‘คลัง’ คิดหนักหั่นภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ‘พิชัย’ ห่วงกระทบจัดเก็บรายได้รัฐ 

‘คลัง’ คิดหนักหั่นภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ‘พิชัย’ ห่วงกระทบจัดเก็บรายได้รัฐ 

การตรึงเพดานราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไว้ที่ 33 บาทต่อลิตรจะสิ้นสุดลงวันที่ 31 ต.ค.67 ตามมติ ครม.ล่าสุด โดยกระทรวงพลังงานมีแนวคิดแก้กฎหมายกำหนดราคาน้ำมัน แต่ระยะสั้นจะหารือกระทรวงการคลังเข้ามาช่วยลดภาษีสรรพสามิตดีเซลชั่วคราว

KEY

POINTS

  • น้ำมันดีเซลเป็นต้นทุนสำคัญของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม เพราะใช้ในภาคการผลิตและขนส่ง หากราคาเพิ่มจะกระทบต่อเศรษฐกิจ
  • ปัจจุบันรัฐใช้กองทุนน้ำมันฯเป็นกลไกในการบริหารราคาน้ำมันในประเทศ แต่ปัจจุบันกองทุนฯ มีสถานะติดลบกว่า 1 แสนล้าน
  • การตรึงเพดานราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไว้ที่ 33 บาทต่อลิตรจะสิ้นสุดลงวันที่ 31 ต.ค.67 ตามมติ ครม.ล่าสุด
  • กระทรวงพลังงานมีแนวคิดแก้กฎหมายกำหนดราคาน้ำมัน แต่ระยะสั้นจะหารือกระทรวงการคลังเข้ามาช่วยลดภาษีสรรพสามิตดีเซลชั่วคราว
  • การลดภาษีสรรพสามิตส่วนนี้กระทรวงการคลังกังวลว่าจะกระทบการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ

ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ซึ่งภาครัฐได้เข้าช่วยดูแลราคาน้ำมันโดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซลซึ่งเป็นถือต้นทุนสำคัญในการผลิตสินค้าและการขนส่ง โดยมีแนวทางอยู่หลักๆ 2 แนวทางคือ 1.การใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการอุดหนุนราคาน้ำมันและ 2.การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเพื่อให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลลดลง

ที่ผ่านมารัฐบาลใช้กลไกการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลโดยใช้มติคณะรัฐมตรี (ครม.) ในการลดภาษีทุกๆ 3 เดือน โดยครั้งล่าสุด ครม.มีมติให้ปรับลดภาษีลงประมาณ 1 บาท/ลิตร เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ 20 มกราคม 2567 - 19 เมษายน 2567

อย่างไรก็ตาม เมื่อสิ้นสุดมาตรการเมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังไม่ได้ต่อมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล โดยรัฐบาลขอให้กระทรวงพลังงานใช้แนวทางการบริหารจัดการเงินในกองทุนฯ น้ำมันแทน 

หนี้กองทุนน้ำมันทะลุ 1 แสนล้าน

กระทรวงพลังงานได้มีการขยับเพดานของราคาน้ำมันดีเซลขึ้นมาเรื่อยๆ จากไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร มาเป็นไม่เกิน 33 บาทต่อลิตรในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามที่ประชุม ครม.รับทราบว่าการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 33 บาทต่อลิตร จะทำได้จนถึงวันที่ 31 ต.ค.2567 โดยเหตุผลสำคัญคือสถานะของกองทุนน้ำมันฯนั้นมีภาระหนี้สะสมจากการอุดหนุนราคาพลังงานสูงกว่า 1 แสนล้านบาท 

‘พลังงาน’ หวัง ‘คลัง’ ช่วยหั่นภาษีฯ ลดดีเซล

ในการแถลงข่าวล่าสุดของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน ยอมรับว่าการแก้ปัญหาราคาน้ำมันในระยะต่อไปต้องแก้ไขกฎหมายเพื่อให้อำนาจกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและกระทรวงพลังงานกำหนดราคาน้ำมันได้ ซึ่งรวมถึงการกำหนดอัตราภาษีและเงินที่จะนำส่งเข้าสู่กองทุนน้ำมันฯได้ซึ่งการแก้ไขกฎหมายอยู่ระหว่างการจัดทำร่างกฎหมายเพื่อเสนอต่อที่รัฐสภาฯแต่ในระยะสั้นก็ยังคงจำเป็นที่จะต้องขอให้กระทรวงการคลังพิจารณาลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงเพื่อไม่ให้กองทุนน้ำมันฯต้องมีหนี้สินเพิ่มขึ้นจนบริหารจัดการไม่ได้

