'เผ่าภูมิ' โต้ ธปท.แจง 5 ปี ค่าครองชีพแพง จี้เงินเฟ้อตกขอบเป็นสัญญาณอันตราย

'เผ่าภูมิ' โต้ ธปท.แจง 5 ปี ค่าครองชีพแพง จี้เงินเฟ้อตกขอบเป็นสัญญาณอันตราย

"เผ่าภูมิ" โต้ ธปท.รายงาน 5 ปี ค่าครองชีพแพงขึ้น กดดันให้คงอัตราดอกเบี้ย ระบุเงินเฟ้อไทยตกขอบนานนับปี ส่งสัญญาณอันตราย หากไม่มีมาตรการคลัง คาดเงินเฟ้ออยู่ที่ 0.2-0.3% ชี้งบประมาณล่าช้าสะท้อนเศรษฐกิจขาดแรงกระตุ้น ต้องเหยียบคันเร่งทั้งมาตรการ การเงิน และการคลัง

ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานข้อมูลราคาสินค้าสำคัญที่คนบริโภคเป็นประจำ โดยเปรียบเทียบราคาเฉลี่ยในปี 2562 และปี 2567 พบว่าปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่

  • แก๊สโซฮอล์ 95 (ลิตร) +40%
  • น้ำมันพืช (ขวด) +32.5%
  • ไข่ไก่ (ฟอง) +25%
  • น้ำมันดีเซล (ลิตร) +24.5%
  • ก๊าซหุงต้ม (ถัง 15 กก.) +16.2%
  • ไก่สด (ตัว) +15%
  • หมูสันนอก (กก.) +14.3%

ซึ่งสะท้อนว่าแม้อัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันจะอยู่ในระดับต่ำแต่ราคาสินค้ากลับเพิ่มขึ้นแล้ว โดยปัจจัยดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในข้อพิจารณาของ ธปท.ที่ต้องชั่งน้ำหนักในการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมทั้งภาวะการขยายตัวของเศรษฐกิจ และการรักษาเสถียรภาพการเงิน

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย ทั้งเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) และเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) ดังนั้นจึงอยากให้ดูที่ตัวเลขที่ออกมาอย่างเป็นทางการ ซึ่งสะท้อนทุกอย่างมากกว่าจะมองที่ราคาสินค้าเป็นรายตัว  

"เงินเฟ้อไทยตกขอบมาปีหนึ่งแล้ว ซึ่งไม่มีประเทศไหนในโลกที่ยอมให้เงินเฟ้อตกขอบในระยะเวลานานขนาดนี้ แค่ตกขอบเป้าหมาย 3-4 เดือน ก็ส่งสัญญาณอันตรายเป็น Red Flag แล้ว และต้องรีบทำอะไรสักอย่าง" นายเผ่าภูมิ กล่าว

ทั้งนี้ ความหมายของเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำกว่าขอบเป็นเวลานาน สะท้อนว่าไม่มีการจับจ่ายใช้สอย คนไม่เลือกซื้อสินค้า ราคาสินค้าจึงไม่ปรับเพิ่มขึ้น หมายความว่ามีเม็ดเงินที่ไหลเวียนในระบบเศรษฐกิจอยู่น้อย ซึ่งสภาวะดังกล่าวจะต้องเร่งแก้ไข 

นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า ปัจจุบัน เงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 0.6-0.7% ยังตกขอบเป้าหมาย และสะท้อนว่ายังเป็นปัญหา ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเป็นผลรวมกับที่รัฐบาลเหยียบคันเร่งโดยการใช้มาตรการทางการคลังมาตั้งแต่ช่วงต้นปี หากรัฐบาลไม่ทำอะไร และนิ่งเฉยมาตั้งแต่แรก ก็คาดว่าเงินเฟ้อจะอยู่ที่ระดับ 0.2-0.3% เท่านั้น 

"สภาวะเศรษฐกิจโดยรวมเจอปัญหาหนักจากการที่งบประมาณจากภาครัฐที่ล่าช้าอย่างมาก เศรษฐกิจจึงขาดแรงกระตุ้น และโมเมนตัม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่เรียกร้องให้มาตรการ การเงินขยับตัว รวมทั้งมาตรการ การคลังที่ต้องทำให้มากขึ้น"

สำหรับการปรับลดประมาณการ การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยลงมาที่ 2.4% ของธนาคารโลก มองว่าเป็นการปรับลงมาใกล้เคียงกับประมาณการของหน่วยงานในประเทศ ซึ่งมีความแม่นยำสูง เนื่องจากมองเห็นสภาวะเศรษฐกิจ และข้อจำกัดมากกว่าสถาบันต่างประเทศ ซึ่งคาดการณ์เศรษฐกิจขยายตัว 2.4% เป็นตัวเลขที่เรารับทราบอยู่แล้ว และเป็นสภาวะที่เรายังไม่พึงพอใจ

"เป็นที่มาในการออกมาตรการทางการคลังอย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรการภาษี และสินเชื่อ รวมทั้งที่ยังอยู่ในไปป์ไลน์อีก ส่วนมาตรการทางการเงินที่เราเรียกร้องให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาตลอด ทั้งที่ด้วยวิธีการปฏิบัติตามคู่มือว่าควรจะทำอะไร แต่ก็ยังไม่เกิดขึ้น" 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์