BEM เตรียมจัดหารถไฟฟ้าล็อตใหญ่ 51 ขบวน เปิดบริการ ‘รถไฟฟ้าสายสีส้ม’ ปลายปี 70
BEM เตรียมสั่งซื้อขบวนรถไฟฟ้าล็อตใหญ่ 51 ขบวนภายในปีนี้ หลังคว้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม มั่นใจเร่งติดตั้งระบบเปิดให้บริการเฟสแรก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ปลายปี 2570 ขณะที่ รฟม.เล็งออก NTP ดันก่อสร้างฝั่งตะวันตกทันที
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) พร้อมระบุว่า กระทรวงฯ ได้หารือร่วมกับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีส้ม ให้เร่งรัดจัดหาขบวนรถไฟฟ้ามาเปิดให้บริการส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนในสิ้นปี 2570 เนื่องจากงานโยธาส่วนนี้ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จและพร้อมให้บริการ
ขณะเดียวกันได้กำชับให้ผู้รับสัมปทานดำเนินการก่อสร้างงานส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมฯ ให้มีความปลอดภัยสูงสุด โดยเบื้องต้นทราบว่าปัจจุบันการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เตรียมพื้นที่งานก่อสร้างเรียบร้อย คาดว่าจะออกหนังสืออนุญาตเข้าพื้นที่ (NTP) ให้เอกขนได้ภายในเดือนนี้ หลังจากนั้นเอกชนจะจัดเตรียมเครื่องมือและอุปกรณ์งานก่อสร้าง คาดว่าภายใน 1 - 2 เดือนนี้จะเริ่มงานก่อสร้าง เพื่อผลักดันโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มให้เปิดบริการตลอดแนวเส้นทางภายในปี 2573
“โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม นับเป็นโครงการที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน เพราะทราบว่าขณะนี้ธนาคารกรุงเทพตกลงปล่อยกู้ให้กับ BEM แล้ว 100% นั่นแสดงให้เห็นว่ามีความเชื่อมั่นในโครงการนี้ และโครงการนี้มีการลงทุนระดับ 1 แสนลัานบาท กระทรวงฯ เชื่อว่าจะกระตุ้น GDP ให้กับประเทศได้ราว 0.1% เกิดการจ้างงานไม่ต่ำ 3 หมื่นคน และเงินสะพัดจากการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างอีก 8 หมื่นล้านบาท”
นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า รถไฟฟ้าสายสีส้ม จะเป็นอีกหนึ่งโครงการที่กระทรวงฯ จะนำเข้านโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ซึ่งทราบว่าทางเอกชนมีสัญญากำหนดให้จัดเก็บค่าโดยสาร 17 - 42 บาท ดังนั้นส่วนต่างอัตราค่าโดยสารที่เกินจาก 20 บาทขึ้นไป ภาครัฐจะสนับสนุนโดยนำเงินชดเชยมาจากกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม ที่เตรียมจัดตั้งขึ้นหลัง พรบ.บริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งปัจจุบันกระทรวงฯ อยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือน ก.ค.นี้ ก่อนเสสอเข้าสู่ที่ประชุมสภาฯ
นายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM กล่าวว่า ขณะนี้ BEM อยู่ระหว่างคัดเลือกเทคโนโลยี เพื่อจัดหาขบวนรถไฟฟ้ารวม 51 ขบวนภายในปีนี้ นำมาให้บริการส่วนของรถไฟฟ้าสายสีส้ม จำนวนประมาณ 30 ขบวน และเสริมให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน จำนวน 21 ขบวน โดย BEM จะทำการจัดหาขบวนรถไฟฟ้าพร้อมกันในทีเดียว และคาดว่าจะใช้เวลาราว 2-3 ปี ทยอยรับมอบส่วนแรกเพื่อให้บริการรถไฟฟ้า ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในปลายปี 2570
ขณะที่งานโยธา ส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมฯ ปัจจุบัน BEM เตรียมความพร้อมทั้งอุปกรณ์ เครื่องจักร และแรงงาน มั่นใจว่าจะเข้าพื้นที่เริ่มงานก่อสร้างได้ทันที ส่วนเรื่องวงเงินลงทุนขณะนี้ไม่มีปัญหา เพราะได้เงินกู้จากธนาคารกรุงเทพ โดย BEM ประเมินว่าจะทยอยลงทุนเป็นระยะเวลา 6 ปี ดังนั้นวงเงิน 1.2 แสนล้านบาท จึงคาดว่าจะทยอยลงทุนเฉลี่ยปีละ 2 หมื่นล้านบาท
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็น ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)