“ไทย”ถก“สหรัฐ”หนุนลงทุน-เบรกADโซลาร์เซลล์ แลกคุมสินค้าสองทางส่ออาวุธ
“สหรัฐ” มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยมูลค่า 27.36 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2566 คิดเป็นสัดส่วน25.95% ของ GDP โลก และมีรายได้ต่อหัวสูงถึง 81,695.2 ดอลลาร์ต่อปี
สำหรับประเทศไทย-สหรัฐคือ ตลาดส่งออกอันดับ 1 และเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทยรองจากจีนและยังมียอดคงค้างเงินลงทุนโดยตรงในไทยเป็นอันดับ 5
เมื่อเร็วๆนี้ โรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐ ประจำประเทศไทย และ กอนซาโล สวอเรซ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ประจำสำนักความมั่นคงปลอดภัยนานาชาติและการไม่แพร่ขยายอาวุธ เข้าพบ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
สาระสำคัญหลักๆคือ การผลักดันความสัมพันธ์ทางด้านการค้าและการลงทุนผ่านมาตรการควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (Weapons of Mass Destruction: WMD) รวมถึงสินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual-Use Items: DUI) ตอกย้ำไทยเร่งเดินหน้ามาตรการ Licensingตอบสนองต่อระเบียบการค้ายุคใหม่ที่คำนึงถึงความมั่นคงปลอดภัยของนานาชาติ
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจเรื่องที่สหรัฐร้องขอให้ไทยดำเนินการ ว่า สินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual-use items: DUI) คืออะไร ข้อมูลจาก เวบไซด์ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า คือสินค้าที่สามารถประยุกต์ใช้ได้ทั้งทางด้านพาณิชย์และทางทหาร ซึ่งเมื่อผู้ประกอบการขายสินค้าดังกล่าวไปแล้ว ปลายทางสามารถใช้สินค้านั้นเพื่อการค้าทั่วไป แต่อาจสามารถไปเกี่ยวข้องกับอาวุธเคมี อาวุธชีวภาพ หรืออาวุธนิวเคลียร์ได้ ซึ่ง DUI แทรกซึมอยู่ในหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้ง อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ การบิน อุปกรณ์ทางทะเล โทรคมนาคม เซ็นเซอร์และเลเซอร์
ตัวอย่างสินค้า DUI เช่น ตลับลูกปืน (Ball Bearings) ที่มักเป็นส่วนประกอบของเครื่องจักรภายในโรงงานอุตสาหกรรมหนัก หากอยู่ในมือของผู้ก่อการร้ายก็อาจใช้เป็นส่วนประกอบของอาวุธนิวเคลียร์ได้ เส้นใยคาร์บอน (Carbon Fiber) ที่โดยปกตินำไปผลิตเป็นอุปกรณ์กีฬาเช่น ไม้เทนนิส สามารถเป็นส่วนประกอบของเครื่องผลิตก๊าซหนีศูนย์ เชื้อโคโรนาไวรัส (Coronavirus) ก็เป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทางเช่นเดียวกัน เพราะสามารถเป็นวัคซีนหรือสามารถผลิตเป็นอาวุธชีวภาพได้
ภูมิธรรม เปิดเผยหลังการเข้าเยี่ยมคารวะของจากการหารือครั้งนี้ ว่า ผู้แทนสหรัฐ มีความห่วงกังวลในเรื่องการควบคุมรายการสินค้าที่มีความเสี่ยงที่จะถูกนำไปใช้เพื่อผลิตเป็นอาวุธที่คุกคามความมั่นคงปลอดภัยระหว่างประเทศโดยเฉพาะในรายการสินค้าที่มีความเสี่ยงสูง (Common High Priority List: CHPL)
“ได้ให้ความมั่นใจกับสหรัฐ ในฐานะพันธมิตรสำคัญว่า กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญกับการดำเนินการควบคุมกิจกรรมการส่งออกที่จะไม่ไปเกี่ยวข้องกับการแพร่ขยาย WMDตามข้อมติของนานาชาติ โดยเฉพาะมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 1540 และจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมศุลกากร และกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้ไทยเป็นประเทศทางผ่านสินค้าดังกล่าวตามกรอบของกฎหมาย”
