'ครม.'ไฟเขียวเอกชนเดินหน้าท่าเรือแหลมฉบัง A0 ต่อเนื่องตามสัญญาถึงปี 77
'ครม.' ไฟเขียวแนวทางการดำเนินการที่เหมาะสมของโครงการท่าเทียบเรือ เอ o ท่าเรือแหลมแหลมฉบัง โดยการให้มีสัญญามีผลใช้บังคับอย่างต่อเนื่องตามสัญญาเดิมที่มีถึงปี 2577
นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (30 กรกฎาคม 2567) มีมติให้ความเห็นชอบแนวทางการดำเนินการที่เหมาะสมของโครงการท่าเทียบเรือ เอ o ท่าเรือแหลมแหลมฉบัง โดยการให้มีสัญญามีผลใช้บังคับต่อไป ตามรายงานผลการศึกษาวิเคราะห์ด้านการเงินและด้านกฎหมายตามที่คณะกรรมการพิจารณากำหนดแนวทางการดำเนินโครงการลงทุนบริหารและประกอบการท่าเทียบเรือ เอ o และท่าเรือแหลมฉบังเสนอ ตามที่ กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เดิมคณะรัฐมนตรีมีมติ (10 สิงหาคม 2553) มอบหมายให้ คค. ตรวจสอบความถูกต้องและครบถ้วนในการดำเนินการตามกฎหมายของโครงการท่าเทียบเรือและหากพบว่าโครงการใดมีมูลค่าโครงการเกินกว่า 1,000 ล้านบาทให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ซึ่งต่อมา คค. ตรวจสอบแล้วพบว่า โครงการท่าเทียบเรือ เอ o ท่าเรือแหลมแหลมฉบัง เป็นโครงการที่การท่าเรือประเทศไทย (กทท.) ทำสัญญาลงทุน บริหาร และประกอบการท่าเทียบเรือ เอ o (สัญญาลงทุนฯ) กับบริษัท แอล ซี เอ็ม ที จำกัด (บริษัทฯ)
โดยมีกำหนดระยะเวลา 30 ปี เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2547 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2577 และเป็นโครงการท่าเทียบเรือที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท จึงต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 (ที่ใช้บังคับในขณะนั้น)
ซึ่งมาตรา 72 บัญญัติให้ในกรณีที่ปรากฏว่าโครงการใดต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 แต่มิได้ดำเนินการหรือดำเนินการไม่ถูกต้องหรือครบถ้วนในขั้นตอนใดให้รัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดแต่งตั้งคณะกรรมการคณะหนึ่ง เพื่อพิจารณากำหนดแนวทางการดำเนินการที่เหมาะสม ซึ่งรวมถึงการยกเลิก การแก้ไขสัญญา และการให้สัญญามีผลใช้บังคับต่อไป
ดังนั้น กทท. จึงว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อจัดทำรายงานวิเคราะห์ด้านกฎหมายและด้านการเงินของโครงการดังกล่าว ซึ่งที่ปรึกษาเห็นควรให้สัญญาลงทุนฯ มีผลใช้บังคับต่อไปจนสิ้นสุดสัญญา เนื่องจากโครงการท่าเทียบเรือ เอ o มีอัตราผลตอบแทน (Internal rate of return: IRR) สูงกว่าที่ กทท. คาดหวัง และการยกเลิกหรือแก้ไขสัญญาอาจนำมาสู่ข้อพิพาทจนทำให้บริการสาธารณะหยุดลงและส่งผลกระทบต่อประชาชนได้ ทั้งนี้ คณะกรรมการตามมาตรา 72 ดังกล่าว มีมติเห็นชอบการให้สัญญามีผลใช้บังคับต่อไปด้วยแล้ว
ตามที่สัญญาลงทุนฯ จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ตุลาคม 2577 ซึ่งตามนัยมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 บัญญัติให้หน่วยงานเจ้าของโครงการจัดทำแนวทางการดำเนินโครงการต่อเนื่องจากโครงการร่วมลงทุนภายหลังจากสัญญาร่วมลงทุนสิ้นสุด โดยเปรียบเทียบกรณีที่หน่วยงานของรัฐดำเนินการเองและกรณีที่ให้เอกชนร่วมลงทุนเสนอรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดอย่างน้อย 5 ปี
ก่อนที่สัญญาร่วมลงทุนจะสิ้นสุดลง ดังนั้น คค. และ กทท. จึงควรศึกษาแนวทางการดำเนินโครงการที่เป็นไปได้และเหมาะสมสำหรับสัญญาลงทุนดังกล่าวเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่สัญญาลงทุนฯ จะสิ้นสุดลง โดยดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 อย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงประโยชน์ของรัฐ ความต่อเนื่องในการให้บริการสาธารณะ และผลกระทบต่อประชาชนเป็นสำคัญ