อย่างไรก็ตามหากต้องมีการลดภาษีสรรพสามิตเพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันดีเซลก็จะส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐเพราะภาษีสรรพสามิตน้ำมันถือว่าเป็นรายได้ที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งของรัฐบาลเช่นกัน

ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันกระทบจัดเก็บรายได้ 2.8 หมื่นล้าน 

รายงานจากกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนโดยการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันทำให้สรรพสามิตสูญเสียรายได้ในปีงบประมาณ 2567 รวมกว่า 28,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีนโยบายในการใช้กลไกลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเพื่อช่วยพยุงราคาน้ำมันดีเซลที่ 33 บาทต่อลิตร

ทั้งนี้ ผลการจัดเก็บรายได้ในช่วง 9 เดือนของปีงบประมาณ 2567 (เดือน ต.ค.2566-มิ.ย. 2567) อยู่ที่ 394,000 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 12.3% แต่ต่ำกว่าประมาณการ เนื่องจาก 3 สาเหตุหลัก ได้แก่ 1.การลดภาษีน้ำมัน สูญเสียรายได้ 28,000 ล้านบาท 

2. ภาษีรถยนต์ สูญเสียรายได้ราว 25,000 ล้านบาท เนื่องจากมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ทำให้รถอีวีเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ในประเทศถึง 10% ขณะเดียวกันตลาดรถยนต์ในประเทศยังอยู่ในสภาวะหดตัวจากการคุมเข้มในการปล่อนสินเชื่อ และ3.การจัดเก็บภาษียาสูบลดลง 8,000 ล้านบาท เนื่องจากความต้องการสินค้าลดลงจากการมีสินค้าทดแทนโดยตรงของบุหรี่ไฟฟ้า

“พิชัย” หวั่นกระทบจัดเก็บรายได้ระยะยาว

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณีที่กระทรวงพลังงานเสนอการร่างกฎหมายใหม่และจะยกเลิกพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 ว่า เรื่องโครงสร้างภาษีน้ำมันจำเป็นต้องมีการทบทวนในภาพรวมใหม่ หากคาดการณ์ว่าในอีก 30 ปีข้างหน้าจะเลิกใช้น้ำมัน แล้วรัฐจะเก็บภาษีที่ไหน จะเก็บภาษีจากอะไรแทน แล้วรัฐบาลจะอยู่ได้อย่างไร เพราะฉะนั้นเรื่องนี้จะต้องเป็นเรื่องที่คิดไปข้างหน้า

นายพิชัย กล่าวว่า น้ำมันเป็นสินค้าจำเป็นและมีความต้องการใช้ ซึ่งไทยจะต้องนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศกว่า 90% ในรูปน้ำมันดิบแะน้ำมันสำเร็จรูป นอกจากนี้น้ำมันยังเป็นสินค้าที่มีความอ่อนไหวและมีราคาที่ผันผวนสูง (Votality) ตามสภาวะเศรษฐกิจ การเมือง และข่าวลือ ซึ่งเป็นตัวแปรที่ไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้นการจัดตั้งกองทุนน้ำมันจึงมีความจำเป็นในการรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันในประเทศไม่ให้ต่ำเกินไปหรือสูงเกินไป และเพื่อให้แน่ใจว่ามีน้ำมันเพียงพอต่อความต้องการใช้

“ในช่วงที่ราคาน้ำมันตลาดโลกต่ำลงกว่าระดับราคาที่ยอมรับได้ ก็เป็นช่วงที่สามารถเก็บภาษีและเก็บเงินเข้ากองทุน เมื่อราคาน้ำมันเกินก็ล้วงเงินจากกองทุนมาจ่ายแทน ซึ่งปัจจุบันเก็บภาษีสรรพสามิต 5.99 บาทต่อลิตร บวกค่าการตลาดและภาษีมูลค่าเพิ่มก็จะอยู่ที่ 6 บาทกว่าต่อลิตร”

ต้องจับตาต่อไปว่าในที่สุดรัฐบาลจะใช้กลไกใดในการเข้ามาดูแลราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศโดยเฉพาะราคาดีเซลต่อไป หากกองทุนน้ำมันฯ ไม่สามารถเข้ามารับภาระในส่วนนี้ได้การลดภาษีก็เป็นแนวทางที่เคยทำมาก่อน 

อย่างไรก็ดี รัฐบาลเองก็มีความจำเป็นในการจัดเก็บรายได้ภาษีส่วนนี้มาเป็นรายได้ภาครัฐจึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่กระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานต้องหารือกันในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด