“ส่งออกข้าว” มิ.ย.มูลค่าโตเฉียด100% “อินโดนีเซีย”หนุนปริมาณทะลุล้านตัน

“ส่งออกข้าว” มิ.ย.มูลค่าโตเฉียด100% “อินโดนีเซีย”หนุนปริมาณทะลุล้านตัน

ท่ามกลางสถานการณ์ส่งออกปี 2567 ที่อยู่ในภาวะทรุดตัวอย่างต่อเนื่อง แต่สินค้าที่เติบโตโดดเด่นสวนทางภาพรวมการส่งออกนั่นคือ “ข้าว”

"ข้าว"เป็นสินค้าที่มีแหล่งผลิตในประเทศทั้งหมด มีผู้ผลิต หรือ ชาวนาที่เป็นประชากรประเทศเกือบหนึ่งในสาม ทำให้การเติบโตของสินค้าข้าวกำลังสะท้อนสถานการณ์ภาคการเกษตรไทย 

พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกข้าวเดือนมิ.ย.2567 ปริมาณ 1,022,552 ตัน เพิ่มขึ้น 78.7% เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (yoy)มูลค่า  644 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 96.6% ขณะที่การส่งออกครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ปริมาณ 5,080,263 ตัน เพิ่มขึ้น 25% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน(AoA)มูลค่า 3,303 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 48.1%  

ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า สาเหตุที่การส่งออกข้าวเดือนมิ.ย.มีปริมาณสูงมากกว่า 1 ล้านตันเป็นผลจากที่อินโดนีเซียนำเข้าข้าวจากไทยปริมาณที่สูงซึ่งเป็นไปตามแผนของรัฐบาลอินโดนีเซียที่มีอยู่แล้ว เพื่อรักษาความมั่นคงด้านอาหารในประเทศ 

อย่างไรก็ตาม ในครึ่งปีหลังคาดว่าสถานการณ์ส่งออกข้าวยังต้องระมัดระวังหากอินเดียกลับมายกเลิกการห้ามส่งออกข้าวขาวก็จะทำให้ซัพพลายในตลาดล้นและกระทบการส่งออกข้าวของไทยได้ เบื้องต้นประเมินว่าอินเดียอาจกลับมาส่งออกข้าวอีกครั้งเพื่อมีปริมาณผลผลิตรวม 5-6 ล้านตันและสต๊อกข้าวก็มีเพียงพอที่จะรักษาระดับราคาในประเทศไม่ให้สูงจนเกินไปแล้วทำให้สามารถกลับมาส่งออกข้าวได้อีกครั้ง

สำหรับผลผลิตฤดูกาลใหม่ที่จะออกสู่ตลาด ปลายปีนี้ อาจต้องเผชิญกับความยากลำบากทั้งปริมาณผลผลิตที่น่าจะมีมากจากสภาพอากาศและฝนตกดีและต่อเนื่อง  และปัจจัยซัพพลายในตลาดโลก ทำให้ต้องจับตาราคาข้าวในประเทศอย่างใกล้ชิด แต่สิ่งที่ต้องดำเนินการคือการลงมือทำวิจัยเพื่อให้ผลผลิตต่อไร่ของข้าวไทยเพิ่มขึ้นเพื่อทำให้ชาวนามีราคาที่ดีขึ้นเท่ียบต่อไร่ แทนที่จะสร้างรายได้ให้ชาวนาจากราคาต่อตัน ซึ่งอาจกระทบต่อขีดความสามารถการแข่งขันการส่งออกข้าวของไทย และทำให้ชาวนาต้องทำนาบนพื้นฐานต้นทุนที่สูงไม่สามารถแข่งขันกับเวียดนามได้ เพราะผลผลิตข้าวไทยเฉลี่ยไร่ละ 400กิโลกรัม (กก.)ขณะที่เวียดนาม ผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ 900 กก.

