'คลัง' ลุยแก้ภาษีที่ดิน หลังใช้ครบ 5 ปี เล็งปรับอัตรา ‘ปิดช่องโหว่’ กฎหมาย
“คลัง” ลุยแก้กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หลังบังคับใช้ครบ 5 ปี เร่งสรุป 571 ความเห็นจากส่วนราชการ นิติบุคคลและประชาชน เล็งปรับอัตราการจัดเก็บใหม่ มท.เตรียมออกประกาศขยายระยะเวลาเสียภาษีที่ดินสำหรับคนได้รับจม.ประเมินภาษีล่าช้า
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างถูกบังคับใช้มาครบ 5 ปี นับตั้งแต่เริ่มมีผลเมื่อปี 2562 โดยช่วงที่แพร่ระบาดโรคโควิด-19 ได้ลดอัตราการจัดเก็บลง และปี 2567 เริ่มจัดเก็บเต็มอัตราที่กำหนด ซึ่งที่ผ่านมามีเสียงเรียกร้องให้แก้ไข พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อลดภาระประชาชนและผู้ประกอบการ
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการแก้ไขกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการรวบรวมความเห็น โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ต้องหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม จากนั้นจะจัดทำร่างกฎหมายใหม่เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า สศค.รับฟังความเห็นเพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ในวันที่ 1 เม.ย.2567-15 พ.ค.2567 โดยเป็นการรับฟังความเห็นทั้งส่วนราชการ นิติบุคคลและบุคคลธรรมดา 571 ราย
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังต้องการรับฟังความเห็นหลังจากบังคับใช้กฎหมายมครบ 5 ปี เพื่อเป็นข้อมูลในการแก้ไขกฎหมาย โดย สศค.สอบถามประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอัตราการจัดเก็บและการผ่อนปรน ซึ่งนายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เคยระบุว่าอาจปรับปรุงอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดิน
อัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปัจจุบันแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย
1.เกษตรกรรม อัตราจัดเก็บ 0.01-0.1% บุคคลธรรมดายกเว้นไม่เกิน 50 ล้านบาท
2.บ้านพักอาศัย อัตราจัดเก็บ 0.02-0.1% ยกเว้นบ้านที่อยู่อาศัยที่ราคาไม่เกิน 50 ล้านบาท
3.ที่ดินอื่นและรกร้างว่างเปล่า 0.3-0.7% สำหรับที่ว่างเปล่าไม่ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ เพิ่มอัตรา 0.3% ทุก 3 ปี แต่อัตราภาษีรวมไม่เกิน 3%
อัตราภาษีปัจจุบันเหมาะสมหรือไม่
นอกจากนี้ สศค.สอบถามประเด็นอัตราการจัดเก็บแยกเป็น 3 ประเภท ตามการใช้ประโยชน์ที่ดินเหมาะสมแล้วหรือไม่ รวมถึงสอบถามถึงกรณีการจัดเก็บตามอัตราก้าวหน้าเพื่อให้ผู้มีมูลค่าที่ดินสูงมีภาระภาษีมากกว่าผู้มีมูลค่าที่ดินต่ำ
ส่วนที่ดินเกษตรกรรมได้สอบถามประเด็นความเหมาะสมการใช้ที่ดินที่ใช้ตามความหมาย “ประกอบการเกษตร” ในระเบียบคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ว่าด้วยการขึ้นทะเบียนเกษตรกร พ.ศ.2560 เช่น การทำนา ทำไร่ การปลูกผัก การปลูกไม้ผลไม้ยืนต้น การเลี้ยงปศุสัตว์ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
