เปิดหนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้า 3.6 หมื่นล้าน BTS รอ กทม.จ่ายให้ครบ

เปิดหนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้า 3.6 หมื่นล้าน BTS รอ กทม.จ่ายให้ครบ

“บีทีเอส” เตรียมรับหนี้จ้างเดินรถส่วนต่อขยาย “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” ก้อนแรก 1.2 หมื่นล้านบาท หลังศาลปกครองสูงสุดสั่ง กทม.พร้อมด้วยกรุงเทพธนาคม สั่งให้จ่ายหนี้ จากยอดรวม 2 คดี กว่า 3.6 หมื่นล้านบาท

หลังจาก บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS ได้รับการชำระหนี้ค่าติดตั้งระบบรถไฟฟ้า (E&M) ส่วนต่อขยาย รวม 23,000 ล้านบาท ไปเมื่อเดือน เม.ย.2567 จากกรุงเทพมหานคร (กทม.)

ขณะนี้เหลือหนี้ค่าจ้างงานเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุง (O&M) ส่วนต่อขยายที่ยังอยู่ในศาลปกครอง 2 คดี รวมมูลหนี้ 39,000 ล้านบาท ประกอบด้วย

1.คดีค่าจ้าง O&M ส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่-บางหว้า และช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง ซึ่งค้างชำระหนี้ พ.ค.2562-พ.ค.2564 รวม 2,348.65 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินต้น 2,199.09 ล้านบาท และดอกเบี้ย 149.56 ล้านบาท

สำหรับคดีดังกล่าว BTSC ได้ฟ้องศาลปกครองกลางให้กรุงเทพมหานครและบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) ชำระหนี้ 11,755 ล้านบาท แบ่งเป็น หนี้ค่าจ้าง O&M ส่วนต่อขยายที่ 1 และหนี้ค่าจ้าง O&M ส่วนต่อขยายที่ 2 

ทั้งนี้ให้ชำระพร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินตามอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) ซึ่งประกาศโดยธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นให้แก่ผู้ฟ้องคดี โดยให้ชำระให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานคร และบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด และเมื่อวันที่ 17 ส.ค.2566 ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาคดี ตุลาการผู้แถลงคดีให้ยืนตามศาลปกครองกลาง โดยในวันที่ 26 ก.ค.2567 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลางให้จำเลยใช้หนี้คืนเอกชน

2.คดีค่าจ้าง O&M ส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่-บางหว้า และช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ซึ่งค้างชำระตั้งแต่เดือน มิ.ย.2564-ต.ค.2565 รวม11,068.50 ล้านบาท

สำหรับคดีนี้ BTSC ยื่นฟ้องศาลปกครองกลางให้ชำระหนี้เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2565 และปัจจุบัน อยู่ในการวินิจฉัยและการจัดทำคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง

กทม.เตรียมแผนจ่ายหนี้ค่าเดินรถ

รายงานข่าวจากกรุงเทพมหานคร ระบุว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีแนวคิดที่จะต้องดูผลของสัญญาที่ดำเนินการไปแล้วควบคู่กับการดำเนินการตามสัญญาที่จะครบในปี 2580 ว่าจะดำเนินการอย่างไร

รวมทั้งต้องดูผู้ที่ต้องชำระหนี้เพราะสัญญาจ้าง O&M ส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่-บางหว้า และช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง โดยกรุงเทพมหานคร จ้างบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ดำเนินการเดินรถไฟฟ้า หลังจากนั้นบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด จ้าง BTSC เป็นผู้เดินรถไฟฟ้า

ส่วนสัญญาจ้าง O&M ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ โดยต่างจากส่วนต่อขยายที่ 1 เพราะเป็นการที่กรุงเทพมหานคร มอบหมายให้บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ดำเนินการ หลังจากนั้นบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด จ้าง BTSC เป็นผู้เดินรถไฟฟ้า

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครได้พิจารณาแนวทางการชำระหนี้ O&M ในทิศทางเดียวกับการชำระหนี้ E&M ส่วนต่อขยาย รวม 23,000 ล้านบาท เมื่อเดือน เม.ย.2567 ซึ่งขออนุมัติใช้เงินสะสมปลอดภาระจากสภากรุงเทพมหานคร ซึ่งสิ้นงบปีงบประมาณ 2566 (30 ก.ย.2566 ) มีวงเงินส่วนนี้รวม 63,000 ล้านบาท

“บีทีเอส”พร้อมเจรจาเคลียร์หนี้

แหล่งข่าวจากบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันหนี้ค่าจ้าง O&M รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย มีจำนวนรวม 39,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ คดีที่ศาลปกครองสูงสุดนัดพิพากษาในวันที่ 26 ก.ค.2567 เป็นคดี O&M 1 ที่บริษัทได้ยื่นฟ้องไว้รวมมูลหนี้ 12,000 ล้านบาท ส่วนคดี O&M 2 ซึ่งเป็นคดีที่บริษัทได้ยื่นฟ้องเพิ่ม ปัจจุบันศาลปกครองกลางยังไม่มีกำหนดนัด

แหล่งข่าว กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทยังไม่ได้มีการหารือรายละเอียดจำนวนหนี้ หรือแนวทางการจ่ายหนี้กับทางกรุงเทพมหานคร คงต้องรอดูผลการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดก่อน หลังจากนั้นน่าจะมีการเจรจารายละเอียด 

ทั้งนี้หากบริษัทได้รับชำระหนี้ส่วนนี้ มีแผนจะนำไปเสริมสภาพคล่องด้วยการชำระหนี้ที่ออกหุ้นกู้ไปก่อนหน้านี้ อีกทั้งคงต้องเจรจาเกี่ยวกับยอดคงค้างที่อัพเดต ณ ปัจจุบันด้วยว่ามีจำนวนเท่าไหร่ และจะมีแนวทางดำเนินการอย่างไร

สำหรับกรณีที่ก่อนหน้านี้ภาครัฐเคยมีข้อเสนอเจรจาแลกหนี้กับการขยายสัมปทานนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ได้มีการเจรจามานานแล้ว แต่อย่างไรก็ดี บริษัทไม่เคยปิดกั้นในการเจรจาทุกรูปแบบ ซึ่งแน่นอนว่าการจ่ายค่าจ้างงานกับภาคเอกชน ปัจจุบันก็มีความเป็นไปได้ใน 2 รูปแบบ คือ การจ่ายเงินค่าจ้างตามสัญญา และการเจรจาขยายสัมปทานเพื่อชดเชยตามมูลค่าที่เหมาะสม ซึ่งเป็นแนวทางที่บริษัทพร้อมเจรจาได้ทั้งหมด

“กทม.-กรุงเทพธนาคม”จ้างบีทีเอส

สำหรับการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายเริ่มมาตั้งแต่ปี 2551 คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ก่อสร้างส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ 

หลังจากนั้นมีนโยบายให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้ดำเนินการเพื่อเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวในส่วนที่กรุงเทพมหานครเป็นเจ้าของสัมปทานและเป็นผู้ลงทุนส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่-บางหว้า และช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง

ทั้งนี้ ครม.มีมติเห็นชอบให้กรุงเทพมหานครเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 1 มี.ค.2559 หลังจากนั้นกรุงเทพมหานครได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) มอบหมายให้บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ให้เดินรถและติดตั้ง E&M โดยบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ได้มาจ้าง BTSC เป็นผู้เดินรถไฟฟ้า