“การเมือง” ฉุดดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงต่อ 4 เดือนต่ำสุดในรอบ 9 เดือน

“การเมือง” ฉุดดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงต่อ 4 เดือนต่ำสุดในรอบ 9 เดือน

ม.หอการค้าไทย เผย ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิ.ย.67 อยู่ที่ 58.9  ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ต่ำสุดในรอบ 9 เดือน เหตุ การเมืองไม่นิ่ง กำลังซื้อหด ค่าครองชีพ หวังเบิกจ่ายงบ เงินดิจิทัล กระตุ้นเศรษฐกิจดันจีดีพีไทย โต 2.8-3%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ  เปิดเผยว่า จากการสำรวจประชาชนจำนวน  2,243 คน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือนมิ.ย. 2567 อยู่ที่ 58.9 ลดลงจาก 60.5 ในเดือน พ.ค.67 โดยปรับตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือนนับตั้งแต่เดือน ต.ค.66 เป็นต้นมา ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม อยู่ที่ 52.6 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางาน อยู่ที่ 56.1 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 67.9 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ในรอบ 10 เดือนทุกรายการ

สาเหตุที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือนมิ.ย. 2567 ยังปรับตัวลดลง มาจาก 3 สาเหตุหลัก คือ  1. ค่าครองชีพที่สูงขึ้น จากสถานการณ์ราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ประปา ในขณะที่รายได้เพิ่มขึ้นไม่ทันกับรายจ่าย

2.กำลังซื้อหดตัว จากผลของรายจ่ายในชีวิตประจำวันที่เพิ่มขึ้น รายได้ไม่พอ และภาวะหนี้ครัวเรือนในระดับสูง

“การเมือง” ฉุดดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงต่อ 4 เดือนต่ำสุดในรอบ 9 เดือน

3.การเมืองไม่นิ่ง โดยมีความกังวลกับการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีสถานภาพของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แม้ว่ายังไม่มีคำวินิจฉัย เพราะจะมีผลต่อการดำเนินโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล หากมีการปรับเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต หรือนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้บริโภคเกิดความไม่มั่นใจ และระมัดระวังการใช้จ่าย

นอกจากนี้การนำกัญชากลับเข้ามาในบัญชียาเสพติด ซึ่งพรรคภูมิใจไทยแสดงจุดยืนจะโหวตโน ถือเป็นจุดเปราะบางของรัฐบาล ที่อาจส่งผลให้เกิดยุบสภาขึ้นได้ ซึ่งผลสำรวจความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในเดือนมิ.ย.ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่  3 และต่ำสุดในรอบ 10 เดือน นับตั้งแต่เดือนก.ย. 2566 โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่เห็นว่าสถานการณ์การเมืองอยู่ในระดับที่แย่ สูงกว่า  50 % เป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน

นอกจาก 3 ปัจจัยสำคัญดังกล่าวแล้วยังมีปัจจัยอื่นๆมาเสริมทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงอีก ไม่ว่าจะเป็น ไทยชะลอตัวลงและฟื้นตัวช้า เพราะยังไม่เห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจน ประกอบกับราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะน้ำมันเบนซิน และผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามในตะวันออกกลางที่ยังคงยืดเยื้อบานปลาย อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวล่าช้าของเศรษฐกิจไทย

“ทิศทางความเชื่อมั่นผู้บริโภคตอนนี้เป็นขาลง และลงไปถึงการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่ชะลอตัว ดูจากการซื้อสินค้าคงทน เช่น บ้าน รถยนต์ การท่องเที่ยว  ซึ่งยังไม่เห็นสัญญาณความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่จะฟื้นตัวในช่วง 1-2 เดือนนี้ เพราะยังซึมตัวต่อเนื่องตลอดไตรมาส 2  “นายธนวรรธน์ กล่าว

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ในเดือนมิ.ย. 2567  ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจ และหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 24-28 มิ.ย..67 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ในเดือนมิ.ย. 2567 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 อยู่ที่ระดับ 54.2  โดยเป็นการปรับตัวลดลงในทุกภูมิภาค แม้ในภาพรวมยังเกินกว่าค่ากลางระดับ 50 แต่ตัวชี้วัด ทั้งเศรษฐกิจโดยรวม การบริโภค การลงทุน ภาคท่องเที่ยว  ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคการค้า  การค้าชายแดน  และภาคบริการ รวมถึงการจ้างงาน เริ่มปรับตัวลดลงทุกด้าน สะท้อนถึงสัญญาณเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

ทั้งนี้ภาคธุรกิจมีความห่วงใยเพิ่มขึ้นต่อทิศทางการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน ซึ่งแม้คณะกรรมการไตรภาคีจะยังไม่สรุปชัดเจนว่าจะให้ปรับขึ้นได้ 400 บาทต่อวันทั่วประเทศหรือไม่ก็ตาม ซึ่งต้องติดตามว่าหากมีการปรับขึ้นจริง รัฐบาลจะมีมาตรการบรรเทาผลกระทบนี้ให้กับภาคธุรกิจอย่างไร เช่น การเพิ่มวงเงินหักลดหย่อนภาษีได้มากขึ้น หรือการช่วยให้ SMEs สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขไขหนี้ครัวเรือน การเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจโดยรวม ซึ่งโดยรวมหลายภาคมองว่าต้องการให้รับบาลเร่งหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทุกด้านด่วน หากไม่มีมาตรการที่ชัดเจนก็เชื่อว่าโอกาสความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในเดือน ก.ค.นี้จะปรับลดลงได้อีก

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า สำหรับเศรษฐกิจไทย  ทางศูนย์ฯคาดว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 2 น่าจะโตใกล้เฉลี่ยอยู่ที่ 1.5 %และไตรมาสที่ 3 ยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวโดดเด่น ซึ่งต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจนจากมาตรการของรัฐทั้งการท่องเที่ยว การเบิกจ่ายงบลงทุน ที่จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวแบบอ่อนๆ โดยจีดีพีในไตรมาส 3 น่าจะขยายตัวได้ 2-2.5 % และจะฟื้นตัวเข้มแข็งขึ้นตั้งแต่เดือนก.ย.ถ้าสถานการณ์การเมืองไม่พลิกผัน

ส่วนเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 มีโอกาสขยายตัวได้ 3-4% ส่งผลให้ช่วงครึ่งหลังปีนี้ เศรษฐกิจขยายตัวได้ราว 3% ซึ่งเมื่อรวมทั้งปีแล้วจะขยายตัวได้ 2.5% แต่หากรวมเม็ดเงินจากดิจิทัลวอลเล็ตแล้ว ก็มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยปีนี้ จะขยายตัวได้ 2.8-3%