อย่างไรก็ดี ในการกำหนดมาตรการ ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมของไทยร่วมด้วย ซึ่งขณะนี้ กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างดำเนินการใช้ระบบการออกใบอนุญาต (Licensing) และจะมีการทบทวนบัญชีรายการสินค้า DUI ให้มีความสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าของไทยถูกส่งผ่านไปยังปลายทางที่มีความเสี่ยง โดยจะนำร่องด้วยสินค้ากลุ่มนิวเคลียร์ในระยะแรก คาดว่าจะเริ่มมีผลใช้บังคับกลางปี 2568
นอกจากนี้ ฝ่ายไทยได้หยิบยกเรื่องที่ไทยให้ความสำคัญมากคือกรณีสหรัฐ เปิดไต่สวนและใช้มาตรการเยียวยาทางการค้า (AD และ CVD) กับประเทศต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทย ในสินค้าเซลล์แสงอาทิตย์ ซึ่งมาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจและการลงทุนจากต่างประเทศ โดยได้ย้ำว่าได้แจ้งความกังวลเรื่องที่มีการปนสินค้าขยะอันตราย (ขยะเทศบาล) มากับสินค้าประเภทอื่น จากสหรัฐ มายังไทย โดยขอให้แจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยควบคุมด้วย ซึ่งเอกอัครราชทูตสหรัฐ ยินดีประสานงานต่อไป
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า มาตรการทางการค้าและการลงทุนที่มีอยู่เดิมอาจไม่เพียงพอในโลกการค้าปัจจุบัน โดยเฉพาะประเด็นด้านความมั่นคงและสันติสุขของโลก มาตรการควบคุมสินค้า DUI ถือเป็นมาตรการใหม่ ในประเทศไทยที่ภาคเอกชนไทยควรให้ความสำคัญและตอบสนองด้วยการดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง เพื่อให้นักลงทุนมีความมั่นใจว่าไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าและเทคโนโลยีขั้นสูงที่มีความปลอดภัย ปราศจากการก่อการร้ายหรือการแพร่ขยาย WMD
รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์แจ้งว่า นโยบายของประธานาธิบดีไบเดนเพื่อกระตุ้นการผลิตและการใช้พลังงานสะอาดในสหรัฐตามกฎหมายลดอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Reduction Act: IRA) ผลจากกฎหมายนี้ทำให้ตั้งแต่ประธานาธิบดีไบเดนเข้ารับตำแหน่ง บริษัทในอุตสาหกรรมแผงโซลาร์เซลล์ประกาศการลงทุนกว่า 17,000 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นปริมาณพลังงานกว่า 335 กิกะวัตต์ หรือเท่ากับการจ่ายไฟให้กับ 18 ล้านครัวเรือน
“ ชาวอเมริกันมีพลังงานแสงอาทิตย์ใช้เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัวหลังจากประธานาธิบดีดำรงตำแหน่ง โดยมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์สูงสุดในปี 2566 อยู่ที่ 32.4 กิกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า50% จากปี 2565”
อย่างไรก็ตาม พบว่าแผงโซลาร์เซลล์ส่วนใหญ่มาจากประเทศจีน สหรัฐจึงต้องนำมาตรการทางภาษีภายใต้มาตรา 301 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการค้า ปี 2517 (Trade Act of 1974) มาใช้เพื่อปกป้องแรงงานและธุรกิจของชาวอเมริกัน โดยขึ้นภาษีนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์จากจีนจากอัตรา 25% เป็น 50%
เพื่อไม่ให้สินค้าขาดตลาดในเดือนมิ.ย. 2565 ประธานาธิบดีไบเดนประกาศยกเว้นภาษีนำเข้าของแผงโซลาร์เซลล์จากประเทศกัมพูชา มาเลเซีย ไทย และเวียดนามเพื่อรองรับความต้องการของแผงโซลาร์เซลล์ในสหรัฐ เนื่องจากสหรัฐ อยู่ในระหว่างการเพิ่มกำลังการผลิต อย่างไรก็ดี มาตรการยกเว้นภาษีนำเข้ากำลังจะหมดอายุในวันที่ 6 มิ.ย. 2567 ประกอบกับสหรัฐพบว่าบริษัทผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์จากประเทศจีนได้หลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนและมาตรการตอบโต้ทางภาษี โดยได้มีการประกอบแผงโซลาร์เซลล์ใน 4 ประเทศอาเซียนที่สหรัฐ ประกาศยกเว้นภาษี ทำให้ไทยและอีก 3 ประเทศในอาเซียนจึงเสี่ยงได้รับผลกระทบจากมาตรการทางการค้าจากสหรัฐด้วย
