จบวิบากกรรม 4 ปี ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ครม.ฝ่ามรสุมอนุมัติ 'ร่างสัญญา'

จบวิบากกรรม 4 ปี ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ครม.ฝ่ามรสุมอนุมัติ 'ร่างสัญญา'

ครม.อนุมัติสัญญารถไฟฟ้าสายสีส้ม จบประมูลลากยาว 4 ปี ท่ามกลางการฟ้องร้อง 9 คดี เจอข้อกล่าวหาฮั้วประมูล แก้เกณฑ์ประมูล “สุริยะ” นัดลงนามสัญญา BEM 18 ก.ค.นี้ คว้างานโยธาฝั่งตะวันตก พร้อมเดินรถทั้งเส้น เร่งเปิดบริการช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี ม.ค.71 เจรจาร่วมนโยบาย 20 บาท

การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม บางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2563 หลังจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แก้ไขหลักเกณฑ์การตัดสินผู้ชนะประมูลหลังจากที่ขายซองเอกสารไปแล้ว และนำมาสู่การฟ้องศาลปกครอง

ทั้งนี้ นำมาสู่การยกเลิกการประมูลครั้งที่ 1 รวมแล้วมีการฟ้องการประมูลครั้งที่ 1 ต่อศาลปกครองและศาลอาญาคดีทุจริตรวม 5 คดี

รวมทั้งนำมาสู่การเปิดประมูลครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 27 ก.ค.2565 ซึ่งมีการยื่นฟ้องศาลปกครองรวม 4 คดี โดยคดีล่าสุดศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.2567 ยกฟ้องคดีที่บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ฟ้องให้เพิกถอนเอกสารประกาศเชิญชวนการประมูล

สำหรับการประมูล ครั้งที่ 2 มีการตั้งข้อสังเกตจากหลายฝ่ายถึงการประมูลที่เร่งรีบ โดยเปิดรับซองประมูลวันที่ 27 ก.ค.2567 และประกาศผลการประมูลวันที่ 8 ก.ย.2565

นอกจากนี้มีการตั้งข้อสังเกตกรณีข้อเสนอทางการเงินที่อาจทำให้รัฐเสียประโยชน์ 68,612 ล้านบาท เมื่อเทียบข้อเสนอของบริษัททางด่วน และรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM (ข้อเสนอการประมูล ครั้งที่ 2) กับ BTSC (ข้อเสนอการประมูล ครั้งที่ 1)

รวมทั้ง มีการตั้งข้อสังเกตกรณีการขาดคุณสมบัติของผู้ยื่นซอง ITD Group โดยมีประเด็นที่กรรมการของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของ ITD Group เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก

ซึ่งอาจขัดต่อคุณสมบัติที่คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐ และเอกชน (PPP) กำหนด

รวมถึงกรณี Incheon Transit Corporation ที่เป็นพันธมิตรของ ITD Group ไม่ส่งเอกสารคุณสมบัติ เช่น งบการเงินย้อนหลัง 3 ปี ซึ่งอาจขาดคุณสมบัติ แต่คณะกรรมการคัดเลือกการประมูลเห็นชอบผลการประมูล

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 16 ก.ค.2567 ที่มี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้บรรจุวาระผลการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม หลังจากมีหน่วยงานให้ความเห็นเพียงพอที่ ครม.จะพิจารณา

ทั้งนี้ การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก มูลค่าโครงการ 142,789 ล้านบาท ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ 1.งานโยธารถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-บางขุนนนท์ 2.งานเดินรถไฟฟ้า ตลอดเส้นทาง (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี)

นัดลงนามสัญญาลงทุน 18 ก.ค.นี้

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ครม.เห็นชอบสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) กับกลุ่ม BEM ซึ่ง รฟม.จะลงนามสัญญากับเอกชนผู้ชนะการประมูลวันที่ 18 ก.ค.2567 เวลา 14.00 น. ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจะเป็นประธานในพิธี

