิ์ดังกล่าวสามารถใช้เป็นเหตุผลสำหรับการยกเลิกกฎหมายฉบับนี้ ได้หรือไม่ 

โดยเห็นว่า พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศฯเป็นกฎหมายที่มาตรา 259 ของรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ต้องมีขึ้น โดยการปฏิรูปประเทศ ต้องดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 257 ของรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ 

1. ประเทศชาติมีความสงบเรียบร้อย มีความสามัคคีปรองดอง มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และมีความสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านวัตถุกับการพัฒนาด้านจิตใจ

2. สังคมมีความสงบสุข เป็นธรรม และมีโอกาสอันทัดเทียมกันเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำ 

3. ประชาชนมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเป้าหมายที่กำหนดไว้ในมาตรา 257 ของรัฐธรรมนูญนี้จะต้องมีอยู่ตลอดไปตราบเท่าที่รัฐธรรมนูญยังมีผลใช้บังคับ แต่ก็มีความจำเป็นต้องแก้ไขหรือปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ตามความเหมาะสมและรักษาเป้าหมายตามมาตรา 257 ของรัฐธรรมนูญ 

ดังนั้นกรณีจึงมีความจำเป็นต้องมีกฎหมายตามมาตรา 259 ของรัฐธรรมนูญอยู่ต่อไป เพื่อเป็นเครื่องมือในการปฏิรูปประเทศ ตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศของรัฐธรรมนูญ ไม่อาจยกเลิกได้ แต่โดยที่ผ่านมานั้นการปฏิรูปได้ดำเนินการไปบางส่วนแล้ว การที่จะดำเนินการต่อไปก็จำเป็นต้องมีการแก้ไขหรือปรับปรุงกฎหมายเสียใหม่ให้สอดคล้องกันเพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ที่มีอยู่หรืออาจจะมีขึ้น 

รวมทั้งกำหนดแนวทางในการดำเนินการปฏิรูปประเทศให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งอาจกำหนดให้มีหน่วยงานเพื่อรับผิดชอบภารกิจการปฏิรูปประเทศโดยตรงขึ้นด้วยก็ได้หากมีความจำเป็น ซึ่งอาจตั้งเป็นหน่วยงานขึ้นใหม่หรือมอบหมายให้หน่วยงานที่มีอยู่แล้ว เช่น สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) รับผิดชอบภารกิจนี้ เป็นการเฉพาะ