การยกระดับ Public Governance ไปกับ OECD

การยกระดับ Public Governance  ไปกับ OECD

ตามที่ประเทศไทยได้แสดงเจตจำนงเข้าเป็นประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD และได้รับเชิญเข้าสู่กระบวนการหารือเพื่อเข้าเป็นสมาชิก (Accession Discussions)

ตั้งแต่เดือนมิ.ย.ที่ผ่านมานั้น เลขาธิการ OECD กล่าวในการแถลงข่าวว่า กระบวนการหารือฯ ดังกล่าวจะมุ่งเน้นการปฏิรูปในมิติต่าง ๆ ที่จะส่งผลให้ประเทศไทยมีความน่าดึงดูดสำหรับการลงทุนจากต่างประเทศ การขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของประชาชนได้ ภายใต้กระบวนการหารือฯ ประเทศไทยจะถูกประเมินอย่างเข้มข้นในด้านต่างๆ ว่าเป็นไปตามมาตรฐานของ OECD หรือไม่ อันจะมีส่วนช่วยให้เกิดการปรับปรุงพัฒนาในด้านต่าง ๆ ที่จำเป็น ทั้งในด้านกฎหมาย นโยบาย และแนวปฏิบัติ จนบรรลุการเข้าเป็นสมาชิก โดย OECD จะมุ่งเน้นประเด็นการเปิดกว้างทางการค้าและการลงทุน ธรรมาภิบาลภาครัฐ (Public Governance) การต่อต้านคอร์รัปชั่น และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมซึ่งรวมถึงประเด็น Climate Change ซึ่งล้วนแต่เป็นประเด็นที่สำคัญยิ่ง

เมื่อพิจารณาถึงขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และปัจจัยที่ส่งผลต่อการดึงดูดการลงทุน ผู้เขียนมักให้ความสำคัญกับปัจจัยด้าน ‘Governance และ Institutions’ อยู่เสมอ และดีใจที่เห็นว่าธรรมาภิบาลภาครัฐ (Public Governance) เป็นหนึ่งในประเด็นมุ่งเน้นของการหารือ ผู้เขียนพบรายงานที่น่าสนใจฉบับหนึ่งที่ได้มีการรายงานต่อ Public Governance Committee ของ OECD และมีการตีพิมพ์ออกมาในเดือนก.ค.นี้เอง คือ ‘OECD Survey on Drivers of Trust in Public Institutions – 2024 Results: Building Trust in a Complex Policy Environment’ เป็นการสำรวจความคิดเห็นของสาธารณชนใน 30 ประเทศสมาชิก OECD ที่มีต่อองค์กรของรัฐ ทำการสำรวจเมื่อปี 2023 โดยประเทศที่เข้าร่วมตั้งใจจะนำผลการสำรวจไปใช้ปรับปรุงธรรมาภิบาลภาครัฐเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีขึ้น

ผลการสำรวจพบว่า39% ของประชาชน มีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลของประเทศตนอยู่ในระดับสูงและค่อนข้างสูง ในขณะที่ 44% เชื่อมั่นน้อยหรือไม่เชื่อมั่นเลย สรุปผลการสำรวจความคิดเห็นนี้พบว่าประชาชนจะมีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลสูงในช่วงต้นของรัฐบาลนั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป 2-3 ปี ความเชื่อมั่นในรัฐบาลนั้นมักจะลดลง ผู้เขียนคิดว่าคงเป็นเพราะความหวังของประชาชนริบหรี่ลงเมื่อเวลาผ่านไป

