‘คลัง’ คาด GDP ไทยปี 67 โต 2.7% ท่องเที่ยว - ส่งออก - เบิกจ่ายหนุน

‘คลัง’ คาด GDP ไทยปี 67 โต 2.7% ท่องเที่ยว - ส่งออก - เบิกจ่ายหนุน

“คลัง” ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 ขยายตัวที่ 2.7% ต่อปี จาก 3 ปัจจัยหนุนหลัก สัญญาณรายได้ภาคบริการท่องเที่ยวขยายตัว ส่งออกขยายตัวตามเศรษฐกิจคู่ค้า และการเบิกจ่ายงบประมาณรัฐ เร่งอัดมาตรการดัน GDP แตะ 3%

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวที่ 2.7% ปรับเพิ่มจากประมาณการครั้งก่อน ณ เดือนเม.ย. อยู่ที่ 2.4% เนื่องจากศรษฐกิจไทยได้รับแรงสนับสนุนเนื่องจาก 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ 1.การส่งออกสินค้ามีสัญญาณขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดการณ์ โดยคาดว่าจะขยายตัว 2.7% เพิ่มขึ้นจากการประมาณการครั้งก่อนที่ 2.3% โดยอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าสำคัญขยายตัวได้ดีขึ้นโดยเฉพาะ สหรัฐอเมริกา จีน และยูโรโซน โดยมีการปรับตัวขึ้นของ GDP ประเทศคู่ค้า 15 ประเทศหลักที่ 3.2% เพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อนที่ 3.1% 

2.จำนวน และรายได้ที่ได้รับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศสูงกว่าที่คาดการณ์ สะท้อนผลตอบรับที่ดีจากมาตรการดึงดูดนักท่องเที่ยว  โดยเฉพาะมาตรการยกเว้นการตรวจลงตรา (วีซ่าฟรี) ให้กับนักท่องเที่ยวกลุ่มที่มีรายจ่ายต่อหัวสูง 

โดยคาดว่าในปี 2567 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 36 ล้านคน ขยายตัวสูงต่อเนื่องที่ 27.9% ต่อปี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อนที่ 35.7 ล้านคน และรายจ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวคาดอยู่ที่ 47,000 บาท/คน/ทริป เพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อนที่อยู่ที่ 44,600 บาท/คน/ทริป โดยรวมภาคการท่องเที่ยวทั้งปี 2567 คาดว่าจะสร้างรายได้กว่า 1.69 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.4% จากปีก่อน

3.การเบิกจ่ายภาครัฐที่ดีกว่าที่คาดการณ์จากการเตรียมความพร้อมเร่งเบิกจ่ายของภาครัฐ และมีทิศทางเร่งขึ้นต่อเนื่องในช่วงท้ายของปีงบประมาณ 2567 โดยคาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายได้ 3.24 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90% ของงบประมาณทั้งหมด แบ่งเป็นรายจ่ายประจำที่คาดว่าจะทำได้ 99.5% และรายจ่ายลงทุน 57.5% ส่วนรายจ่ายเหลื่อมปีและรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจคาดว่าจะอยู่ที่ 94% และ 95% ตามลำดับ

ขณะเดียวกัน การบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัว 4.5% เพิ่มขึ้นจากการประมาณการครั้งก่อนที่ 3.5% ส่วนหนึ่งจากรายได้เกษตรกรขยายตัว 8% และภาษีมูลค่าเพิ่มที่แท้จริง (Real VAT) ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้การใช้จ่ายและการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 3.6% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการทางการคลังและมาตรการด้านสินเชื่อและสภาพคล่องของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง โดยการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวที่ 3.6% 

ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศอยู่ในระดับมั่นคง โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ที่ 0.6% ต่อปี  ตามการปรับตัวลดลงของราคาสินค้าอาหารบางกลุ่ม อีกทั้งราคาสินค้าในหมวดพลังงานที่ลดลงจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ  ดุลบริการมีแนวโน้มเกินดุล ตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2567 เกินดุล 11.0 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 2.4% ของ GDP

ทั้งนี้ การประมาณการ GDP ณ เดือน ก.ค. ยังไม่ได้นับรวมผลที่คาดว่าจะได้รับในระบบเศรษฐกิจที่เกิดจากโครงการ Digital Wallet ทั้งนี้กระทรวงการคลังได้ประมาณเบื้องต้นเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2567 ว่าหากพิจารณาเฉพาะโครงการ Digital Wallet นี้จะส่งผลช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัว 1.2-1.8% ตลอดช่วงระยะเวลาใช้จ่าย 6 เดือน บนสมมุติฐานที่ว่าจะมีผู้เข้ามาใช้งาน 85-100% หรือคิด้ป็น 45-50 ล้านคน

“ผลกระทบต่อเศรษฐกิจของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาของเงิน เงื่อนไขโครงการฯ จำนวนผู้เข้าร่วมโครงการฯ และพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้รับสิทธิเป็นสำคัญ”

ทั้งนี้ โครงการดิจิทัลวอลเล็ตยังมีกระทบผลเชิงบวกที่ไม่สามารถคำนวณเป็นเม็ดเงินหรือเป็นตัวเลขได้ อาทิ การส่งเสริมและวางรากฐานของเศรษฐกิจดิจิทัล การลดความเหลื่อมล้ำ และการทำให้เกิดการกระจายตัวของรายได้จากเงื่อนไขการใช้งานในระดับอำเภอ

ทั้งนี้ เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะสามารถเติบโตได้ตามเป้า 3% จากมาตรการอื่นๆ ที่รัฐบาลจะเพิ่มเติมลงไป อาทิ สินเชื่อซอฟต์โลนออมสิน มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ มาตรการทางภาษีในการดึงดูดการลงทุน รวมทั้งการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ

อย่างไรก็ตาม ยังควรติดตามปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่างๆ ที่เริ่มรุนแรงมากขึ้น อาจเป็นข้อจำกัด และส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป เช่น สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างอิสราเอล และอิหร่านที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานให้ปรับตัวสูงขึ้น การแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีน และสหรัฐอเมริกา และความกังวลเรื่องข้อพิพาททะเลจีนใต้เกี่ยวกับการอ้างกรรมสิทธิ์หลังมีการซ้อมรบของกองทัพเรือจีน และรัสเซียในบริเวณดังกล่าว

ซึ่งผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา และทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยด้วย

นอกจากนี้ ความผันผวนของตลาดการเงินโลกจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้าหลักและปัญหาสถาบันการเงินในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป

ขณะเดียวกันปัจจัยภายในประเทศอย่างปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อาจส่งผลต่อการบั่นทอนการใช้จ่ายในระยะต่อไป

สำหรับปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในช่วงที่เหลือของปี 2567 ได้แก่

1.การใช้จ่ายภาครัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งรายจ่ายลงทุนที่ต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายในทุกหน่วยงาน

2. จำนวนนักท่องเที่ยว ต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้ประเทศ โดยเฉพาะในช่วง High Season

และ 3. การเร่งรัดการลงทุนของโครงการลงทุนที่ได้รับการอนุมัติ และออกบัตรส่งเสริมการลงทุนไปแล้ว ซึ่งสอดรับกับวิสัยทัศน์ 8 ด้านภายใต้กรอบนโยบาย Ignite Thailand ของรัฐบาล โดยการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางในหลายๆ ด้าน ด้วยการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ

โดยเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2567 กระทรวงการคลังได้จัดโครงการศูนย์กลางการเงิน (Financial Hub) ภายใต้หัวข้อ Ignite Finance: Thailand's Vision for a Global Financial Hub เพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็น ศูนย์กลางการเงินโลก ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไป การสนับสนุนประเด็นที่สำคัญเหล่านี้จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน และมั่นคง ก้าวสู่การเป็นผู้นำในเวทีระดับภูมิภาคในอนาคต