เกษตรฯ เสนอ นบข. เลื่อน 'โครงการปุ๋ยคนละครึ่ง' ทำไม่ทัน ดูแลไม่ได้
กระทรวงเกษตรฯ เตรียมเสนอ นบข. ทบทวน “โครงการปุ๋ยคนละครึ่ง” หลังผลสำรวจพบ ล่าช้า เกษตรกร สหกรณ์เข้าร่วมไม่ครอบคลุมทุกจังหวัด เคาะเลื่อนดำเนินการปีถัดไป
นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้า โครงการปุ๋ยคนละครึ่ง” ว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 ได้เห็นชอบหลักการโครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร ผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 และได้มีการชี้แจงประชาสัมพันธ์โครงการให้หน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบกิจการปุ๋ยและชีวภัณฑ์ สหกรณ์ภาคการเกษตรทราบแล้ว
กระทรวงเกษตรฯ ได้รับทราบถึงข้อคิดเห็น ข้อสังเกตเพิ่มเติมเพื่อเป็นประโยชน์ในการดำเนินโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง จากภาคส่วนต่างๆ ทั้งจากเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร องค์กรเอกชน และหน่วยงานราชการ ดังนั้น ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พิจารณารายละเอียดเพิ่มเติม โดยจัดประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ระดับประเทศ ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา และวันที่ 19 กรกฎาคม 2567 คณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิต ได้จัดให้มีการประชุม ตามข้อเสนอ คณะกรรมการดังกล่าวข้างต้น
ที่ประชุมได้ร่วมพิจารณารายละเอียด ข้อเสนอแนะ ข้อสังเกตที่รับทราบ และรวบรวมความเห็นจากทุกฝ่าย โดยพิจารณาอย่างรอบด้านให้สอดคล้องกับสถานการณ์และช่วงเวลา ณ ปัจจุบันของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ซึ่งพบว่าปัจจุบันมีเกษตรกรปลูกข้าวและขึ้นทะเบียนเกษตรกร ปี 2567/68 กับกรมส่งเสริมการเกษตรไปแล้ว จำนวน 2.91 ล้านครัวเรือน พื้นที่ 39.60 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 63.23 ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมด
โดย เกษตรกรส่วนใหญ่ ได้ใส่ปุ๋ยในนาข้าวไปแล้ว ประกอบกับข้อมูลที่ได้รับจากเกษตรกรส่วนใหญ่ มีข้อจำกัดในเรื่องเงินสมทบที่จะต้องนำเข้าบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามเงื่อนไขโครงการฯ
รวมทั้งกลไกดำเนินงานโดยเฉพาะสหกรณ์ ที่ต้องทำหน้าที่เป็นจุดกระจายปุ๋ยสู่เกษตรกร พบว่า สหกรณ์ที่สมัครเข้าร่วมโครงการฯ ไม่ครอบคลุมทุกจังหวัด และมีข้อจำกัดที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจปกติของสหกรณ์ในการจำหน่ายปุ๋ยของสหกรณ์เอง นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มเกษตรกรที่จะเสนอขอเข้าร่วมเป็นจุดกระจายปุ๋ยสู่เกษตรกรแต่ไม่มีกำหนดไว้ในแนวทางของคู่มือปฏิบัติ จึงไม่สามารถเข้าร่วมและดูแลสมาชิกกลุ่มเกษตรกรได้
ดังนั้น จากข้อจำกัดและข้อเสนอแนะที่ได้จากการประชุมข้างต้น ประกอบกับระยะเวลาเพาะปลูกข้าวที่ได้ล่วงเลยมานานพอสมควรแล้ว และเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอย่างแท้จริงในฤดูเพาะปลูกปีถัดไป
ที่ประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิต จึงดำเนินการเสนอข้อคิดเห็นตามมติที่ประชุมเพื่อเร่งทบทวนโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 นำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) และเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในลำดับต่อไป