ส่งออก มิ.ย.พลิกติดลบ 0.3% ผลกระทบจากสินค้าผลไม้เข้าสู่ช่วงท้ายของฤดูกาล
ส่งออก มิ.ย.พลิกติดลบ 0.3% ผลกระทบจากสินค้าผลไม้เข้าสู่ช่วงท้ายของฤดูกาล จึงมีผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง รวมส่งออกครึ่งแรกของปี 2567 ขยายตัวเพียง 2% คาดทั้งปีได้ตามเป้าหมาย 2%
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบาย และยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนมิ.ย.2567 มีมูลค่า 24,796.6 ล้านดอลลาร์ติดลบ 0.3 % กลับมาหดตัวเล็กน้อย ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 24,578.5 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 0.3 % เกินดุล 218.0 ล้านดอลลาร์
สำหรับการส่งออก มิ.ย.2567 กลับมาหดตัวเล็กน้อย สาเหตุหลักจากสินค้าผลไม้เข้าสู่ช่วงท้ายของฤดูกาล จึงมีผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ดุลการค้าไทยเกินดุลต่อเนื่อง 2 เดือน
ขณะที่บรรยากาศการค้าโลกเริ่มมีความวิตกกังวลต่อแนวโน้มการใช้มาตรการกีดกันทางการค้า ทั้งยังมีความไม่แน่นอนของผลการเลือกตั้งในหลายประเทศ
นอกจากนี้ ประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี อาทิ การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ยังส่งผลให้ความต้องการของเครื่องยนต์สันดาป หดตัวลงอย่างชัดเจน
ภาพรวมครึ่งแรกของปี 2567 การส่งออก มีมูลค่า 145,290.0 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 2.0 % เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 150,532.6 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 3.0 % ดุลการค้าครึ่งแรกของปี 2567 ขาดดุล 5,242.7 ล้านดอลลาร์ และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 3.1 %
สำหรับการส่งออกที่ลดลงมาจากการส่งออกสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมเกษตร หดตัว 3.3 % กลับมาหดตัวในรอบ 3 เดือน โดยสินค้าเกษตรหดตัว 2.2 % กลับมาหดตัวหลังจากขยายตัวในเดือนก่อนหน้า และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร หดตัว 4.8 % กลับมาหดตัวในรอบ 3 เดือน
โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ข้าว ไก่แปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง ผลไม้กระป๋อง และแปรรูป ไขมัน น้ำมันจากพืช และสัตว์ ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง น้ำตาลทราย เครื่องดื่ม และไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง ทั้งนี้ ครึ่งแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว 3.3%
ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 0.3 % โดยมีสินค้าที่สำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เครื่องจักรกล และส่วนประกอบ เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ และส่วนประกอบ ทั้งนี้ ครึ่งแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 2.0 %
สำหรับตลาดส่งออกไทยหดตัวเล็กน้อยตามความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า แต่การส่งออกไปหลายตลาดสำคัญยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยตลาดหลักหดตัว 1.3% ได้แก่ ตลาดจีน ติดลบ 12.3 % ญี่ปุ่น 12.3 % และอาเซียน (5) 2.0 % ส่วนตลาดที่ขยายตัวต่อเนื่องในตลาดสหรัฐ 5.4 % CLMV 7.6 % ตลาดสหภาพยุโรป (27) 7.9 % เอเชียใต้ 9.3 % ตะวันออกกลาง 16.1 % แอฟริกา 25.1 % ละตินอเมริกา 30.5 % ขณะที่ตลาดทวีปออสเตรเลีย ติดลบ 4.5 % รัสเซีย และกลุ่ม CIS 20.7 % และสหราชอาณาจักร 20.0 % ตลาดอื่นๆ 15.0 %
“การส่งออกในเดือนมิ.ย.ที่ติดลบ ปัจจัยหลักมาจากการส่งออกผลไม้ที่ลดลงแต่ในเดือนส.ค.คาดว่าการส่งออกไทยจะกลับมาเป็นบวกได้ “นายพูนพงษ์ กล่าว
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกในปี 2567 กระทรวงพาณิชย์คาดว่า การส่งออกของไทยในปี 2567 จะขยายตัวได้ตามเป้าหมาย คือ 2 % ซึ่งในช่วง 6 เดือนหลังของปีการส่งออกต้องได้เฉลี่ยเดือนละ 24,248 ล้านดอลลาร์ โดยมีปัจจัยบวกจากการส่งออกสินค้าเกษตร และอาหาร และการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลที่สนับสนุนความต้องการสินค้าที่เกี่ยวข้อง ขณะที่มีปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้งที่ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรออกสู่ตลาดลดลง ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงอยู่ สงครามกลางเมืองในหลายประเทศ ปัญหาค่าระวางเรือที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจของคู่ค้าบางประเทศฟื้นตัวได้ค่อนข้างล่าช้า รวมถึงการเลือกตั้งในหลายประเทศสร้างความไม่แน่นอนทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุน เพื่อรอท่าทีนโยบายของรัฐบาลใหม่
นายชัยชาญ กล่าวว่า ปัญหาค่าระวางเรือที่ปรับสูงขึ้นมากในช่วง 3 - 4 เดือนแรก การส่งมอบสินค้ามีความล่าช้า การขนส่งทางเรือต้องใช้เวลามากขึ้นจากปัญหาทะเลแดง แต่ภาพรวมการส่งออกในครึ่งปีแรกถือว่าทำได้ดี ขยายตัวถึง 2 % ซึ่งครึ่งปีที่เหลือก็คาดว่าน่าจะส่งออกได้เท่ากับครึ่งปีหลังของปี 2566 และจะได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยมีปัจจัยที่สำคัญคือ เงินบาทอ่อนค่า ค่าระวางเรือที่ไม่น่าจะปรับขึ้นสูงไปกว่านี้
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์