“ราคาข้าวไทยยังถือว่าสูงกว่าคู่แข่ง เช่นเวียดนามที่ต่ำกว่าไทย 20-30 ดอลลาร์ต่อตัน ทำให้เวียดนามยังเป็นคู่แข่งสำคัญแต่ขณะนี้ดีมานด์ในตลาดยังสูง หลายประเทศต้องการเติมสต๊อกให้เต็ม เช่น อินโดนีเซีย แต่จากนี้ไป สภาพอากาศแห้งแล้งที่เคยคาดว่าจะเกิดขึ้น ก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นแล้วทำให้ความต้องการจะลดลงสวนทางกับปริมาณผลผลิตที่มีแต่จะเพิ่มขึ้น”

สำหรับคาดการณ์ส่งออกทั้งปี 2567 เบื้องต้นคงเป้าหมาย 7.5 ล้านตันไว้ก่อน แม้ว่าครึ่งปีแรกไทยจะส่งออกข้าวได้มากกว่า 5 ล้านตันแล้ว และยังเหลือเวลาอีก 6 เดือนก็ตาม 

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์แจ้งว่า ตามที่กรมการค้าต่างประเทศ เจรจาซื้อขายข้าวกับอินโดนีเซีย ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ เมื่อปลายปี 2566 ซึ่งรัฐบาลไทยและรัฐบาลอินโดนีเซีย ตกลงซื้อขายข้าวล็อตแรก ปริมาณ 55,000 ตัน โดยจะเริ่มส่งมอบตั้งแต่เดือน เม.ย.2567 เป็นต้นไป

สำหรับอินโดนีเซียเป็นผู้นำเข้าข้าวอันดับหนึ่งของไทย นำเข้าข้าวขาว 5% แล้วประมาณ 1 ล้านตัน จากที่รัฐบาลอินโดนีเซียประกาศจะมีการนำเข้าข้าวปี2567 ปริมาณ  3.6 ล้านตัน โดยส่วนใหญ่นำเข้าจากเวียดนามและไทย ซึ่ง หน่วยงานกํากับดูแลและควบคุมปริมาณและราคาข้าว (BULOG) ของอินโดนีเซียเปิดประมูลนำเข้าข้าวเกือบทุกเดือน เฉลี่ยเดือนละประมาณ 3 แสนตัน โดยพิจารณาจากราคาเป็นเกณฑ์หลัก โดยในช่วงก่อนหน้านี้ซื้อแบบรัฐต่อรัฐ (G to G)แต่ปัจจุบันเป็นการซื้อแบบรัฐกับเอกชน (G to P) เพื่อความสะดวกในขั้นตอนการดำเนินการการ ทำให้คาดว่าปีนี้อินโดนีเซียอาจนำเข้าข้าวจากไทยปริมาณรวม 1.5 ล้านตัน และส่งให้ไทยสามารถส่งออกข้าวปี 2567 ได้มากถึง 8 ล้านตัน จากเป้าหมายที่ตั้งไว้เมื่อต้นปี ที่ 7.5 ล้านตัน

รายงานข่าวจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า การผลิต ข้าวนาปี ปี 2567/68 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมิ.ย. 2567 มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.123 ล้านไร่ ผลผลิต 27.035 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 435 กก.

โดยเนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าจะลดลง เนื่องจากเกษตรกร มีแนวโน้มที่จะปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เช่น อ้อยโรงงาน หรือมันสำปะหลัง สำหรับผลผลิตและผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ ณ เดือนพ.ค. 2567 ว่าปรากฎการณ์เอลนีโญเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะเป็นกลางในช่วงเดือนพ.ค.ถึงมิ.ย. 2567 หลังจากนั้นมีความน่าจะเป็น 49% ที่จะเข้าสู่สภาวะลานีญาในช่วงเดือนมิ.ย.ถึงส.ค. 2567 ส่งผลให้คาดว่าจะมีปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว และจะไม่กระทบแล้งและประสบอุทกภัยเหมือนปีที่แล้ว ประกอบกับเกษตรกรมีการดูแลรักษาผลผลิตดีขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศเพิ่มขึ้น

ส่วนคาดการณ์ผลผลิตออกสู่ตลาดช่วงเดือนก.ค. 2567 - พ.ค. 2568 โดยคาดว่าผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุดในเดือนพ.ย. 2567 ปริมาณ 17.668 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็น 65.34% ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด 

สำหรับข้าวนาปรัง ปี 2567 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมิ.ย. 2567 มีเนื้อที่เพาะปลูก 9.671 ล้านไร่ ผลผลิต 6.217 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 643 กิโลกรัม 

ทั้งเนื้อที่เพาะปลูก ผลผลิต และผลผลิตต่อไร่ลดลงจาก ปี 2566 โดยเนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าลดลง เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเข้าสู่ภาวะเอลนีโญ ทำให้ฝนมาล่าช้า ฝนทิ้งช่วง ปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปีที่แล้ว ส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติน้อยกว่าปีที่แล้ว ประกอบกับทางภาครัฐขอความร่วมมือให้ลดการเพาะปลูกข้าวนาปรัง 

นอกจากนี้ ต้นทุนการผลิตยังคงอยู่ในเกณฑ์สูง อาทิ ปุ๋ยเคมี น้ำมันเชื้อเพลิง เกษตรกรบางรายจึงปล่อยพื้นที่ว่างหรือปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน ส่วนผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลง เนื่องจากสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้ง ปริมาณน้ำไม่เพียงพอ และในบางพื้นที่ประสบปัญหาโรคขอบใบแห้ง ทำให้ต้นข้าวเจริญเติบโตไม่ดี เมล็ดข้าวไม่สมบูรณ์

คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนก.พ.-ต.ค. 2567 โดยเดือนก.ค. 2567 ผลผลิตออกสู่ตลาด ปริมาณ 0.177 ล้านตันข้าวเปลือก คิดเป็น 2.84% ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด และคาดว่าเหลือผลผลิตในช่วงเดือนส.ค.-ต.ค. 2567 อีก 0.036 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็น 0.58% ของผลผลิต ข้าวนาปรังทั้งหมด

ด้านราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้(15-21 ก.ค. 2567)เฉลี่ยตันละ 15,003 บาท ราคาลดลงจากตันละ 15,005 บาท ในสัปดาห์ก่อน ส่วนข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 11,029 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,037 บาท ในสัปดาห์ก่อน

ราคาส่งออกเอฟโอบี (Free On Board)คือเงื่อนไขการส่งมอบสินค้าที่ผู้ขายจะสิ้นสุดภาระการส่งมอบเมื่อสินค้าวางบนเรือที่ท่าเรือต้นทาง  สำหรับข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 913 ดอลลาร์  หรื  32,731 บาท/ตัน ราคาสูงขึ้นจากตันละ 901 ดอลลาร์หรือ 32,520 บาท/ตัน ในสัปดาห์ก่อน หรือสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 211 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 584 ดอลลาร์ ราคาลดลงจากตันละ 590 ดอลลาร์ ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 359 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 587 ดอลลาร์ ราคาสูงขึ้นจากตันละ 584 ดอลลาร์ ในสัปดาห์ก่อน แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 34 บาท

คาดการณ์สถานการณ์ข้าวโลก ด้านการผลิต ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2567/68 ณ เดือนก.ค. 2567 ผลผลิต 528.173 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก 520.874 ล้านตันข้าวสาร ในปี 2566/67 หรือเพิ่มขึ้น1.40%  ทั้งนี้ประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ อินเดีย กัมพูชา บราซิล อุรุกวัย ปารากวัย อาร์เจนตินา สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย และสหรัฐ 

ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ ไทย เวียดนาม ปากีสถาน เมียนมา จีน กายานา และตุรกี ขณะที่ประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ เวียดนาม ซาอุดิอาระเบีย เซเนกัล ไอเวอรี่โคสต์ แอฟริกาใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เม็กซิโก โมซัมบิก สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น โซมาเลีย และสหรัฐ  ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ อิรัก จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย บราซิล เคนยา และคาเมรูน 

     สุดท้ายที่จะเป็นอีกปัจจัยชี้ขาดคาดการณ์ส่งออกข้าวคือ ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน อินเดีย ไทย เวียดนาม บังกลาเทศ และสหรัฐ ส่วนประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์