เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้ม 'ภูมิใจไทย' ถึง 'เพื่อไทย' ข้อกล่าวหาฮั้วประมูล

เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้ม 'ภูมิใจไทย' ถึง 'เพื่อไทย' ข้อกล่าวหาฮั้วประมูล

เปิดเส้นทาง 4 ปี “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” จากจุดเริ่มต้นประกวดราคา สู่ข้อกล่าวหาฮั้วประมูล “สุริยะ” ปิดจ๊อบเตรียมลงนาม BEM 18 ก.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) นับเป็นอีกหนึ่งมหากาพย์โครงการร่วมลงทุน ใช้ระยะเวลา 4 ปีกว่าจะสิ้นสุดกระบวนการคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติผลการประกวดราคา นับตั้งแต่วันที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) เมื่อวันที่ 3 ก.ค.2563 ก่อนปรับหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนกลางคัน พร้อมประกาศล้มประมูล เป็นเหตุให้เอกชนยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อตรวจสอบ และเป็นข้อพิพาทในหลายคดี

ขณะที่ผลการประกวดราคาและร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ก่อนหน้านี้ในสมัย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบายจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ต่อเมื่อโครงการดังกล่าวได้รับการตัดสินจากศาลปกครองแล้วเสร็จ ต่อมาเมื่อวันที่ 14 มี.ค.2566 นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะปฏิบัติหน้าที่แทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยื่นเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุม ครม.บรรจุวาระพิจารณาจรที่ 21

โดยวาระดังกล่าวมีการหารือในที่ประชุม ครม.นานเกือบหนึ่งชั่วโมง โดยมีรัฐมนตรีจากกระทรวงต่างๆ ร่วมแสดงความเห็นกันแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ฝ่ายที่เห็นด้วย และฝ่ายที่คัดค้าน ส่งผลให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เสนอทางออกต่อ ครม. โดยแนะนำว่า ครม.สามารถอนุมัติโครงการนี้แบบมีเงื่อนไขไปก่อนได้แต่ยังไม่ต้องไปลงนามในสัญญากับเอกชน เพราะขอให้รอคำสั่งศาลในคดีที่เหลือออกมาก่อน ถ้าศาลสั่งว่าผิดก็ไม่ต้องลงนามสัญญา แต่ท้ายที่สุดก็มีการคัดค้านจากรัฐมนตรีหลายคน ส่งผลให้ถอนวาระพิจารณาดังกล่าว

ท้ายที่สุดวันนี้ (16 ก.ค.) ที่ประชุม ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคม โดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เสนอผลการคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาร่วมลงทุนที่ผ่านการตรวจพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุด และเงื่อนไขสำคัญของสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งกลุ่ม BEM เป็นผู้เสนอผลประโยชน์สุทธิ (มูลค่าปัจจุบัน: NPV) เท่ากับ -78,287.95 ล้านบาท ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ดีที่สุด พร้อมทั้งกำหนดลงนามสัญญาในวันที่ 18 ก.ค.นี้

อย่างไรก็ดี หากย้อนเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายนี้ นับตั้งแต่ออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน ตลอดระยะเวลา 4 ปี พบว่ามีดังนี้

3 ก.ค. 2563 รฟม.ออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนระหว่างรับและเอกชน (พีพีพี)

10 – 24 ก.ค. 2563 ได้ขายซองเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) โดยมีผู้สนใจซื้อซองเอกสาร RFP รวม 10 ราย

27 ส.ค. 2563 นำส่งเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติม (RFP Addendum) ให้เอกชนผู้ซื้อซองเอกสาร RFP ทุกราย แจ้งปรับปรุงวิธีการประเมินข้อเสนอ จากเกณฑ์พิจารณาด้านราคา 100 คะแนน เป็นประเมินให้คะแนนด้านเทคนิค 30 คะแนน และราคา 70 คะแนน

17 ก.ย. 2563 เอกชนผู้ซื้อซองเอกสาร RFP รายหนึ่ง ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอทุเลาการบังคับใช้หลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ชนะฉบับใหม่

19 ต.ค. 2563 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามเกณฑ์การประเมินใหม่ไว้เป็นการชั่วคราว

