"จีไอที" ชี้เป้าเจาะตลาดขายอัญมณีและเครื่องประดับใน 4 เมืองรองจีน
สถาบันอัญมณีฯ สำรวจโอกาสการค้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ใน 4 เมืองรองของจีน "ซูโจว หนานจิง หางโจว และหนิงโป "พบมีโอกาสสูงมาก ชี้เป็นเมืองเศรษฐกิจ กำลังซื้อสูง แนะขายผ่านช่องทางออนไลน์ เลือกแพลตฟอร์มให้เหมาะสม และใช้ KOL ที่มีชื่อเสียงช่วยทำตลาด
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ จีไอที ( GIT )เปิดเผยว่า GIT ได้สำรวจโอกาสทางการค้าขายสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในตลาดจีน โดยได้เลือกเมืองรองที่มีศักยภาพการเติบโตสูง 4 เมือง คือ ซูโจว หนานจิง หางโจว และหนิงโป ซึ่งล้วนแต่เป็นเมืองที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีเกียงที่ทางการจีนให้การสนับสนุน โดยผลการสำรวจ พบว่า สินค้าไทยมีโอกาสขายเข้าสู่ทั้ง 4 เมืองเหล่านี้ โดยเฉพาะการขายผ่านช่องทางออนไลน์ เพราะเป็นเมืองที่มีกำลังซื้อสูง มีต่างชาติเข้ามาลงทุนมาก เป็นเมืองท่าเรือสำคัญ ทำให้เศรษฐกิจมีความคึกคัก
ทั้งนี้ คณะวิจัยของ GIT ยังได้พบปะหารือกับนายกสมาคม Jiangsu Jewelry & Jade Trade Association เพื่อหารือถึงความร่วมมือในการซื้อขายอัญมณีและเครื่องประดับระหว่างกัน และยังได้สำรวจผู้ประกอบการที่อยู่บนถนน Taiping Nanlu เป็นย่านสำคัญที่มีร้านค้าอัญมณีและเครื่องประดับเรียงรายจำนวนมาก คล้ายเยาวราชในไทย ซึ่งบรรยากาศการซื้อขาย เป็นไปด้วยความคึกคัก
ขณะเดียวกัน ได้มีการพูดคุยกับผู้ประกอบการจีน พบว่า ปัจจุบันชาวจีนมีความนิยมในพลอยสีเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะทับทิม แซฟไฟร์ และมรกต มีการเก็บเป็นมรดกตกทอดหรือซื้อเพื่อเก็งกำไร โดยครอบครัวที่ฐานะดี มักจะมองหาพลอยสีคุณภาพสูง โดยพลอยสีเหล่านี้ มีการนำเข้าจากหลายแหล่งทั้งแอฟริกา ศรีลังกา และไทย ทั้งจากการเดินทางไปซื้อขายเอง ผ่านคนรู้จักเป็นตัวกลาง และรับมาจากทางเซินเจิ้น เนื่องจากเซินเจิ้นไม่เพียงเป็นแหล่งนำเข้าและกระจายสินค้าขนาดใหญ่ของประเทศ ยังเป็นตัวกลางในการประสานงานด้วย
นายสุเมธ กล่าวว่า สำหรับช่องทางการเข้าสู่ตลาด ควรจะใช้ช่องทางออนไลน์ เพราะในจีนตลาดซื้อขายออนไลน์เติบโตมาก โดยการใช้อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน (Cross-Border e-Commerce) ผ่าน Tmall Global หรือ JD International ซึ่งมีการผ่อนปรนเรื่องภาษีสำหรับผู้ซื้อที่มีการสั่งสินค้า 5,000 หยวนต่อคนต่อครั้ง และรวมทั้งปีไม่เกิน 24,000 หยวนต่อปี แต่ในแง่ของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ที่มีราคาสูง ก็อาจไม่เอื้อให้ใช้ช่องทางนี้ แต่ถ้าเป็นสินค้าที่ราคาไม่สูงมากนัก เป็นเครื่องประดับแฟชัน ก็มีโอกาสสูง
นอกจากนี้ ยังสามารถเจาะเข้าสู่ตลาดจีนได้โดยตรง โดยใช้ช่องทางออนไลน์ในประเทศ โดยเลือกแพลตฟอร์มที่เหมาะสม โดย Tmall และ Taobao เน้นสินค้าเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย JD.com เน้นเครื่องใช้ไฟฟ้า Pinduoduo เน้นสินค้าเกษตร และ Douyin เน้นสินค้าประเภทเครื่องประดับ และเมื่อเลือกแพลตฟอร์มที่เหมาะสมแล้ว สินค้าที่จะนำไปจำหน่ายในร้านออนไลน์ ต้องถ่ายภาพให้สวย ดูแวววาว สวยงาม มีใบเซอร์รับประกัน รวมทั้งควรจะใช้บุคคลที่มีอิทธิพล มีชื่อเสียง (Key Opinion Leader - KOL) มาช่วยขายสินค้า