มรดกหนี้ 3 แสนล้าน วัดฝีมือ 'ผู้ว่าการรถไฟ' คนใหม่

มรดกหนี้ 3 แสนล้าน วัดฝีมือ 'ผู้ว่าการรถไฟ' คนใหม่

การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)อีกประมาณ 1 เดือนนับจากนี้ กำลังจะก้าวเข้าสู่ยุคเปลี่ยนถ่าย มีผู้บริหารองค์กรคนใหม่จากบุคคลภายนอกเข้ามาบริหารเช่นเคย

หลังจากคณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการรถไฟฯ ได้เสนอผลการพิจารณาผู้เหมาะสมเข้ามาดำรงตำแหน่ง จากผู้สมัคร 2 รายเข้ารอบแสดงวิสัยทัศน์ ผลปรากฎว่า “วีริศ อัมระปาล” ปัจจุบันเป็นผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) คือ ผู้มีคะแนนคัดเลือกสูงสุด

โดยกระบวนการหลังจากนี้ จะเข้าสู่ขั้นตอนเจรจาผลตอบแทน ก่อนเสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติโดยละเอียด หากพบว่าไม่มีคุณสมบัติขัดต่อข้อกำหนด ก็จะเสนอมายังการรถไฟฯ เพื่อรายงานผลไปกระทรวงคมนาคม และนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งกระบวนการเหล่านี้คาดว่าจะใช้เวลาราว 1 เดือน ดังนั้น ผู้ว่าการรถไฟฯ คนใหม่น่าจะได้ลงนามสัญญาจ้างต้นเดือน ก.ย.นี้

อย่างไรก็ดี โจทย์หินของการขับเคลื่อนการรถไฟฯ วันนี้ยังปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจที่น่าเป็นห่วง เพราะมีผลการดำเนินงานขาดทุนอย่างต่อเนื่องปัจจุบันยังมีหนี้สะสมสูงระดับ 3 แสนล้านบาท และยังมีแผนกู้เงินเพื่อใช้ในการดำเนินงาน ประจำปีงบประมาณ 2568 วงเงิน 18,000 ล้านบาท เนื่องจากการจัดทำงบประมาณปี 2568 พบว่าจะขาดกระแสเงินสด และผลประกอบการไม่เพียงพอกับรายจ่าย จึงมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง

ขณะเดียวกัน การรถไฟฯ ประมาณการกระแสเงินสด ในปีงบประมาณ 2568 คาดว่าจะมีเงินสดรับจำนวน 39,856 ล้านบาท และเงินสดจ่ายจำนวน 57,956 ล้านบาท โดยในส่วนนี้คาดว่าจะมีรายรับรวมจำนวน 10,881 ล้านบาท ขณะที่ประมาณการค่าใช้จ่าย คาดว่าจะเกิดขึ้นรวม 23,541 ล้านบาท ซึ่งในปีงบประมาณดังกล่าว การรถไฟฯ ยังคงมีภาระในการชำระดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายเงินกู้ จำนวนสูงกว่า 6,293 ล้านบาท

จากปัญหาสภาพคล่องทางการเงินที่เกิดขึ้นนั้น ต้องยอมรับว่าวันนี้คงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับการแก้ไขปัญหา และเปลี่ยนผ่านองค์กรการรถไฟฯ ที่มีอายุ 127 ปี ปรับโฉมแบบฉับไว แต่หนึ่งโจทย์หินสำคัญที่ “ผู้ว่ารถไฟ” ต้องเร่งเข้ามาสางปัญหา คือ อุดรอยรั่วขาดทุนสะสม และเร่งหารายได้เพื่อเสริมสภาพคล่อง ขับเคลื่อนแผนฟื้นฟูการรถไฟฯ ให้เห็นเป็นรูปธรรม

เนื่องจากในยุคที่ผ่านมา แผนฟื้นฟูการรถไฟฯ อยู่ในช่วงทบทวนแผนเพื่อกำหนดการดำเนินงานในปี 2566 – 2570 ซึ่งเป้าหมายของแผนดังกล่าวมี 6 กลยุทธ์ “มุ่งสู่การเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มการเชื่อมต่อและการขนส่งที่มุ่งตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย” ทั้งพลิกฟื้นธุรกิจหลัก ปรับรูปแบบธุรกิจสู่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มระบบราง และพัฒนาสร้างรายได้นอกเหนือการขนส่งระบบราง (Non-core Business Enhancement)

ทั้งนี้ เมื่อก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านผู้นำองค์กร ถึงคงเวลาจุดพลุนำแผนฟื้นฟูไปสู่การปฏิบัติ โดยดัชนีชี้วัด 4 ปีหลังจากนี้ หนีไม่พ้นเป้าหมายของการฟื้นฟูองค์กรการรถไฟฯ มุ่งให้ EBITDA เป็นบวก มีความสามารถในการชำระหนี้ ลดผลขาดทุนสะสม และองค์กรอยู่ได้ โดยไม่เพิ่มภาระเงินกู้