เศรษฐกิจไทย ในหม้อน้ำเดือด
ถือว่าใกล้ถึงจุดเดือดเต็มทนสำหรับเศรษฐกิจไทย หากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนจากภาครัฐ เนื่องจากเศรษฐกิจของเรากำลังเข้าสู่ยุคโตต่ำ 2% เพราะกศักยภาพโดยรวมถดถอยลงเรื่อยๆ
เชื่อว่าหลายคนน่าจะสัมผัสได้ถึงศักยภาพของเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ ซึ่งถ้าเปรียบกับอุณหภูมิน้ำก็คงใกล้ถึงจุดเดือดเต็มทน คำว่าจุดเดือดในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าร้อนแรง แต่กำลังจะบอกถึงผลกระทบของน้ำร้อน หากเรายังไม่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนตัวเองในวันนี้ ก็คงจะถูกต้มเปื่อยตายในท้ายที่สุด ยิ่งปัจจุบันความลำบากของพี่น้องประชาชนในกลุ่มฐานรากแสดงให้เห็นเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ และกำลังจะลามไปสู่กลุ่มคนชั้นกลางบนบ้างแล้ว
สัปดาห์ที่ผ่านมามีบทความหนึ่งของ KKP Research พยายามตะโกนบอกว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ยุคโตต่ำ 2% เพราะศักยภาพที่ถดถอยลงมาเรื่อยๆ ซึ่งก็ตรงกับสิ่งที่กองบรรณาธิการกรุงเทพธุรกิจได้นำเสนอเรื่องราวเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า หากเรายังไม่คิดที่จะปฏิรูปโครงสร้างอย่างจริงจัง ประเทศไทยก็มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกลบออกจากแผนที่การลงทุนโลก
บทวิเคราะห์นี้พยายามชี้ให้เห็นว่า ช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา เราเผชิญกับวิกฤติมาหลายรอบ และทุกครั้งหลังผ่านพ้นมาได้ ศักยภาพของเราก็ลดต่ำลงเรื่อยๆ อย่างวิกฤติต้มยำกุ้งเดิมก่อนหน้านั้นเศรษฐกิจไทยเคยเติบโตได้มากกว่า 7% แต่หลังปี 2540 การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยลดลงเหลือเฉลี่ยเพียง 5% และหลังวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2551 ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยก็ลดเหลือราว 3% มารอบวิกฤติโควิดที่เพิ่งจะผ่านพ้นไป เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เฉลี่ยเพียง 2% เท่านั้น ...คำถามสำคัญ คือ เป็นเพราะสาเหตุใด ทำไมศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจึงลดต่ำลงเรื่อยๆ
KKP Research วิเคราะห์ไว้ว่า ปมเหตุหลักที่ทำศักยภาพไทยถดถอยลงต่อเนื่อง เพราะปัญหาแรงงานที่หดหายจากสังคมสูงวัย ซึ่งปัญหานี้นอกจากจะทำให้กำลังซื้อลดลงแล้ว ยังพบว่าผลิตภาพของแรงงานก็ลดลงด้วย มิหนำซ้ำเรายังขาดการลงทุนใหม่จากทั้งในและต่างประเทศที่จะมาช่วยยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีที่สำคัญต่อเศรษฐกิจในอนาคต
ข้อเสนอของทาง KKP คือ รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการปฏิรูปใน 4 ด้าน ได้แก่ 1.เพิ่มผลิตภาพ ดึงดูดแรงงานทักษะสูง เพื่อดึงดูดการลงทุนกลับมาอีกครั้ง 2.เปิดเสรีภาคบริการ เพิ่มการแข่งขันภาคบริการที่มีมูลค่าสูง 3.เพิ่มผลิตภาพของภาคเกษตร ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจไทยได้อีกมาก และ 4.ปฏิรูปภาคการคลัง แม้เรื่องนี้จะไม่เกี่ยวโดยตรงกับการเพิ่มศักยภาพ แต่ปัญหาสังคมสูงวัยทำให้ละเลยสิ่งนี้ไม่ได้ ...ทั้งหมดนี้เป็นอีกหนึ่งข้อเสนอจากภาคเอกชนที่มองว่า น่าจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยโดดออกจากหม้อน้ำที่กำลังเดือดได้ ซึ่งจริงๆ เราก็พูดถึงวิกฤติต้มกบกันมาหลายครั้งแล้ว แต่ยังไม่เห็นกบตัวนี้กระโดดออกมาซักที!