WTOชี้"ลัทธิกีดกันการค้า"เริ่มผ่อนคลายห่วงซ้ำเติมเศรษฐกิจโลกฝืด

WTOชี้"ลัทธิกีดกันการค้า"เริ่มผ่อนคลายห่วงซ้ำเติมเศรษฐกิจโลกฝืด

WTO เปิดรายงาน Trade Monitoring Update พบทั่วโลกใช้มาตรการเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า 169 บท สูงกว่ากฎกีดดันทางการค้าทีี่มีอยู่99 บท เชื่อการค้าราบรื่นหนุนกำลังซื้อฟื้น การแข่งขันธุรกิจดีขึ้น ชี้กลุ่ม G20 ใช้ ระเบียบตอบโต้ทุ่มตลาดหรือเอดีสูงสุด

นางเอ็นโกซี โอคอนโจ-อิเวียลา ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก หรือ WTO กล่าวถึง รายงาน Trade Monitoring Update ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 8 ก.ค.2567  ซึ่งระบุถึงการอัปเดตสถานการณ์ทางการค้าของสมาชิกWTO โดยครอบคลุมช่วงระหว่างกลางเดือนต.ค.ตุลาคม 2466  ถึงกลางเดือนพ.ค. 2567  ว่า การอัปเดตการติดตามการค้าครั้งนี้เน้นย้ำถึงความยืดหยุ่นของการค้าโลก ท่ามกลางภาวะความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงแรงกัดดันจากลัทธิปกป้องทางการค้า หรือ  protectionist ที่กำลังเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็ยังมีสัญญาณการแตกตัวทางเศรษฐกิจรวมอยู่ด้วย  แต่จะเห็นว่า รัฐบาลประเทศต่างๆ ก็ยังคงเดินหน้าสู่การค้าเสรีและการอำนวยความสะดวกทางการค้าเพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ให้มีกำลังซื้อที่ฟื้นตัวขึ้น มีความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ และสร้างเสถียรภาพด้านราคาในการทำการค้าได้ด้วย

“อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีการประกาศใช้มาตรการจำกัดการนำเข้าอยู่ ซึ่งได้สร้างผลกระทบต่อการค้าโลกมากที่เดียว  จึงขอสนับสนุนให้สมาชิก WTO ใช้เวทีแห่งนี้ในการหาทางแก้ไขความแตกต่างที่เป็นสาเหตุความขัดเเย้งจนต้องนำมาตรการจำกัดการค้ามาใช้เพราะนั่นจะเป็นผลดีทั้งสองฝ่ายและดีกว่าที่จะมาสู้กันแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน ซึ่งยิ่งทำให้ทุกคนมีแต่แย่ลง” 

กฎอำนวยความสะดวกสูงกว่ากีดกัน

ทั้งนี้ รายงานยังพบว่า สมาชิก WTO ใช้มาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้า จำนวน 169 บท ซึ่งมากกว่ามาตรการจำกัดการค้า ซึ่งมีอยู่ 99 บท โดยส่วนใหญ่เป็นมาตรการที่ใช้ทั้งสำหรับสินค้าฝั่งนำเข้า ขณะที่ระเบียบใหม่ๆที่ใช้เพื่อจำกัดด้านการส่งออกนั้นลดลง ซึ่งต่างจากช่วงเวลาก่อนหน้านี้ คือ ระหว่างปี 2564-2566 ที่พบว่า ข้อจำกัดเพื่อการนำเข้าแซงหน้าข้อจำกัดเพื่อการส่งออก หรือ พูดง่ายๆคือ กีดกันสินค้าไม่ให้เข้ามาในตลาดภายในประเทศ ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาแต่ปัจจุบัน สถานการณ์ได้ต่างออกไปแล้ว 

สำหรับมาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้าที่ใช้กันอยู่ในขณะนี้ ทั้งฝั่งการนำเข้าและการส่งออก มีมูลค่าร่วมกัน ถึง 1,219.0 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 977.2 พันล้านดอลลาร์ ในข้อมูลของรายงานฉบับก่อนหน้า  

ส่วนมาตรการที่ไม่ใช่การอำนวยความสะดวกทางการค้าหรือการเยียวยาทางการค้า ในช่วงเวลาเดียวกันมีมูลค่าประมาณ 433.6 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 337.1 พันล้านดอลลาร์ ในข้อมูลรายงานประจำปีล่าสุด

“แนวโน้มมาตรการเพื่อการเยียวยา หรือ การทบทวน หรือการเริ่มไต่สวนทางการค้าระหว่างกัน มีแนวโน้มโดยเฉลี่ยลดลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมาคิดเป็นสัดส่วนการลดลงไปถึง 90% โดยแนวโน้มนี้พบได้ในกลุ่มประเทศ G20 ซึ่งมีการนำมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด หรือAD มาใช้บ่อยที่สุดคิดเป็นสัดส่วนถึง 70.3% ของการเริ่มต้นการไต่สวนทางการค้าต่างๆ ขณะเดียวกันก็พบว่ามีสัดส่วนถึง 93.9% ของการเริ่มไต่สวนที่ว่านี้ที่สามารถหาข้อยุติได้ทั้งหมด” 

มุ่งปรับกฎภาคบริการให้สะดวกขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากคำนวนมูลค่าทางการค้าที่ต้องถูกไต่สวนหรือมีแนวโน้มนำไปสู่ความขัดแย้งทางการค้าพบว่าในส่วนการเริ่มไต่สวนอยู่ที่ 56.1 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากข้อมูลรายงานฉบับล่าสุดที่ระบุว่ามีมูลค่าอยู่ท่ 24.6 พันล้านดอลลาร์ และส่วนที่หาข้อยุติได้คิดเป็นมูลค่าทางการค้าอยู่ที่ 2.5 พันล้านดอลลาร์ ลดลงจาก 15.5 พันล้านดอลลาร์ เทียบกับข้อมูลจากรายงานฉบับล่าสุดในปีก่อนหน้า

