ดึงโมเดลบริการ ‘สายการบิน’ เล็งเสิร์ฟแอลกอฮอล์ ‘รถไฟท่องเที่ยว’
“คมนาคม” เดินหน้าหนุนท่องเที่ยวไทย ผุดไอเดียแก้ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ปลดล็อคซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในขบวนรถที่อยู่บนทางรถไฟ นำร่องเสิร์ฟขบวนพิเศษ รถโดยสารเพื่อการท่องเที่ยว พร้อมดึงโมเดล “สายการบิน” รวบรวมอาหารชื่อดังในไทยจำหน่าย
ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางรถไฟ พ.ศ. 2558 ลงวันที่ 5 ก.พ.2558 ข้อ 1 ห้ามผู้ใดขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบริเวณสถานีรถไฟ หรือในขบวนรถที่อยู่บนทางรถไฟตามกฎหมายว่าด้วยจัดวางการรถไฟและทางหลวง ขณะนี้กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างยื่นขอแก้ไขคำสั่งดังกล่าว ด้วยเหตุผลต้องการสนับสนุน “การท่องเที่ยว”
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงเรื่องนี้ว่า ปัจจุบันกระทรวงฯ กำลังผลักดันให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เป็นอีกหนึ่งกลไกสนับสนุนรายได้ด้านการท่องเที่ยว โดยอยู่ระหว่างยื่นแก้ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้สามารถจำหน่ายบนรถโดยสารสาธารณะได้ โดยจะนำร่องในส่วนของขบวนรถไฟเพื่อการท่องเที่ยว
“ตอนนี้เรากำลังสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการเปิดประสบการณ์ท่องเที่ยวใหม่ๆ ให้กับนักท่องเที่ยว ผ่านการเดินทางด้วยรถไฟ กระทรวงฯ จึงมองว่าควรปรับแก้คำสั่งเรื่องการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนขบวนรถไฟ เพื่อทำให้ขบวนรถไฟเพื่อการท่องเที่ยวตอบโจทย์นักท่องเที่ยวมากขึ้น”
นอกจากนี้ ตนยังมองว่าการท่องเที่ยวโดยรถไฟ ควรมีการจัดจำหน่ายอาหารขึ้นชื่อของแต่ละพื้นที่ในไทย ซึ่งเป็นเส้นทางที่รถไฟวิ่งให้บริการอยู่แล้ว นับเป็นการเปิดประสบการณ์การเดินทางแก่นักท่องเที่ยว ให้เข้าถึงวิถีชีวิตของแต่ละพื้นที่ที่เดินทางไปท่องเที่ยว อาทิ ไก่ย่างบางตาล ห่อหมกวังก์พง ที่เป็นอาหารขึ้นชื่อในท้องถิ่น อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนอีกหนึ่ง Soft Power ของประเทศไทยด้วย
โดยปัจจุบันได้มอบหมายให้ ร.ฟ.ท.นำโมเดลการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มในลักษณะนี้มาปรับใช้ ซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจที่หลายสายการบินดำเนินการอยู่ คัดสรรเมนูอาหารขึ้นชื่อ รวมไปถึงเมนูสตรีทฟู้ดที่ได้รับความนิยมจนได้รับรางวัลการันตีจากมิชลิน เพื่อให้ผู้โดยสารได้เลือกล่วงหน้า รวมทั้งสามารถสั่งอาหารเหล่านี้บนขบวนรถไฟตลอดการเดินทางได้ ถือเป็นการยกระดับการให้บริการแก่นักท่องเที่ยว และยกระดับภาพลักษณ์ของ ร.ฟ.ท. สอดรับนโยบายของรัฐบาลในการกระตุ้นการท่องเที่ยว
สำหรับปัจจุบัน ร.ฟ.ท.จัดให้บริการขบวนรถไฟท่องเที่ยวเฉพาะช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ สัปดาห์ละ 2 วัน ด้วยขบวนรถไฟ KIHA 183 มีทั้งเช้าไปเย็นกลับ (วันเดย์ทริป) และพักค้างคืน รวมประมาณ 70 ทริปต่อปี โดยภายในปี 2567 ร.ฟ.ท. มีแผนขยายการให้บริการเพิ่มขึ้นในวันธรรมดา รวมเป็นสัปดาห์ละ 4 วัน และเพิ่มขบวนรถพิเศษท่องเที่ยว SRT ROYAL BLOSSOM เข้ามาให้บริการ ซึ่งจะส่งผลให้มีขบวนรถพิเศษท่องเที่ยวให้บริการรวมประมาณ 400 ทริปต่อปี และอนาคตจะผลักดันให้เป็น 700 ทริปต่อปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การผลักดันให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนขบวนรถไฟ ล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ เมื่อวันที่ 4 ก.ค.2567 ร.ฟ.ท.ได้ยื่นขอพิจารณาแนวทางการขอยกเว้นสถานที่ หรือบริเวณห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในบริเวณสถานีรถไฟ หรือในขบวนรถที่อยู่บนทางรถไฟ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ และอยู่ระหว่างพิจารณามาตรการควบคุมป้องกันด้านสาธารณสุขและการท่องเที่ยว เพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างการกระตุ้นเศรษฐกิจและผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชน
ขณะที่ในมุมมองของประชาชนบางส่วน เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่ผ่านมา นายเจษฎา แย้มสบาย ประธานเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับกรุงเทพฯ นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน พร้อมด้วย เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต และเครือข่ายชุมชนลดปัจจัยเสี่ยงกว่า 50 คน เดินทางมายื่นหนังสือถึง นายจเร รุ่งฐานีย รักษาการผู้ว่า ร.ฟ.ท. เพื่อคัดค้านการยกเลิกห้ามขายห้ามดื่มเหล้าเบียร์บนรถไฟและสถานี
รวมทั้งทางเครือข่ายฯ ยังแสดงจุดยืนและมีข้อเสนอต่อการรถไฟ 4 ประเด็น ดังนี้
1.ขอคัดค้านการยกเลิก ข้อยกเว้นการห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบริเวณสถานีรถไฟ หรือในขบวนรถไฟที่อยู่บนทางรถไฟ ซี่งอาจเกิดปัญหาและผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามมามากมาย ทั้งความรุนแรง ทะเลาะวิวาท คุกคามทางเพศ ลวนลาม ข่มขืน เป็นต้น
2.ขอสอบถามความคืบหน้าไปยังการรถไฟแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการช่วยเหลือเยียวยากรณีของเด็กอายุ 13 ปี ที่ถูกกระทำเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ว่ามีการช่วยเหลือติดตาม เยียวยา ตามที่เคยตกลงไว้หรือไม่ ซึ่งรวมไปถึงการฟื้นฟูสภาพจิตใจของครอบครัวผู้เสียหายได้ดำเนินการอะไรไปบ้าง
3.ขอเรียกร้องให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเร่งพัฒนาคุณภาพการบริการ ความปลอดภัยในการใช้รถไฟ ความตรงต่อเวลาของสถานีรถไฟ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในการใช้บริการรถไฟมากยิ่งขึ้น มากกว่าการมุ่งจะขายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งจะสร้างผลกระทบตามมาอีกมากมาย
4.ขอเรียกร้องให้เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนก่อนการตัดสินใจต่อมาตรการนี้ เพื่อให้เกิดความรอบคอบมากที่สุด