ล้มแผนใช้เงิน ธ.ก.ส.- หั่นงบประมาณลง 5 หมื่นล้าน คลังรื้อใหญ่ดิจิทัลวอลเล็ต

ล้มแผนใช้เงิน ธ.ก.ส.- หั่นงบประมาณลง 5 หมื่นล้าน  คลังรื้อใหญ่ดิจิทัลวอลเล็ต

“จุลพันธ์” เผยสำนักงบฯ - คลัง เสนอแหล่งเงินใหม่ ไม่ใช้เงิน ธ.ก.ส. หันบริหารงบฯ ปี 68 เพิ่ม 1.32 แสนล้าน ตั้งงบโครงการเหลือ 4.5 แสนล้าน ตามสถิติผู้ใช้สิทธิโครงการรัฐ 90% เคาะเพิ่มสินค้าต้องห้ามมือถืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า “เผ่าภูมิ” หวังดันเศรษฐกิจปี 2568

รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” ยังคงยืนยันที่จะเดินหน้าโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เพื่อแจกให้กับประชาชนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งรัฐบาลยังไม่สรุปแหล่งที่มาของงบประมาณได้ทั้งหมด

ก่อนหน้านี้รัฐบาลกำหนดแหล่งที่มาของงบประมาณ 500,000 ล้านบาท รวม 3 ส่วน ประกอบด้วย

  1. งบประมาณปี 2567 175,000 ล้านบาท
  2. งบประมาณปี 2568 152,700 ล้านบาท
  3. เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 1 72,300 ล้านบาท สำหรับแจกเกษตรกร 17 ล้านคน

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการกำกับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต วันนี้ (10 ก.ค.67) ว่า ที่ประชุมมีข้อสรุป และข้อเสนอในหลายประเด็นที่จะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในวันที่ 15 ก.ค.67 ประกอบด้วย 

ข้อเสนอให้เตรียมงบประมาณรองรับโครงการที่ 4.5 แสนล้านบาท จากเดิมที่ตั้งไว้ 5 แสนล้านบาท เพื่อไม่เป็นการตั้งงบประมาณเกินความจำเป็น และบริหารงบประมาณตามจำนวนผู้ลงทะเบียนที่คาดว่ามีจะไม่เกิน 90% โดยจะปิดการลงทะเบียนก่อนสิ้นเดือนก.ย. 2567 อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าขนาดของโครงการยังตั้งเป้าหมายสำหรับประชาชนที่มีสิทธิลงทะเบียน 50 ล้านคน

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ตามที่มีข้อเสนอและข้อห่วงใยจากหน่วยงานตรวจสอบและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ส่งหนังสือมาถึงกระทรวงการคลังเรื่องการจัดตั้งงบประมาณที่มีความเหมาะสม 

โดยระบุว่าการตั้งงบประมาณที่มากเกินไปจะเป็นการเสียโอกาสในการใช้งบประมาณของหน่วยงานอื่น ซึ่งจากการศึกษาของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) พบว่าสถิติประชาชนที่เข้าร่วมโครงการรัฐที่ผ่านมา อาทิ โครงการคนละครึ่ง มียอดผู้เข้ามาใช้สิทธิไม่เกิน 90%

เสนอใช้งบปี 67-68 แทนเงิน ธ.ก.ส.

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอของสำนักงบประมาณและกระทรวงการคลัง เสนอแหล่งที่มาของเงินในการดำเนินโครงการเมื่อไม่ต้องตั้งงบประมาณเกินความจำเป็นจึงสามารถบริหารจัดการได้ด้วยงบประมาณปกติโดยการใช้งบประมาณปี 2567 และปี 2568 วงเงินรวม 4.5 แสนล้านบาท 

ทั้งนี้อาจไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ที่เดิมตั้งไว้ 1.72 แสนล้านบาท รวมทั้งหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอื่นๆ

โดยประกอบด้วย งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2567 วงเงิน 122,000 ล้านบาท และงบประมาณจากการบริหารจัดการ 43,000 ล้านบาท และงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 วงเงิน 285,000 ล้านบาท โดยตั้งงบประมาณ 152,700 ล้านบาท และการบริหารจัดการงบอื่นๆ เช่น งบกลาง และงบประมาณส่วนที่หน่วยงานใช้ไม่ทัน 132,300 ล้านบาท