“BEM พร้อมเริ่มก่อสร้างงานโยธาส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ โดย รฟม.พร้อมส่งมอบพื้นที่แล้ว คาดว่าหลังลงนามจะเข้าพื้นที่เริ่มงานก่อสร้างได้ทันที และจะเร่งเปิดบริการกลางปี 2573” นายสุริยะ กล่าว

ส่วนงานโยธาฝั่งตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) แล้วเสร็จ โดยจะเจรจาให้เร่งพร้อมเปิดเดินรถก่อนกำหนด ซึ่งคาดว่าติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณเสร็จ และจัดหาขบวนรถมาทยอยเปิดบริการได้ในเดือนม.ค.2571 เร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้เดือนพ.ค.2571 และจะเจรจาเอกชนให้นำโครงการนี้เข้าร่วมนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย

“ในที่ประชุม ครม.ทุกฝ่ายสนับสนุนโครงการนี้ ไม่ได้มีใครคัดค้าน รวมทั้งยังต้องการให้กระทรวงคมนาคมเร่งรัดร่าง พ.ร.บ.ตั๋วร่วม เพื่อทำให้รถไฟฟ้าสายสีส้มเข้าร่วมใช้ตั๋วร่วมให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน” นายสุริยะ กล่าว

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีวงเงินลงทุนรวม 142,789 ล้านบาท โดยมีแนวเส้นทางเชื่อมกรุงเทพมหานคร ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็น

ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) 

ส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)

BEM ยอมตรึงค่าก่อสร้าง

โดยกลุ่ม BEM ประกอบด้วย บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ร่วมกับบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK เป็นผู้เสนอผลประโยชน์สุทธิ (มูลค่าปัจจุบัน: NPV) เท่ากับ -78,287.95 ล้านบาท โดยมาจากการหักลบระหว่างส่วนที่เอกชนจะตอบแทนให้รัฐ กับเงินที่เอกชนขอให้รัฐช่วย จึงถือเป็นข้อเสนอที่ดีที่สุด

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า กระทรวงคมนาคมรายงาน ครม.ทราบว่า BEM เสนอวงเงินสนับสนุนค่างานโยธาขอรับจาก รฟม.รวม 95,432.04 ล้านบาท ประกอบด้วย

  • ค่างานก่อสร้างงานโยธา 91,500 ล้านบาท
  • ค่าดอกเบี้ยระหว่างก่อสร้าง 3,932.04 ล้านบาท

ขณะที่ BEM จะมีค่าใช้จ่ายรวม 200,031ล้านบาท ประกอบด้วย

  • การลงทุนค่าระบบรถไฟฟ้าและการให้บริการเดินรถรวม 190,031 ล้านบาท
  • การจ่ายเงินตอบแทนให้ รฟม.ปีที่ 14-34 รวม 10,000 ล้านบาท

รวมทั้งมีรายได้จากค่าโดยสารตลอดอายุสัญญาประเมินว่าจะอยู่ที่ 316,719 ล้านบาท

หากคำนวณจากค่าใช้จ่ายรวมของ BEM ตามประมาณการที่ 200,031 ล้านบาท และรายได้รวม 316,719 ล้านบาท จะทำให้ผลการดำเนินงานของ BEM รายได้สูงกว่าค่าใช้จ่าย 116,688 ล้านบาท

ขณะที่ก่อนหน้านี้ BEM เปิดเผยข้อเสนอการประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยระบุว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มมีมูลค่าโครงการ 139,127 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

1.เสนอให้รัฐอุดหนุนค่างานโยธา ซึ่งตามผลการศึกษากำหนด 91,983 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน (PV) 84,756 ล้านบาท โดย BEM เสนอที่ 91,500 ล้านบาท หรือ PV ที่ 81,871 ล้านบาท

2.เอกชนแบ่งผลตอบแทนให้รัฐ ซึ่งผลศึกษารัฐจะไม่อุดหนุนค่าเดินรถให้เอกชน โดย BEM เสนอจ่ายผลตอบแทนให้รัฐ 10,000 ล้านบาท หรือ PV ที่ 3,583 ล้านบาท