ดังนั้นหากสหรัฐต้องการให้ไทยกำหนดมาตรการเข้มข้นมากขึ้นเรื่องการดูแลสินค้าDUI สหรัฐก็ต้องดูแลเรื่องมาตรการตอบโต้การค้าแผงโซลาร์เซลล์จากไทยให้ได้รับความเป็นธรรมด้วย
“เหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก รวมทั้งความตึงเครียดระดับภูมิภาคเกิดจากหลายปัจจัย จนนำไปสู่สถานการณ์ความขัดแย้งที่รุนแรง ส่งผลต่อเศรษฐกิจและการค้าในหลายประเทศรวมถึงไทย ถึงเวลาแล้วที่ไทยจำเป็นต้องยกระดับมาตรการควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (Weapons of Mass Destruction: WMD)และสินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual-Use Items: DUI) ให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันสินค้าในทางพาณิชย์นำไปถูกปรับเปลี่ยนใช้ในการทำลายล้าง โดยเฉพาะในส่วนการสู้รบหรือก่อความไม่สงบในภูมิภาค”
ปัจจุบันประเทศไทยมีพระราชบัญญัติการควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. 2562 เป็นกฎหมายเฉพาะในการกำกับดูแลสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายWMD และสินค้า DUI ซึ่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวได้ให้อำนาจกระทรวงพาณิชย์ในการพิจารณากำหนดมาตรการเพื่อการกำกับดูแลอย่างครบถ้วน
ประกอบด้วย 1.มาตรการอนุญาต (Licensing) 2.มาตรการรับรองตนเอง (Self-Certification)และ 3.มาตรการอื่นใด ซึ่งกระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าต่างประเทศ ได้อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. ดังกล่าวออกอนุบัญญัติกำหนดมาตรการอื่นใดเพื่อควบคุมสินค้าDUI
ประกอบด้วย 1.มาตรการ End-use End-User Control:EUEUC ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง มาตรการเพื่อประโยชน์ในการควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงและมาตรการเกี่ยวกับสินค้าที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการใช้สุดท้ายหรือผู้ใช้สุดท้ายที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. 2564
2.มาตรการการรับรองระบบงานควบคุมสินค้าภายในองค์กร (Internal Compliance Program: ICP) ตามประกาศกรมการค้าต่างประเทศ เรื่องหลักเกณฑ์การรับรองระบบงานควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. 2564
“อย่างไรก็ดี ไทยยังไม่ได้บังคับใช้มาตรการออกใบอนุญาต (Licensing) สำหรับสินค้า DUI ซึ่งถือเป็นมาตรการหลักสำคัญของ พ.ร.บ. ดังกล่าว เนื่องจากในช่วงเวลาก่อนหน้านี้ เป็นช่วงการใช้มาตรการสมัครใจ”
โดย ไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการนำมาตรการ Licensing มาบังคับใช้ เนื่องจากเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพสูง ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศโดยเฉพาะประเทศคู่ค้าและการลงทุนสำคัญของไทย เช่น สหรัฐ สหภาพยุโรปญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง และออสเตรเลีย เป็นต้น ซึ่งการใช้มาตรการLicensing ยังจะช่วยส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมายังไทย (Foreign Direct Investment: FDI) โดยเฉพาะในกลุ่มเทคโนโลยีขั้นสูง