สมาคมประมงฯ ยกมือ ใช้เครื่องมือประสิทธิภาพสูง ลอกคลอง ล้างบาง ปลาหมอคางดำ
สมาคมประมงแห่งประเทศไทย เสนอทางแก้ วิกฤติปลาหมอคางดำ ผ่อนผันกฎหมายใช้เครื่องมือประสิทธิภาพสูง ลากล้างคูคลองก่อนปล่อยปลานักล่า ล้างบางลูกปลาหมอคางดำ
นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา แม้รัฐบาลจะมีความเข้มงวดของการใช้มาตรการการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม หรือ ( IUU) แต่ก็ไม่มีผลให้ทรัพยากรสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ส่วนหนึ่งเพราะเพราะการแก้ไขปัญหาIUUที่ผ่านมายังไม่ถูกต้องโดยเฉพาะการสั่งให้เรือประมงจอดทันทีและเอาเรือออกนอกระบบ โดยเรือที่จอดเจ๊งไปแล้วไม่น้อยกว่า40-50% แต่ทรัพยากรสัตว์น้ำก็ยังไม่เพิ่มขึ้น
ชาวประมงจึงเกิดความสงสัยว่าแนวทางที่รัฐบาลดำเนินการในช่วง ที่ผ่านมานั้นถูกต้องแล้วหรือไม่ เหมือนกำลังหาฆาตรกรผิดตัว เพราะการกล่าวหาประมงพาณิชย์เป็นวายร้ายแต่แท้ที่จริงแล้วยังมีปัจจัยอื่นๆที่กรมประมงไม่หยิบยกเอามาประกอบการวิจัย เช่นเรื่องน้ำเสีย โลกร้อน จนถึงปัจจุบันคือปลาหมอคางดำที่เป็นภัยเงียบ ได้ทำลายสัตว์น้ำวัยอ่อนตามแนวชายฝั่งไปจนหมดและเข้าไปยังแหล่งน้ำต่างๆไปกินกุ้ง หอย ปู ปลา ขนาดเล็กไปจนหมด
ซึ่งเป็นต้นตอที่แท้จริงของปัญหาที่สัตว์น้ำไม่ฟื้น เพราะปลาหมอคางดำได้ใช้เวลา14ปีที่กระจายลงไปตามจังหวัดต่างๆโดยว่ายน้ำเลาะชายฝั่งทะเลลงไปอย่างรวดเร็ว มันสามารถอยู่ได้ทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม และน้ำเสีย ต้นตอปลาหมอคางดำน่าจะเกิดที่จังหวัดสมุทรสงครามเมื่อ14ปีที่ผ่านมา จากการติดตามข่าว ว่าได้มีบริษัทเอกชนได้มีการขออนุญาตนำเข้ามาทดลองเพาะเลี้ยงแต่ไม่ประสบความสำเร็จพื้นที่ ตำบลคลองโคน
จึงได้มีการสั่งทำลายทิ้งแต่ไม่แน่ใจว่ากระบวนการทำลายทิ้งเกิดความบกพร่องของพนักงานบริษัทหรือเจ้าหน้าที่ที่ควบคุมหรือไม่ กรมประมงน่าจะต้องมีการตรวจสอบให้กระจ่างเพราะถ้าไม่เช่นนั้นสังคมก็จะมองบริษัทเอกชนและกรมประมงในมุมมองที่ไม่ดี เพราะในสมัยก่อนปลาประเภทนี้ ไม่มีใครรู้จัก และไม่มีใครจะมีความสามารถที่จะลักลอบนำเข้าเอามาเพาะเลี้ยงได้ เนื่องจากยังไม่เห็นประโยชน์ที่จะได้รับ ดังนั้นการเล็ดรอดลงแหล่งน้ำในไทยจึงไม่น่าจะใช่ว่ามีการลักลอบอย่างที่ได้มีการชี้แจงพูดถึงกัน น่าจะเกิดจากความบกพร่องจากกระบวนการทำลายมากกว่า เรื่องนี้ต้องช่วยกันหาสาเหตุจะได้ช่วยกันแก้ไขปัญหา
ทั้งนี้สมาคมประมงเห็นว่าวิธีแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำอย่างเป็นระบบ ควรดำเนินการดังต่อไปนี้
1.ให้นักล่าที่มีอาชีพประมงจัดการล่า ด้วยเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูง โดยการผ่อนผันกฎหมายให้สามารถใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพทำการประมงได้ ในแม่น้ำ ลำคลอง ชายฝั่ง
2.วางแผนการจัดการอย่างเป็นระบบ เช่นกำหนดให้แต่ละจังหวัดเช็คแม่น้ำลำคลองที่มีในจังหวัด
แล้วดำเนินการไล่จับโดยใช้เรือประมงและเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูง ทีละคลองจนเหลือน้อยใช้การเก็บกวาดด้วยเครื่องมืออื่นๆอีก2-3รอบ หลังจากนั้น
3.ปล่อยปลานักล่าประเภทอื่นๆจำนวนมากพอลงตาม แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง ต่างๆเพื่อป้องกัน และกินลูกปลาหมอคางดำที่อาจหลงเหลืออยู่บ้าง เพื่อไม่ให้มีปลาหมอคางดำมีโอกาสขยายพันธุ์ได้อีกครับ
"การแก้ปัญหาปลาหมอคางดำขณะนี้ ปล่อยให้ต่างคนต่างทำในแต่ละจังหวัด โดยไม่มีการกำหนดแผนที่ชัดเจน สุดท้าย ปลาหมอคางดำก็จะกลับมาใหม่ รัฐ จะต้องสนับสนุนน้ำมันให้เรือประมงไปดำเนินการ ถ้าไม่เช่นนั้นชาวประมงก็จะไปไล่จับที่มีปลาหมอคางดำเยอะๆ
ไม่ไปไล่จับต่อที่มีจำนวนน้อยๆ สุดท้ายมันก็ขยายพันธุ์ได้อีก การที่จะปล่อยปลานักล่าได้ จะต้องไล่กวาดจับปลาหมอคางดำ พ่อ แม่พันธุ์ให้หมดหรือน้อยที่สุด ก่อนที่จะปล่อยปลานักล่า ไม่เช่นนั้นก็จะสูญเงินเปล่า"