รวมถึงความเหมาสะมของอัตราขั้นต่ำของการประกอบการเกษตรต่อไร่ เช่น กล้วย 200 ต้นต่อไร่ , มะพร้าว 20 ต้นต่อไร่ , โค 1 ตัวต่อการใช้ที่ดิน 5 ไร่ หรือ 1 ตัวต่อการใช้พื้นที่คอกหรือโรงเรือน 7 ตารางเมตร
ข้อยกเว้นที่ดินเกษตร-ที่อยู่อาศัยหลังแรก
นอกจากนี้ ประเด็นการยกเว้นภาษีที่ดินเกษตรกรรมมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท และที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่มีชื่อในทะเบียนบ้านและใช้เป็นที่อยู่อาศัยมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ได้สอบถามว่าการยกเว้นดังกล่าวเหมาะสมหรือไม่ หรือควรยกเว้นที่มูลค่าเท่าใด
รวมถึงการยกเว้นที่ครอบคลุมเอกสารสิทธิอื่น เช่น หนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน (น.ส. 3 ก) หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01)
ส่วนกรณีมูลค่าฐานภาษีสำหรับกรณีบุคคลธรรมดาเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างแต่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน และใช้สิ่งปลูกสร้างเป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ซึ่งปัจจุบันมีการยกเว้นที่มูลค่าฐานภาษี 10 ล้านบาท มีความเหมาะสมหรือไม่
ขอความเห็นข้อยกเว้นภาษีที่ดินรกร้าง
รวมทั้งเห็นด้วยกับการจัดเก็บภาษีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่า (ภาษีที่ดินรกร้าง) หรือไม่ ซึ่งกฎหมายปัจจุบันถ้าไม่ทำประโยชน์ติดต่อกันให้เพิ่มอัตราภาษีอีก 0.3% ทุก 3 ปี แต่อัตราภาษีรวมไม่เกิน 3% เพื่อกระตุ้นให้เจ้าของนำที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างมาใช้ประโยชน์
ทั้งนี้ ที่ดินดังกล่าวอาจเป็นพื้นที่สีเขียวมีความหลากหลายทางชีวภาพและสำคัญต่อระบบนิเวศ เช่น ป่าอนุรักษ์ ป่าธรรมชาติ ป่าชายเลน ซึ่งเห็นด้วยหรือไม่หากจะกำหนดให้ที่ดินดังกล่าวไม่เข้าข่ายเป็นที่ดินที่ทิ้งไว้ว่างเปล่า และพื้นที่สีเขียวที่หลากหลายทางชีวภาพและสำคัญต่อระบบนิเวศควรบรรเทาภาษีหรือไม่ เช่น ป่าอนุรักษ์ ป่าธรรมชาติ ป่าชายเลน
หาข้อสรุปอัตราภาษี “บ้านเช่า-หอพัก”
รวมถึงสอบถามว่าเห็นด้วยหรือไม่กับกรณีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยถูกเก็บอัตรา 0.02-0.10% และกรณีถ้ากำหนดให้ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยแบบมีค่าตอบแทนต้องเสียภาษีสูงกว่าที่อยู่อาศัยหรือไม่ เช่น บ้านเช่า หอพัก
นอกจากนี้สอบถามความเห็นถึงการให้อำนาจผู้บริหารท้องถิ่นตราข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อกำหนดอัตราภาษีที่จัดเก็บในเขต อปท.ได้ โดยอาจสูงกว่าอัตราภาษีที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้ประโยชน์ที่แตกต่างจากพระราชกฤษฎีกา ทั้งนี้ อัตราภาษีจะต้องไม่เกินเพดานที่กำหนดใน พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
เปิด 4 ปมปัญหาภาษีที่ดินของ อปท.
