ค่าระวางเรือ พุ่ง เซ่นปมขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์-สหรัฐตั้งกำแพงภาษีสินค้าจีน

ค่าระวางเรือ พุ่ง เซ่นปมขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์-สหรัฐตั้งกำแพงภาษีสินค้าจีน

ปมขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ สหรัฐตั้งแพงภาษีสินค้าจีน ดันค่าระวางเรือกลับมาพุ่งขึ้นอีกครั้งหลังโควิด -19 กระทบขนส่งโลก ส่งออกไทย เผยช่วงมิ.ย. ค่าระวางเรือปรับขึ้นแล้ว 3-4 เท่า สรท.แนะต่อรองกับสายเรือ จองระวางล่วงหน้า คุยลูกค้า ชะลอการส่งสินค้าออกไป

KEY

POINTS

Key Point

  • ปัญหาขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ สหรัฐตั้งแพงภาษีสินค้าจีน  ทำค่าระวางเรือปรับขึ้น 3-4 เท่า
  • อัตราค่าระวางเรือโลก ปรับตัวขึ้น 11 สัปดาห์ติดต่อกัน
  • เส้นทางเฝ้าระวังพิเศษ ได้แก่ ทวีปแอฟริกา ฝั่ง West  โดยเฉพาะแอฟริกาใต้  เส้นทางยุโรป ทั้งMediterranean และยุโรปเหนือ สหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะฝั่ง West Coast

 

ปัญหา"ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์"ยังคงมีอย่างต่อเนื่องทั้งในตะวันออกกลาง ทะเลแดง ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่ออุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางทะเล ทำให้ต้องเดินเรืออ้อมทวีปแอฟริกาเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการโจมตีเรือสินค้ารวมทั้งการขนส่งที่คับคั่งบริเวณท่าเรือ เช่น ท่าเรือสิงคโปร์  จีน ทำให้อัตราค่าระวางเรือที่กลับมาพุ่งสูงขึ้นอีกครั้งในทุกเส้นทางกว่า 3-4 เท่าตัว กระทบต้นทุนการส่งออก

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยซ้ำเติมเพิ่มจากความต้องการสินค้าจากจีนที่มากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่สหรัฐประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน เช่น รถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ เหล็ก เพิ่มขึ้น จึงทำให้ผู้ส่งอกสินค้าจากจีนเร่งการส่งออกสินค้ามากขึ้น รวมถึงการเติมสต๊อกสินค้าของผู้ค้าปลีกในอเมริกา โดย ช่วงต้นเดือนเม.ย.-19 มิ.ย.67   Shanghai Containerized Freight Index (SCFI )ได้มีการปรับตัวขึ้นถึง 95 % เป็น ,379 ดอลลาร์ต่อTEU

ทั้งนี้ข้อมูลจาก บล.กรุงศรี เผยว่า แนวโน้มอัตราค่าระวางเรือโลก ปรับตัวขึ้น 11 สัปดาห์ติดต่อกัน สัปดาห์ล่าสุดเพิ่มขึ้น 10 % มาอยู่ที่ 5,868 ดอลลาร์ต่อตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุต ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของปีและปรับขึ้นเกือบทุกเส้นทาง

ค่าระวางเรือ พุ่ง เซ่นปมขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์-สหรัฐตั้งกำแพงภาษีสินค้าจีน

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) แสดงความกังวลว่า การปรับขึ้นค่าระวางที่สูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในช่วงต่อจากนี้ไป “ชัยชาญ เจริญสุข “ ประธาน สรท. กล่าวว่า  ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์หรือจีโอโพลิติกส์ทำให้ต้นทุนสูง ทั้งราคาน้ำมัน ค่าระวางเรือที่ปรับสูงขึ้น รวมไปถึงการจองเรือ ต้องจองล่วงหน้าเป็นเดือน ปัจจุบัน ต้นทุนค่าระวางเรือ ค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม (Surcharge)  ซึ่งปรับเพิ่มขึ้น 3-4 เท่าแต่ยังไม่สูงสุดเท่ากับช่วงโควิดและค่าใช้จ่ายภายในประเทศ (Local Charge) ปรับตัวสูงขึ้นทุกเส้นทาง ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์จากการเร่งผลิตและส่งออกของจีน ส่งผลให้ค่าระวางเรือเพิ่มสูงขึ้นกว่า 300  %  จากปัญหาดังกล่าวส่งผลให้การส่งมอบสินค้ามีความล่าช้า

นายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหารสรท. กล่าวว่า   สถานการณ์ค่าระวางเรือจากเอเชียไปยังตลาดสำคัญในเดือนมิ.ย.มีการปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนพ.ค.โดยเป็นการปรับขึ้น 3-4 เท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดปัญหาทะเลแดง เป็นการปรับเพิ่มขึ้นในทุกเส้นทาง การเร่งการส่งออกของจีน เทรดวอร์รอบ 2 ซึ่งในระยะต่อไปก็จะมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องหากสถานการณ์ยังดำเนินต่อไป

โดยเส้นทางเฝ้าระวังพิเศษที่ค่าระวางเพิ่มขึ้นสูงมากคือ  ทวีปแอฟริกา ฝั่ง West  โดยเฉพาะแอฟริกาใต้  เส้นทางยุโรป ทั้งMediterranean และยุโรปเหนือ สหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะฝั่ง West Coast ปัจจุบันค่าระวางเรือเส้นทางส่งสินค้าไปยุโรป สูงขึ้นไปถึง 4,000 ดอลลาร์ต่อตู้ 20 ฟุต( USD/TEU ) ส่วนเส้นทางส่งสินค้าไปยังสหรัฐ ค่าระวางฝั่ง West Coast อยู่ 6,000 ดอลลาร์ต่อตู้ 20ฟุต  ขณะที่ค่าระวางฝั่ง East  อยู่ที่  7,500 ดอลลาร์ต่อตู้ 20 ฟุต

สำหรับสถานการณ์ค่าระวางในช่วงเดือนมิ.ย.2567 (ข้อมูลจากสรท. อัตราค่าระวางในสัปดาห์ที่ 25/2567 วันที่ 16 มิ.ย. – 22 มิ.ย. 2567 ) ค่าระวางในเส้นทางเอเชียเพิ่มขึ้นในหลายเส้นทาง โดยเส้นทาง Shanghai ค่าระวางเพิ่มขึ้น อยู่ที่ 100 USD/TEU และ 150 USD/FEU

เส้นทาง Klang ค่าระวางเพิ่มขึ้น อยู่ที่ 150 USD/TEUและ 250 USD/FEU

เส้นทาง Hong Kong ค่าระวางเพิ่มขึ้น อยู่ที่ 100 USD/TEU และ 200 USD/FEU

เส้นทาง Japan ค่าระวางปรับเพิ่มขึ้น อยู่ที่ 400 USD/TEU และ 550 USD/FEU

เส้นทาง Durban ค่าระวางเพิ่มขึ้น โดยอยู่ที่ 3,900 USD/TEU และ 6,000 USD/FEU

เส้นทางเกาหลี ค่าระวางคงที่ โดยอยู่ที่ 300-350 USD/TEU และ 600-700 USD/FEU

เส้นทางออสเตรเลีย ค่าระวางคงที่ โดยอยู่ที่ 600-700 USD/TEU และ 1,200-1,400 USD/FEU เส้นทาง Europe ค่าระวางในครึ่งเดือนหลังของเดือนมิ.ย. ค่าระวางเพิ่มขึ้น โดยอยู่ที่ 4,000 USD/TEU และ 7,150 USD/FEU

เส้นทางสหรัฐอเมริกา ค่าระวางในครึ่งเดือนหลังของเดือนมิ.ย.ค่าระวางฝั่ง West Coast เพิ่มขึ้นโดยอยู่ที่
6,200 USD/TEU และ 7,700 USD/FEU ในขณะที่ค่าระวางฝั่ง East Coast เพิ่มขึ้น โดยอยู่ที่ 7,670 USD/TEU และ 8,500USD/FEU

ทั้งนี้ สรท.มีข้อแนะนำเบื้องต้นกับผู้ส่งออกดังนี้
1. เจรจาต่อรองกับสายเรือ ในการจองระวางล่วงหน้า เนื่องจากยังไม่มีปัจจัยที่บ่งชี้แนวโน้มการลดลงของค่าระวาง ณ
ปัจจุบัน
2. การเจรจากับลูกค้า หรือคู่ขายปลายทางในการแก้ไข Term การซื้อขาย
3. ชะลอการส่งมอบสินค้า หรือแก้ไขสัญญาในการซื้อขาย

อัตราค่าระวางเรือที่ปรับสูงขึ้น หากสถานการณ์ความขัดแย้งและปัญหาในทะเลแดงยังไม่คลี่คลาย ส่งผลกระทบต่อการขนส่งโลกทางทะเล อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ซึ่งคงต้องจับตากันต่อไปว่า สถานการณ์แบบนี้จะจบลงเมื่อไรแต่ที่แน่ๆ อัตราค่าระวางเรือยังคงแนวโน้มขึ้นอย่างต่อเนื่อง