“พิชัย” โชว์วิชั่นพลิกเศรษฐกิจ เร่งลงทุนใหม่ แก้หนี้ครัวเรือน

“พิชัย” โชว์วิชั่นพลิกเศรษฐกิจ เร่งลงทุนใหม่ แก้หนี้ครัวเรือน

”พิชัย“ ชี้เศรษฐกิจไทยต้องแก้ปัญหาที่แท้จริงเชิงโครงสร้าง เร่งลงทุนใหม่ดึงลงทุนจากต่างชาติ คาดเม็ดเงินที่จะเกิดขึ้นจริงในปี 66-68 แตะ 1.68 ล้านล้านบาท เล็งใช้กลไกแบงก์แก้ปัญหาหนี้ ยืดระยะเวลาผ่อน สินเชื่อดอกต่ำ ส่งสัญญาณแบงก์ชาติลดดอกเบี้ย ตามทิศทางเศรษฐกิจโลก

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานปาฐกถาพิเศษในวาระการสถาปนา 75 ปี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหัวข้อ “พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยในยุคโลกเดือด” ว่า การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วง 35 ปี ที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตที่น้อยลงมาตามลำดับ จากยุคโชติช่วงชัชวาลย์สู่การลงทุนของภาคอุตสาหกรรมที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย โดยเฉพาะจากประเทศญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามหลังการเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจในปี 40 และสินเชื่อซับไพรม์ในปี 2551 จนกระทั่งถึงปัจจุบันที่เศรษฐกิจไทยก็ค่อยๆ เติบโตในระดับต่ำลง

ขณะที่ในอดีตเศรษฐกิจไทยเติบโตได้มาก ทำให้ประเทศมีเงินออมมากขึ้น มีการตั้งกองทุนต่างๆ รวมมูลค่ากว่า 3 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ดีในช่วง 26 ปีที่ผ่านมากลับไม่มีการลงทุนในเมกะโปรเจกต์ที่จะเป็นการสร้างบุญใหม่เพื่ออนาคต โดยสัดส่วนการลงทุนต่อ GDP เฉลี่ยอยู่ที่ 26% เท่านั้น ทั้งที่ควรจะอยู่ในระดับ 30-35% 

นายพิชัย กล่าวต่อว่า ปัญหาที่แท้จริงของเศรษฐกิจไทยคือปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งที่จับต้องได้และไม่ได้ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน โครงสร้างภาษี แหล่งน้ำ พลังงานสะอาด ดังนั้นสิ่งที่จะต้องทำคือการกลับมาทบทวนและเร่งการลงทุนในสิ่งเหล่านี้สำหรับดึงดูดการลงทุนใหม่ที่จะเข้ามา เพื่อสร้างรายได้ประเทศให้มากขึ้น 

โดยเป้าหมายในช่วง 3 ปี ตั้งแต่ปี 2566-2568 คาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เกิดขึ้นจริงราว 1.68 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะในปี 2568 คาดมีเงินลงทุนสูงถึง 6.38 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รองลงมา คือ กลุ่มเกษตรอาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องจักร

ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีหลังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สามารถทำได้คือการเร่งแก้ปัญหาในส่วนของหนี้ครัวเรือน เบื้องต้นแก้เท่าที่มีโดยที่ยังไม่ได้เพิ่มกลไกเป็นพิเศษ หวังว่าสถาบันการเงินที่มีสถานะการเงินที่แข็งแกร่งจะช่วยได้ อาทิ การลดภาระหนี้โดยการยืดเวลาผ่อนชำระ การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 

ปัจจุบันมีหนี้ที่ไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) สูง 1.5 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะหนี้เสียจากสินเชื่อรถยนต์กว่า 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางเข้าไปช่วยแก้ปัญหา ในส่วนของรถที่มีการถูกยึด หรือผ่อนต่อไม่ไหว ให้ผู้ที่มีความต้องการว่าจะนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร 

โดยรัฐบาลจะหามาตรการสนับสนุนเข้ามาช่วย เช่น การลดหนี้เสีย และนำรถยนต์ที่ถูกยึดไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังเปิดเผยรายละเอียดไม่ได้ เพราะอยู่ในขั้นตอนจัดทำมาตรการอยู่ 

ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ย

ทั้งนี้ ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 2.5% โดยส่วนตัวมองว่าไม่ได้อยู่ในระดับสูงเกินไป แต่ไม่สามารถส่งสัญญาณลบได้ ทั้งนี้ จะพบว่าที่ผ่านมา เงินทุนต่างชาติไหลเข้า เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง ทำให้เงินบาทไทยแข็งค่าขึ้น ส่วนนี้เป็นเรื่องที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องพิจารณาว่าจะต้องดำเนินการอะไรบางอย่าง 

“ช่วงหลังจากสถานการณ์โควิดได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หากเราปรับให้สอดคล้องดอกเบี้ยนโยบายต่างประเทศ ก็จะเป็นการส่งสัญญาณลดอัตราดอกเบี้ยลงเหมือนกับชาวโลก ยอมรับว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศเล็กๆ ของโลกใบนี้ ฉะนั้น เราต้องสอดส่องสถานการณ์โลก มากกว่าสถานการณ์ในไทย จะต้องมีการถ่วงน้ำหนัก”

นอกจากนี้ มองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2.5% นำไปสู่การคำนวณส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยต้นทุนเงินฝากและเงินกู้ (NIM) โดยต้นทุนของสถาบันการเงินปล่อยกู้รายใหญ่ 3% ต้นทุนแบงก์เพียง 1% กว่า ขณะที่การปล่อยกู้รายย่อย การคิดอัตราคิดเบี้ย MLR อยู่ที่กว่า 6-7% ฉะนั้น มี NIM ทั้ง 2 ส่วนที่ผสมอยู่ในสถาบันการเงิน โดย NIM คำนวณจากต้นทุนของแบงก์ รวมด้วยการตั้งสำรองหนี้สูญ หากแบงก์สำรองสูง ต้นทุนก็จะแพง อย่างไรก็ตาม สถาบันการเงินยังเข้มแข็ง แต่รายย่อยยังเข้าถึงเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยสูง