เศรษฐกิจเกาหลีใต้ ‘หดตัว’ 0.2% ในไตรมาส 2 กำลังซื้อภายในอ่อนแรง หนี้ผิดชำระพุ่ง

เศรษฐกิจเกาหลีใต้ ‘หดตัว’ 0.2% ในไตรมาส 2 กำลังซื้อภายในอ่อนแรง หนี้ผิดชำระพุ่ง

เศรษฐกิจเกาหลีใต้หดตัว 0.2% ในไตรมาสสองปีนี้ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน สาเหตุจากการชะลอตัวของการบริโภคภายใน ขณะที่การส่งออกยังคงขยายตัวดี

เว็บไซต์นิกเคอิ เอเชียรายงานว่า เศรษฐกิจของเกาหลีใต้ “หดตัวลง” ในไตรมาสที่สอง โดยเป็นการหดตัวลงในรอบหลายปี นับตั้งแต่ช่วงท้ายของการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ซึ่งเกิดจากรายได้ที่ลดลง ตามที่ธนาคารกลางเกาหลีใต้ประกาศเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา

ธนาคารกลางเกาหลีใต้ระบุในการประมาณการเบื้องต้นว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเกาหลีใต้หดตัวลงร้อยละ 0.2 ในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่รายได้ประชาชาติมวลรวมภายในซึ่งเป็นตัววัดค่าจ้างที่ได้รับ ลดลงร้อยละ 1.3

ในช่วงสามเดือนแรกของปีนี้ เศรษฐกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่งเกินคาดการณ์ที่ระดับร้อยละ 1.3 ซึ่งมากกว่าการขยายตัวร้อยละ 0.6 ในสามไตรมาสก่อนหน้านั้นถึงสองเท่า

ธนาคารกลางเกาหลีใต้ระบุว่า ในไตรมาสที่สอง การส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 โดยได้รับแรงหนุนจากการส่งออกรถยนต์และผลิตภัณฑ์เคมีที่แข็งแกร่ง ขณะเดียวกัน การบริโภคภาคเอกชนลดลงร้อยละ 0.2 ในขณะที่การบริโภคภาครัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7

การเติบโตทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ส่วนใหญ่มาจากการส่งออกผลิตภัณฑ์ไฮเทค กระทรวงการค้าประกาศเมื่อต้นเดือนนี้ว่า การส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2023 การส่งออกเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มขึ้นร้อยละ 52.2 ในขณะที่การส่งออกรถยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 โดยการส่งออกรถยนต์ไฮบริด เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.5

แม้ว่าการส่งออกจะคึกคัก แต่สภาพการณ์ในประเทศยังคงซบเซา สถาบัน Korea Development Institute กล่าวว่า “เนื่องจากสภาพแวดล้อมอัตราดอกเบี้ยที่สูงยังคงอยู่ ความต้องการภายในประเทศยังไม่แสดงสัญญาณฟื้นตัว”

“อัตราหนี้ผิดชำระกำลังเพิ่มขึ้น ในขณะที่ยอดขายปลีก การลงทุนอุปกรณ์ และการลงทุนก่อสร้างต่างก็ลดลง” Korea Development Institute กล่าว

ทั้งนี้ ผู้กำหนดนโยบายของเกาหลีใต้เผชิญกับปัญหาวิธีกระตุ้นการบริโภคให้สูงขึ้นมา ชาวเกาหลีใต้จำนวนมากประกอบอาชีพตนเอง และสภาพการณ์ของพวกเขากำลังแย่ลง ตามสถิติของรัฐบาล มีธุรกิจภายในประเทศ 987 แห่งยื่นล้มละลายในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจาก 724 แห่งในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และ 485 แห่งในปี 2019 ซึ่งเป็นปีก่อนเกิดการระบาดใหญ่

อ้างอิง: nikkei