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีความเห็นชอบถึงแนวทางดังกล่าว ด้วยเป็นการใช้งบประมาณในอำนาจการบริหารจัดการของรัฐบาล รวมทั้งจะเป็นแนวทางที่ไม่กระทบกับข้อห่วงใยของสังคม และข้อสังเกตของหน่วยงานตรวจสอบในเรื่องของการใช้เงินของ ธ.ก.ส.แม้ว่าเรามั่นใจว่าประเด็นดังกล่าวไม่ได้เป็นปัญหา โดยจะมีการเสนอแนวทางดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะกรรมการฯ ในวันที่ 15 ก.ค.67 สุดท้ายแล้วจะมีข้อสรุปอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุม

"อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ากลไกของแหล่งเงินจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ก็ยืนยันว่าภายในปีนี้ เงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตจะต้องถึงมือประชาชนอย่างแน่นอน” นายจุลพันธ์ กล่าว

 

ห้ามซื้อสินค้า “มือถือ-เครื่องไฟฟ้า”

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมมีมติเพิ่มรายการสินค้าไม่ร่วมรายการ (Negative List) ประเภทสินค้าเกี่ยวกับเครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์สื่อสาร โดยคำนึงถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการจ้างงานในประเทศ และต้องการลดการใช้จ่ายในกลุ่มสินค้านำเข้า (Import Content) รวมทั้งลดการใช้จ่ายสินค้าราคาสูงเพื่อให้มีการกระจายเม็ดเงิน ไปถึงร้าน และผู้ประกอบการจำนวนมากขึ้น

“สินค้าที่ไม่ร่วมรายการที่เพิ่มขึ้นมานั้นเป็นประเภทของสินค้า ทั้งที่มีการนำเข้า และผลิตในประเทศ เพื่อเป็นกระบวนการในการลดการใช้จ่ายสินค้านำเข้า และสินค้าที่มีราคาสูง เพื่อกระจายเม็ดเงินให้กว้างที่สุด ไปถึงมือผู้ประกอบการ และร้านค้าจำนวนมาก”

ทั้งนี้เงื่อนไขในการใช้จ่ายเงินตามโครงการยังเป็นไปตามเดิม แบ่งเป็นการใช้จ่าย 2 รอบคือ รอบแรกระหว่างประชาชนกับร้านค้า กำหนดขอบเขตการใช้งานในระดับอำเภอ และรอบที่ 2 ระหว่างร้านค้ากับร้านค้าทั่วประเทศ ที่จะทำให้มีเงินดิจิทัลจะหมุนเวียนในระบบเพื่อต่อทุน จนกว่าจะมีร้านค้าในระบบภาษีที่เข้าเงื่อนไขสามารถเบิกเงินสดได้ (Cash Out) 

โดยที่ประชุมมีข้อเสนอจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตง.) ให้กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมสำหรับร้านค้าที่จะเบิกเงินสดจะต้องลงทะเบียนซิมมือถือแบบรายเดือน เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบย้อนกลับ

“คลัง” หวังดันเศรษฐกิจปี 2568

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เงื่อนไขทั้งหมดของโครงการเติมเงินหมื่นผ่านดิจิทัลวอลเล็ตเป็นการออกแบบมาเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบ และเกิดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจมากที่สุด ในกรณีที่มีข้อคำถามว่าจ่ายเป็นเงินสดจะดีกว่าหรือไม่นั้น คำตอบคือ ไม่ หากเป็นการจ่ายเงินสดผู้ที่ได้รับเงินก็จะนำเงินไปเก็บในบัญชี และไม่เกิดการหมุนเวียน

ส่วนที่ว่าทำไมต้องแบ่งเป็นการใช้จ่าย 2 รอบนั้น เพราะต้องการให้การใช้จ่ายรอบแรกมีการหมุนเวียนเงินอยู่ในระดับชุมชน และการเพิ่มรายการห้ามซื้อก็เพื่อต้องการให้เม็ดเงินหมุนอยู่ในประเทศ และกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างการจ้างงาน และการตั้งเงื่อนไขการใช้ภายใน 6 เดือน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายมากที่สุดในช่วงสั้น

“ทั้งนี้ ประเมินว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะส่งผลกระทบเล็กน้อยต่อเศรษฐกิจในปีนี้ในช่วงสั้นๆ และคาดว่าจะเห็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจในปี 2568 ขณะเดียวกันรัฐบาลยังมีนโยบายที่จะเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพิ่มเติมนอกเหนือจากการกระตุ้นการบริโภค โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างเพื่อทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาอยู่ในจัดที่สามารถแข่งขันได้”

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์