‘บีโอไอ’ ชี้ 3 ปัจจัย ‘สงครามราคาEV’ บริหารสต๊อก – ราคาแบตฯ - ค่ายรถแข่งขันสูง

‘บีโอไอ’ ชี้ 3 ปัจจัย ‘สงครามราคาEV’  บริหารสต๊อก – ราคาแบตฯ - ค่ายรถแข่งขันสูง

“บีโอไอ” ชี้ 3 สาเหตุค่าย EV หั่นราคาต่อเนื่อง จากการบริหารสต๊อก ราคาแบตเตอรี่ที่ลดลง และการแข่งขันที่สูงขึ้น ชี้ค่ายรถ EV ที่เข้าร่วมมาตรการ EV 3.0 และ EV 3.5  มีเงื่อนไขต้องผลิตในไทย ช่วงปี 67 – 70 ต่อเนื่อง เชื่อมีแผนและตลาดส่งออกต่างประเทศ

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในฐานะ กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) กล่าวถึงสถานการณ์การการลดราคาอย่างต่อเนื่องของรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในขณะนี้ว่ามีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง

3 สาเหตุค่าย EV หั่นราคา

ทั้งนี้การลดราคาลงมาจาก 3 ส่วนหลักๆแก่ การบริหารสต็อกของค่ายรถ EV ต้นทุนแบตเตอรี่ซึ่งเป็นส่วนประกอบของรถ EV ที่ลดลง และสภาวะการแข่งขันในตลาดที่สูงขึ้นหลังจากมีค่ายรถเข้ามาทำตลาด EV ในประเทศไทยมากขึ้นในปัจจุบัน

ค่ายรถมีแผนส่งออก

เมื่อถามถึงกรณีที่ค่ายรถ EV มีการผลิตรถ EV ในประเทศมากขึ้นในปีนี้จะส่งผลต่อตลาดในประเทศหรือไม่เลขาธิการบีโอไอกล่าวว่า การผลิตรถ EV ของค่ายต่างๆเป็นไปตามเงื่อนไขการสนับสนุนอุตสาหกรรมรถ EV ของไทยที่ได้ออกมาตรการ EV 3.0 และ EV3.5 มาก่อนหน้านี้ซึ่งตามเงื่อนไขค่ายรถ EV ที่มีการนำเข้ารถจากต่างประเทศมาจำหน่ายในประเทศไทยจะต้องมีการผลิตชดเชยการนำเข้า

เงื่อนไขEV 3.0 - 3.5 กำหนดต้องผลิตชดเชย 

ซึ่งมีเงื่อนไขดังนี้

1.มาตรการ EV 3.0  ส่วนที่นำเข้า 2565-2566 ภายใต้ EV3 ต้องผลิตชดเชย 1-1.5 เท่า ภายในปี 2568  

2.รถ EV ที่ร่วมโครงการ EV 3.5 ที่มีการนำรถเข้าในปี 2567 – 2568 ต้องมีการผลิตเพื่อชดเชยการนำเข้า 2 – 3 เท่าภายในปี 2570

ทั้งนี้แผนการผลิตรถ EV ของแต่ะละค่ายรถในไทยนอกจากขายในประเทศ ก็ยังมีแผนที่จะนำรถ EV ที่ผลิตได้ส่งออกไปยังต่างประเทศด้วย

14 ค่ายเตรียมผลิตรถ EV ตามเงื่อนไข 

แหล่งข่าวจากกรมสรรพสามิต ระบุกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่าได้ประมาณการยอดผลิตชดเชย/ผลิตในประเทศตามมาตรการสนับสนุน EV3.0 มีค่ายรถเข้าร่วมทั้งหมด 14 บริษัท แบ่งเป็นการนำเข้าปี 2565-2566 รวม 84,195 คัน , นำเข้าปี 2567 รวม 66,448 คัน และนำเข้าปี 2568 รวม 34,386 คัน รวมมีการนำเข้าทั้งหมด 185,029 คัน

สำหรับ ประมาณการนำเข้าในปี 2565-2568 ใน 5 อันดับแรก ประกอบด้วย 

1.บริษัทเรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด (BYD) 77,274 คัน

2.บริษัท เนต้า ออโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด 40,837 คัน

3.บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์ ซีพี จำกัด 27,186 คัน

4.บริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด 24,225 คัน 5.บริษัท อีวี ไพรมัส จำกัด (แบรนด์วู่หลิง และ Volt) 8,493 คัน

ทั้งนี้ หากพิจารณาเฉพาะการนำเข้าปี 2565-2566 ที่ครบกำหนดค่ายรถต้องเริ่มผลิตชดเชยในปี 2567 ประกอบด้วย 

1.บริษัทเรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด (BYD) 38,637 คัน 

2.บริษัท เนต้า ออโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด 16,337 คัน 

3.บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์ ซีพี จำกัด 16,191 คัน

4.บริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด 9,645 คัน 5.บริษัท อีวี ไพรมัส จำกัด (แบรนด์วู่หลิง และ Volt) 1,597 คัน

ผลิตไม่ครบต้องจ่ายค่าปรับ2เท่า

นอกจากนี้ตามมาตรการ EV 3.0 กรมสรรพสามิต จ่ายเงินอุดหนุนให้ผู้ประกอบการไปแล้ว 40,000 คัน และยังมีผู้ประกอบการที่ไม่ได้รับการชดเชยอีก 35,000 คัน ซึ่งกรมสรรพสามิตเตรียมเสนอของบประมาณ 7,000 ล้านบาท ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็วๆ นี้

สำหรับใน ปี 2567 ที่ค่ายรถ EV จะเริ่มเดินสายการผลิตชดเชยในอัตรา 1 ต่อ 1 และในปี 2568 อัตรา 1 ต่อ 1.5 คาดว่าจะมีการผลิตรถ EV ในประเทศถึง 100,000 คัน ทั้งนี้ บริษัทที่เข้าร่วมโครงการจะต้องวางแผนการผลิตเพื่อชดเชยการนำเข้าในประเทศทั้งหมด ภายในปี 2568 หากทำไม่ได้ตามสัญญาจะมีโทษปรับเรียกคืนเงินอุดหนุนทั้งหมดและต้องจ่ายเบี้ยปรับ 2 เท่าของเงินคืนภาษี