2 พ.ย. 2563 รฟม. และคณะกรรมการมาตรา 36 ยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลมีคำพิพากษากลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น ขอให้ศาลมีคำสั่งระงับคำสั่งทุเลาการบังคับของศาลปกครองชั้นต้น

9 พ.ย. 2563 รฟม.เปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอ มีเอกชนยื่นซอง 2 ราย

3 ก.พ. 2564 คณะกรรมการ ม.36 ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม

11 ก.พ.2564 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งถอนอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองชั่วคราว และให้จำหน่ายคดีออกจากสาระบบความ

22 ก.พ. 2564 เอกชนยื่นฟ้อง รฟม. และคณะกรรมการ ม.36 ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในฐานกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (16) กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และมาตรา 165

5 พ.ค. 2564 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางรับคำฟ้อง

18 ส.ค.2564 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น ให้จำหน่ายคดีในข้อหาที่ฟ้องขอให้เพิกถอนหลักเกณฑ์การร่วมลงทุน

1 ก.ย.2564 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นที่มีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง กรณีห้ามมิให้คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 และ รฟม. กระทำการหรือดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือกเอกชนในโครงการพิพาทครั้งใหม่

24 พ.ค. 2565 รฟม.ประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มครั้งที่ 2

27 พ.ค. – 10 มิ.ย.2565 รฟม.ขายซองเอกสารยื่นข้อเสนอโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม

1 ก.ค.2565 ศาลปกครองกลาง นัดพิจารณาคดีเพิกถอนมติของคณะกรรมการ ม.36 และประกาศของ รฟม.เกี่ยวกับการยกเลิกประกวดราคาในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม

7 ก.ค.2565 ศาลปกครองกลาง อ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ 850/2564 หมายเลขแดงที่ 1455/2565 โดยพิพากษาเพิกถอนมติของคณะกรรมการ ม.36 และประกาศของ รฟม.เกี่ยวกับการยกเลิกประกวดราคาในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยชี้ว่าเป็นมติและประกาศที่ออกโดยใช้ดุลพินิจไม่ชอบด้วยกฎหมาย

27 ก.ค.2565 รฟม.เปิดรับข้อเสนอเอกชนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม

2 ส.ค. 2565 รฟม.เริ่มเปิดซองข้อเสนอเอกชนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม

8 ส.ค. 2565 ศาลปกครองกลางยกคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามที่เอกชนร้องขอ ซึ่งที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองกลางได้พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า การดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับวันที่ 24 พ.ค. 2565 เป็นการดำเนินการที่เป็นไปตามขั้นตอนตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน

15 ก.ย.2565 ศาลปกครองสูงสุดนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก เกี่ยวกับมติแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะการประเมินของเอกสารคัดเลือกเอกชน

16 ก.ย.2565 รฟม.ประกาศผลพิจารณาข้อเสนอเอกชน โดย บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) เป็นผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการประเมินสูงสุด

27 ก.ย.2565 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษา เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม เรื่องความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ โดยศาลชั้นต้นได้พิจารณายกฟ้องคดีดังกล่าว

11 ก.ค.2566 ศาลปกครองกลางได้นัดพิจารณาคดีครั้งแรก กรณีที่เอกชนยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม กรณีออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 24 พ.ค. 2565 (ครั้งที่ 2) โดยเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติและหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนให้แตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิม ตุลาการผู้แถลงคดีมีความเห็นว่า ประกาศเชิญชวน มีความชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นการละเมิดผู้ฟ้องคดี จึงไม่ต้องมีการให้สินไหมทดแทน พร้อมมีความเห็นว่าศาลควรพิจารณายกฟ้อง

25 ก.ค.2566 ศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้อง ในข้อพิพาทเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปงคุณสมบัติและหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนในการประมูลครั้งที่ 2 โดยพิจารณายกฟ้อง เนื่องจากการประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าวไม่มีลักษณะประการใด ที่จะทำให้เป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

12 มิ.ย.2567 ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกฟ้อง กรณีร่วมกันออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐ และเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลว. 24 พ.ค.2565 และออกเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน โดยเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติ และหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนให้แตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิมตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือน ก.ค.2563

16 ก.ค.2567 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาร่วมลงทุน BEM

18 ก.ค.2567 รฟม.เตรียมลงนามร่วมลงทุน BEM