รัฐเขย่างบ 'ดิจิทัลวอลเล็ต' ไม่ใช้ 'ธ.ก.ส.' หันบริหารงบ 68 เพิ่ม 1.3 แสนล้าน

รัฐเขย่างบ 'ดิจิทัลวอลเล็ต' ไม่ใช้ 'ธ.ก.ส.' หันบริหารงบ 68 เพิ่ม 1.3 แสนล้าน

"จุลพันธ์" เผยสำนักงบ-คลัง เสนอแหล่งเงินใหม่ ไม่ใช้เงิน ธ.ก.ส. หันบริหารงบ ปี 2568 เพิ่ม 1.32 แสนล้าน ตั้งงบโครงการเหลือ 4.5 แสนล้าน ตามสถิติผู้ใช้สิทธิโครงการรัฐ 90%

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการกำกับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต วันนี้ (10 ก.ค.67) ว่า ที่ประชุมมีข้อเสนอให้เตรียมวงเงินโครงการที่ 4.5 แสนล้านบาท จากเดิมที่ตั้งไว้ 5 แสนล้านบาท เพื่อไม่เป็นการตั้งงบประมาณเกินความจำเป็น และบริหารงบประมาณตามจำนวนผู้ลงทะเบียนที่คาดว่ามีจะไม่เกิน 90% โดยจะปิดการลงทะเบียนก่อนสิ้นเดือน ก.ย. อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าขนาดของโครงการยังตั้งเป้าหมายสำหรับประชาชนที่มีสิทธิลงทะเบียน 50 ล้านคน  

ทั้งนี้เป็นไปตามข้อเสนอ และข้อห่วงใยจากหน่วยงานตรวจสอบ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ส่งหนังสือมาถึงกระทรวงการคลัง เรื่องการจัดตั้งงบประมาณที่มีความเหมาะสม โดยระบุว่าการตั้งงบประมาณที่มากเกินไปจะเป็นการเสียโอกาสในการใช้งบประมาณของหน่วยงานอื่น

โดยจากการศึกษาของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) พบว่าสถิติของประชาชนที่เข้าร่วมโครงการของรัฐที่ผ่านมา อาทิ โครงการคนละครึ่ง มียอดผู้เข้ามาใช้สิทธิไม่เกิน 90%

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอของสำนักงบประมาณ และกระทรวงการคลัง เสนอแหล่งที่มาของเงินในการดำเนินโครงการ จาก 2 แหล่ง โดยการใช้งบประมาณปี 2567 และปี 2568 แบ่งเป็นงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2567 วงเงิน 122,000 ล้านบาท และงบประมาณจากการบริหารจัดการ 43,000 ล้านบาท

และงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 วงเงิน 285,000 ล้านบาท โดยตั้งงบประมาณ 152,700 ล้านบาท และการบริหารจัดการงบอื่นๆ เช่น งบกลาง และงบประมาณส่วนที่ใช้ไม่ทัน 132,300 ล้านบาท โดยจะไม่ต้องใช้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)  

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมมีมติเพิ่มรายการสินค้าไม่ร่วมรายการ (Negative List) ประเภทสินค้าเกี่ยวกับเครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์สื่อสาร เนื่องจากต้องการลดการใช้จ่ายในกลุ่มสินค้านำเข้า (Import Content) รวมทั้งลดการใช้จ่ายสินค้าราคาสูงเพื่อให้มีการกระจายเม็ดเงิน ไปถึงร้าน และผู้ประกอบการจำนวนมากขึ้น
"สินค้าที่ไม่ร่วมรายการที่เพิ่มขึ้นมานั้นเป็นประเภทของสินค้า ทั้งที่มีการนำเข้า และผลิตในประเทศ เพื่อเป็นกระบวนการในการลดการใช้จ่ายสินค้านำเข้า และสินค้าที่มีราคาสูง เพื่อกระจายเม็ดเงินให้กว้างที่สุด ไปถึงมือผู้ประกอบการ และร้านค้าจำนวนมาก"

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์