รายงานยังระบุอีกว่า ด้านการค้าภาคบริการนั้น ก็พบว่าสมาชิก WTO มีการเติมเต็มมาตรการเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าใหม่ๆเข้าไปมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเสรี หรือ การมุ่งสู่การปรับปรุงกฎระเบียบด้านการค้าภาคบริการให้มีความสะดวกมากขึ้น โดยพบว่าสมาชิกWTO มีการปรับปรุงกฎระเบียบเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่องให้ง่ายและสะดวกสำหรับสินค้า บริการ และหันไปลดกฎระเบียบต่างๆที่เคยใช้เพื่อตอนโควิด 19 ลงอย่างมีนัยสำคัญ 

ขณะที่การค้าโลกดูเหมือนจะมุ่งไปทางอำนวยความสะดวกให้ค้าขายคล่องตัวขึ้นแต่ก็ยังพบว่า การใช้ระเบียบเพื่อจำกัดการนำเข้าที่ยังคงมีการใช้มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน ยังมีสัดส่วนที่สูงถึง 2,272 พันล้านดอลลาร์  หรือคิดเป็นสัดส่วน 9.7% ของการนำเข้าทั้งหมดทั่วโลกชี้ให้เห็นว่าการค้าโลกโดยรวมยังไม่ได้สะดวกอย่างสิ้นเชิง 

โดยรายงานยังระบุอีกว่า ยังมีกิจกรรมใหม่ที่สำคัญในแง่ของมาตรการสนับสนุนทางเศรษฐกิจ ทั้งการให้เงินอุดหนุนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมให้เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  ผ่านการสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมใช้พลังงานจากแหล่งที่เป็นพลังงานหมุนเวียน การคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือแม้แต่ความมั่นคงของชาติด้วย

มาตรการจำกัดส่งออก“อาหาร-ปุ๋ย”ลดลง

รายงาน WTO Trade Monitoring ได้ติดตามมาตรการทางการค้าที่ใช้กับสินค้าเกษตรเพื่อรับมือกับสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ประทุขึ้นเมื่อ 24 ก.พ. 2565 ที่ผ่านมา จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้รายงานฯต้องติดตามการค้าภายใต้เงื่อนไขสงครามรวมเข้าไว้ด้วยเพราะเหตุการณ์ดังกล่าวนี้นำไปสู่การใช้มาตรการทางการค้าว่าด้วยการจำกัดการส่งออกและนำเข้าสินค้าจำเป็นในกลุ่มการเกษตรได้แก่ อาหาร อาหารสัตว์ และปุ๋ย 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆนี้ การใช้มาตรการทางการค้าดังกล่าวมีส่วนเชื่อมโยงต่อสถานการณ์สงครามในยูเครนซึ่งมีความซับซ้อนมากขึ้น และหลายเหตุผลของการใช้มาตรการก็ไปเกี่ยวข้องกับเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ทั้งทางตรงและทางอ้อม จึงไปกระตุ้นใก้การใช้มาตรการจำกัดทางการค้ามีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจำกัดการส่งออก เพราะความกังวลต่อปัญหาเงินเฟ้อ ความไม่แน่นอนของอุปทานด้านพลังงานและอาหาร

จากมาตรการจำกัดการส่งออกอาหาร อาหารสัตว์ และปุ๋ย ตั้งแต่ปลายเดือนก.พ.2565 สำนักเลขาธิการ WTO ได้ประเมินว่ามีมาตรการที่ว่าด้วยการจำกัดการส่งออกสูงถึง 140 มาตรการที่นำมาใช้โดยสมาชิก WTO  จำนวน 39 ราย และผู้สังเกตการณ์ 8 ราย ซึ่งมาตรการที่ว่านี้มุ่งไปที่สินค้าเกษตร ทั้งนี้ ในช่วงกลางเดือนมิ.ย. 2567 กลับพบว่า มีมาตรการถึง 70 ข้อของมาตรการจำกัดการส่งออก ได้ประกาศยุติการใช้ลง  

“มาตรการจำกัดการส่งออกที่สมาชิก WTO และผู้สังเกตการณ์ทั้งหมดนำมาใช้ คิดเป็นมูลค่า 138.2 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่มาตรการจำกัดการส่งออกที่ถูกยกเลิกไปคิดเป็นมูลค่า 120.5 พันล้านดอลลาร์ ดังนั้น ข้อจำกัดการส่งออกที่ยังคงมีอยู่จึงอยู่จึงมีมูลค่าที่ประมาณ 17.7 พันล้านดอลลาร์เท่านั้น ชี้ว่าอัตราการบังคับใช้ข้อจำกัดการส่งออกใหม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงหลัง แต่ข้อจำกัดต่างๆก็ยังคงดำเนินต่อไป”

       สำหรับเป้าหมายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่มักถูกใช้มาตรการกีดกันมีหลากหลายประเภท เช่น หัวหอม ข้าว น้ำตาล น้ำมันมะกอก เมล็ดพืช และข้าวโพด โดยรูปแบบข้อจำกัดในการส่งออกที่นำมาใช้ก็ยังคงมีความหลากหลายด้วยเช่นกัน ทั้งการห้ามส่งออก การกำหนดโควต้า การกำหนดภาระหน้าที่ที่ต้องปฎิบัติ และการกำหนดการออกใบอนุญาตและข้อจำกัดอื่นๆ

 

WTOชี้\"ลัทธิกีดกันการค้า\"เริ่มผ่อนคลายห่วงซ้ำเติมเศรษฐกิจโลกฝืด