ทั้งนี้ สศค.ได้สรุปปัญหาของการบังคับใช้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในช่วงที่ผ่านมารวม 4 ประเด็น ดังนี้
1.พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แจ้งการประเมินภาษีภายในเดือน ก.พ.ทุกปี ซึ่ง อปท.อาจมีข้อจำกัดของข้อมูล เช่น ข้อมูลรูปแปลงที่ดินหรือข้อมูลเอกสารสิทธิของที่ดินที่ อปท.ได้รับไม่ครบถ้วน และไม่เป็นปัจจุบัน
2.พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กำหนดให้ใช้มูลค่าที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างตามราคาประเมินทุนทรัพย์เป็นฐานในการคำนวณภาษี และนำไปคูณอัตราภาษีอัตราก้าวหน้าตามมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและตามการใช้ประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง
3.พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กำหนดให้ อปท.จัดเก็บภาษีจากผู้เสียภาษี โดยผู้เสียภาษีอาจไม่ให้ความร่วมมือ เช่น ไม่อนุญาตไม่ให้สำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือไม่นำส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างให้ อปท. เพื่อใช้ประเมินภาษี
4.พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกำหนดให้ผู้บริหารท้องถิ่นตั้งพนักงานสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่พนักงานสำรวจมีภาระงานประจำทำให้เจ้าหน้าที่ไม่พอ และเจ้าหน้าที่อาจไม่มีความรู้การสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ทำให้การสำรวจล่าช้า
เตรียมผ่อนผันผู้ได้รับแจ้งภาษีล่าช้า
แหล่งข่าวเปิดเผย รัฐบาลเตรียมออกประกาศกระทรวงมหาดไทย เพื่อผ่อนผันให้ผู้เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่ทันตามกำหนดซึ่งการชำระภาษีไม่ทันนั้นไม่ใช่ความผิดของผู้เสียภาษี แต่มาจากการได้รับหนังสือให้ชำระภาษีที่ดินล่าช้า โดยที่ผ่านมามีผู้เสียภาษีหลายรายได้รับแบบแจ้งการประเมินภาษีเมื่อพ้นกำหนดชำระภาษีทำให้ชำระภาษีไม่ทันที่กำหนด
ทั้งนี้ รัฐบาลเห็นว่าเพื่อให้กฎหมายการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของ อปท.จัดเก็บภาษีมีประสิทธิภาพและสร้างความเป็นธรรม โดยไม่ก่อให้เกิดภาระแก่ประชาชนผู้เสียภาษีจึงผ่อนผันดังนี้
1.ขยายเวลาของผู้เสียภาษีในการชำระภาษีตามแบบแจ้งการประเมินภาษี เฉพาะกรณีผู้เสียภาษีได้รับแบบแจ้งการประเมินภาษีเมื่อพ้นกำหนดชำระภาษี ทำให้ผู้เสียภาษีชำระไม่ทันที่กำหนด จากเดิมภายในเดือน เม.ย.หรือภายในกำหนดเวลาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหรือผู้บริหารท้องถิ่นเห็นชอบให้ขยายกำหนดออกไปเป็นภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับแบบแจ้งการประเมินภาษี
2.ขยายกำหนดเวลาของผู้เสียภาษีตามข้อ 1 ในการผ่อนชำระ ดังนี้
งวดที่ 1 จากเดิมชำระภายในเดือน เม.ย.หรือภายในกำหนดเวลาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหรือผู้บริหารท้องถิ่นเห็นชอบให้ขยายกำหนดเวลาออกไป เป็นชำระภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับแบบแจ้งการประเมินภาษี
งวดที่ 2 จากเดิมชำระภายในเดือน พ.ค.หรือภายในกำหนดเวลาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหรือผู้บริหารท้องถิ่นเห็นชอบขยายกำหนดเวลาออกไป เป็นชำระภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ครบกำหนดชำระงวดที่ 1
งวดที่ 3 จากเดิมชำระภายในเดือนมิถุนายน หรือภายในกำหนดเวลาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหรือผู้บริหารท้องถิ่นเห็นชอบให้ขยายกำหนดเวลาออกไป เป็นชำระภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ครบกำหนดชำระงวดที่ 2
3.ขยายกำหนดเวลาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการมีหนังสือแจ้งเตือนผู้เสียภาษีที่ดิน ที่มีภาษีค้างชำระจากเดิมภายในเดือน พ.ค.หรือภายในกำหนดเวลาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หรือผู้บริหารท้องถิ่นเห็นชอบให้ขยายกำหนดเวลาออกไป เป็นภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ครบกำหนดชำระภาษีขยายกำหนดเวลาของ อปท.ในการแจ้งรายการภาษีของผู้เสียภาษี
ทั้งนี้ ให้สำนักงานที่ดินหรือสำนักงานที่ดินสาขา จากเดิมภายในเดือน มิ.ย.หรือภายในกำหนดเวลาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหรือผู้บริหารท้องถิ่นเห็นชอบให้ขยายกำหนดเวลาออกไป เป็นภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ครบกำหนดขยายเวลาในการมีหนังสือแจ้งเตือนผู้เสียภาษีที่มีที่มีภาษีค้างชำระ