และเมื่อนำผลตอบแทนให้รัฐหักกับค่าอุดหนุนงานโยธา เป็นผลประโยชน์สุทธิ PV จะพบว่า BEM ขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐ 78,288 ล้านบาท ลดลง 7% จากราคากลาง 84,255 ล้านบาท

ทั้งนี้ หลังชนะการประมูล รฟม.เจรจาต่อรองให้ยืนยันราคาค่าก่อสร้าง เพราะค่าก่อสร้างตามผลการศึกษานั้น รฟม.ประเมินโดยใช้ข้อมูลปี 2560-2561 ขณะที่ค่าวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง และค่าเหล็กช่วงประกวดราคาสูงขึ้น ซึ่ง BEM ยืนยันราคาตามข้อเสนอ

นอกจากนี้ รฟม.ให้ BEM ตรึงค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีส้ม 10 ปี โดยให้ใช้ราคาเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เริ่มต้น 17 บาท จาก TOR ที่ระบุเริ่มต้น 20 บาท

รวมถึงต้องไม่คิดค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนหากเดินทางเชื่อมต่อจากรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน รวมทั้ง BEM ต้องรับผิดชอบบำรุงรักษาโครงการ 50 ล้านบาทต่อเดือน

BTSC ลุ้นศาลอาญาคดีทุจริต และประพฤติมิชอบ

ขณะเดียวกัน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ยังมีคดีดำหมายเลขที่ อท 30/2564 เป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับกระบวนการคัดเลือกเอกชนที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดีในศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ 

ทั้งนี้ BTSC ขอให้ศาลลงโทษในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดต่อกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริต และกฎหมายความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ

โดยศาลขั้นต้นยกฟ้องเมื่อวันที่ 27 ก.ย.2565 และขณะนี้ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตฯ อยู่ระหว่างพิจารณาคำอุทธรณ์ของ BTSC

รวมถึงมีข้อร้องเรียนอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เกี่ยวกับกรณีประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ฉบับลงวันที่ 24 พ.ค.2565 มีการกำหนดเงื่อนไขอันมีลักษณะอาจเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542

สายสีส้มประมูล 2 รอบ ใช้เวลา 4 ปี

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเป็นอีกหนึ่งมหากาพย์โครงการร่วมลงทุน โดยใช้เวลา 4 ปีกว่าจะสิ้นสุดกระบวนการ ครม.อนุมัติผลการประกวดราคา นับตั้งแต่วันที่ รฟม.ออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) เมื่อวันที่ 3 ก.ค.2563

ก่อนปรับหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนกลางคัน พร้อมประกาศล้มประมูล เป็นเหตุให้เอกชนยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อตรวจสอบ และเป็นข้อพิพาทในหลายคดี

นอกจากนี้ ผลการประกวดราคาและร่างสัญญาร่วมลงทุนรถไฟฟ้าสายสีส้มในสมัย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบายเสนอ ครม.ต่อเมื่อศาลปกครองมีคำพิพากษา 

ต่อมาวันที่ 14 มี.ค.2566 นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะปฏิบัติหน้าที่แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม ครม.เป็นวาระพิจารณาจร

สำหรับการหารือใน ครม.ครั้งนั้นนานเกือบหนึ่งชั่วโมง โดยมีรัฐมนตรีแสดงความเห็นกันแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ฝ่ายที่เห็นด้วย และฝ่ายที่คัดค้าน ส่งผลให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เสนอทางออกต่อ ครม. 

โดยแนะนำว่า ครม.อนุมัติโครงการนี้แบบมีเงื่อนไขไปก่อนได้แต่ยังไม่ต้องไปลงนามสัญญากับเอกชน เพราะขอให้รอคำสั่งศาลในคดีที่เหลือก่อน ถ้าศาลสั่งว่าผิดก็ไม่ต้องลงนามสัญญา แต่ท้ายที่สุดก็มีการคัดค้านจากรัฐมนตรีหลายคน ส่งผลให้ถอนวาระพิจารณาดังกล่าว

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์