กรอบคำถามที่ใช้ในการสำรวจความคิดเห็นมี 3 ชุดด้วยกัน ชุดแรก สำรวจเกี่ยวกับความเชื่อมั่นต่อการจัดทำและดำเนินนโยบายภาครัฐ รวมถึงความโปร่งใสและเป็นธรรม ชุดที่ 2 สำรวจความเห็นเกี่ยวกับความสามารถขององค์กรของรัฐในการบริหารจัดการประเด็นที่มีความซับซ้อนสูงในโลกวันนี้ และชุดที่ 3 เกี่ยวกับตัวผู้ตอบคำถามเอง ผลการสำรวจชุดแรกที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก คือ ประชาชนชาว OECD มีความเชื่อมั่นใน ‘องค์กรตำรวจ’ สูงที่สุด และรองลงมาคือ ‘ระบบศาลยุติธรรม’ ตามด้วย ‘ระบบราชการ’ ในขณะที่ความเชื่อมั่นใน ‘พรรคการเมือง’ ‘รัฐสภา’ และ ‘สื่อ’ เป็น 3 อันดับรั้งท้าย นอกจากนี้ ยังพบว่าประชาชนยังมีความเชื่อมั่นในรัฐบาลท้องถิ่นมากกว่ารัฐบาลกลาง ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าหากมีการสำรวจลักษณะนี้ในประเทศไทย ผลจะออกมาคล้ายกันหรือไม่อย่างไร แต่ที่น่าวิเคราะห์ต่อคือประเทศที่ประชาชนมีความเชื่อมั่นในองค์กรตำรวจ ระบบศาลยุติธรรม และระบบราชการสูง น่าจะส่งผลให้ความเป็นอยู่ของประชาชนดี และในขณะเดียวกันก็น่าจะเป็นปัจจัยสร้างความเชื่อมั่นสำหรับการลงทุน...หรือไม่ ในอนาคตเมื่อมีโอกาส จะนำข้อมูลเหล่านี้ ไปเทียบกับข้อมูลชุดอื่นๆ เช่น ข้อมูลขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ผลการสำรวจความเห็นชุดที่ 2 พบว่าประชาชนชาว OECD ส่วนใหญ่เชื่อว่าองค์กรของรัฐมีความสามารถในการจัดการกับเหตุฉุกเฉินได้ แต่ในส่วนของประเด็นนโยบายที่มีความซับซ้อนสูง เช่น การกำกับดูแลเทคโนโลยีใหม่อย่าง AI มีเพียง 1 ใน 4 ของประชาชนชาว OECD เท่านั้นที่คิดว่าภาครัฐจะมีความสามารถจัดการได้ดี ส่วนในเรื่องของการลดก๊าซเรือนกระจกนั้น ประชาชนราว 40% คิดว่าภาครัฐจะเดินไปสู่เป้าหมายได้ 

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ประชาชนจำนวนไม่น้อย (40%) มีความเชื่อว่ารัฐบาลกลางมีแนวโน้มที่จะยอมตามและดำเนินนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายใหญ่ แม้ว่าสิ่งนั้นอาจจะส่งผลร้ายต่อสังคมโดยรวม อย่างไรก็ดีในประเด็นนี้ OECD ได้ระบุว่าจำนวนผู้ที่ตอบว่าไม่รู้หรือไม่แน่ใจ ถือว่าค่อนข้างสูง (27%)

สำหรับบทวิเคราะห์เกี่ยวกับความเชื่อมั่นในสื่อนั้น 44% ของประชาชนมีความเชื่อมั่นต่ำหรือไม่เชื่อมั่นในสื่อเลย และประชาชนจำนวนหนึ่งเห็นว่าข้อมูลปลอมข้อมูลลวงเป็นปัญหาสำคัญของประเทศในลำดับต้นๆ และผลสำรวจที่น่าสนใจมากคือ ปัจจัยที่ประชาชนใช้ในการพิจารณาว่าจะเชื่อถือข่าวนั้นๆ หรือไม่ 3 อันดับแรก คือ แหล่งข่าวที่อ้างถึง องค์กรหรือตัวนักข่าวที่เป็นผู้รายงานข่าวนั้น และบุคคลหรือองค์กรประเภทใดเป็นผู้แชร์ข่าวต่อ ซึ่งสำหรับผู้เขียนแล้ว ถือว่าประชาชนมีความรู้ความเข้าใจ หรือ literacy ค่อนข้างดีทีเดียว และอาจจะนำข้อมูลชุดนี้ ไปเทียบกับข้อมูล PISA ต่อไปเมื่อมีโอกาส

ผู้เขียนเป็นเพียงผู้หนึ่งซึ่งเฝ้าสังเกตุการณ์ความเป็นไปในบ้านเมือง เมื่อได้มีโอกาสศึกษารายงานต่างๆ ที่น่าสนใจของ OECD ก็อดที่จะตื่นเต้นไม่ได้ และเข้าใจ (ไปเอง) ว่าในช่วงต่อจากนี้ไป กระบวนการเข้าเป็นสมาชิก (Accession Process) น่าจะยังประโยชน์ให้ประเทศไทยได้ไม่น้อยเลยทีเดียว แม้กระบวนการหารือจะต้องใช้เวลา แต่ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าภาครัฐ จะจริงจังและจริงใจกับการนำพาประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิก OECD ตามเจตจำนงได้ในเร็ววัน