เปิด 4 ปมปัญหาภาษีที่ดิน อุปสรรค อปท.เก็บไม่ได้ตามเป้า

เปิด 4 ปมปัญหาภาษีที่ดิน อุปสรรค อปท.เก็บไม่ได้ตามเป้า

กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เข้าสู่กระบวนการทบทวนและประเมินผลหลังบังคับใช้ครบ 5 ปี ‘สศค.’ พบ 4 ปมปัญหาภาษีที่ดิน อปท.มีข้อมูลไม่ครบถ้วน การคำนวณภาษีหลายขั้นตอน ผู้เสียภาษีไม่ให้ความร่วมมือ มีเจ้าหน้าที่ไม่พอ

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบในการประเมินผลสัมฤทธิ์ของ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ได้ร่วมกับกรมธนารักษ์ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกรมที่ดิน ดำเนินการประเมินผลสัมฤทธิ์ของ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่มีผลใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค.2562 และเริ่มจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตั้งแต่ปีภาษี 2563

พ.ร.บ.ภาษีที่ดินที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เริ่มจัดเก็บภาษีตั้งแต่ปีภาษี 2563 โดยภาษีที่ดินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นภาษีฐานทรัพย์สินมีหลักการในการจัดเก็บภาษีโดยพิจารณาจากความมั่งคั่งที่สะสมไว้ของบุคคลในรูปที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง โดย พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีอำนาจในการจัดเก็บ

สำหรับการคำนวณภาระภาษีจะใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์เป็นฐานในการคำนวณภาษี และนำไปคูณกับอัตราภาษีในอัตราก้าวหน้าตามมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และตามการใช้ประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง แต่ละประเภท ได้แก่ 

1.การประกอบเกษตรกรรม อัตราภาษี 0.01-0.1% 

2.ที่อยู่อาศัย อัตราภาษี 0.02-0.1% 

3.ใช้ประโยชน์อื่น ๆ นอกจากเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัย อัตราภาษี 0.3-0.7% เช่น พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม เป็นต้น 

4.ที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ อัตราภาษี 0.3-0.7% และหากทิ้งไว้ต่อเนื่องกันจะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นอีก 0.3 % ทุก ๆ 3 ปี แต่อัตราภาษีรวมสูงสุดไม่เกิน 3%

ทั้งนี้ สศค.ได้สรุปปัญหาของการบังคับใช้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในช่วงที่ผ่านมารวม 4 ประเด็น ดังนี้

1.พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กำหนดให้อปท.แจ้งการประเมินภาษีภายในเดือน ก.พ.ของทุกปี ซึ่ง อปท.ต้องมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องที่จะดำเนินการจัดเก็บภาษี โดยอาจมีข้อจำกัดของข้อมูล เช่น ข้อมูลรูปแปลงที่ดินหรือข้อมูลเอกสารสิทธิของที่ดินที่ อปท.ได้รับไม่ครบถ้วน และไม่เป็นปัจจุบัน

รวมทั้งอปท.ไม่ได้แจ้งข้อมูลการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองการจดทะเบียนการเช่า โดย อปท.ไม่สามารถเข้าถึงที่อยู่ของบุคคลตามฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรและที่อยู่ของนิติบุคคลตามฐานข้อมูลการจดทะเบียนนิติบุคคล ซึ่งส่งผลให้หนังสือแจ้งการประเมินถูกตีกลับ และทำให้ อปท.ต้องปิดหนังสือหรือส่งประกาศแจ้งความในหนังสือพิมพ์ ซึ่งเพิ่มขั้นตอนและต้นทุนการจัดเก็บภาษี

นอกจากนี้ อปท.ไม่มีข้อมูลแนวเขตการปกครองที่ชัดเจน ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่ทราบแน่ชัดว่าที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างใดบ้างอยู่ในความรับผิดชอบของตนเอง และไม่มีข้อมูลที่ดินของรัฐ เช่น ป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ นิคมสร้างตนเอง

2.พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กำหนดให้ใช้มูลค่าที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างตามราคาประเมินทุนทรัพย์เป็นฐานในการคำนวณภาษี และนำไปคูณกับอัตราภาษีในอัตราก้าวหน้าตามมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและตามการใช้ประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างแต่ละประเภท

รวมทั้งกรณีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างใช้ประโยชน์หลายประเภทต้องแยกคำนวณตามสัดส่วนการใช้ประโยชน์แต่ละประเภทด้วย ซึ่งทำให้การคำนวณภาษีที่ดินมีหลายขั้นตอนและอาจทำให้เกิดความผิดพลาดได้

3.พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กำหนดให้ อปท.จัดเก็บภาษีจากผู้เสียภาษี โดยผู้เสียภาษีอาจไม่ให้ความร่วมมือเจ้าหน้าที่เช่น ผู้เสียภาษีไม่อนุญาตไม่ให้สำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือไม่นำส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับที่ดิน หรือสิ่งปลูกสร้างให้อปท. เพื่อใช้ประเมินภาษีรวมทั้งผู้เสียภาษีไม่แจ้งการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างเพราะไม่มีความรู้ความเข้าใจภาษีที่ดิน

4.พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกำหนดให้ผู้บริหารท้องถิ่นตั้งพนักงานสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่พนักงานสำรวจมีภาระงานประจำอยู่แล้วทำให้เจ้าหน้าที่ไม่พอกับภาระงานที่เพิ่มขึ้น และเจ้าหน้าที่อาจไม่มีความรู้เกี่ยวกับการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ทำให้การสำรวจล่าช้าและตกสำรวจ ซึ่งส่งผลให้รายได้จากการจัดเก็บภาษีของ อปท.ลดลง

นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยได้ประมาณการณ์รายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ดินปี 2567 ไว้ที่ 41,459 ล้านบาท แบ่งเป็น รายได้ขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 10,059 ล้านบาท , เทศบาลตำบล 6,934 ล้านบาท , เทศบาลเมือง 4,604 ล้านบาท , เทบาลนคร 4,000 ล้านบาท , เมืองพัทยา 544 ล้านบาท และกรุงเทพมหานคร 15,016 ล้านบาท

สำหรับประมาณการจัดเก็บรายได้จากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปี 2567 ปรับสูงขึ้นจากปี 2566 ที่ อปท.จัดเก็บได้ 37,000 ล้านบาท และปี 2565 จัดเก็บได้ 35,800 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการที่ปี 2567 เริ่มจัดเก็บเต็มอัตราหลังจากช่วงที่ผ่านมามีการผ่อนปรนภาระภาษีที่ดินจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ทั้งนี้ การบรรเทาภาระภาษีในปี 2563-2565 กรณีที่ผู้เสียภาษีมีภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสูงกว่าภาระภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่ในปี 2562 ผู้เสียภาษีจะได้รับการบรรเทาภาระภาษีโดยจะเสียภาษีเท่ากับค่าภาษีปี 2562 บวกกับ 25% , 50% และ 75% ของส่วนต่างของค่าภาษีในปี 2563 , 2564 และ 2565 กับค่าภาษีในปี 2562 ตามลำดับ 

รวมถึงในปี 2563-2564 มีการลดภาษี 90% เพื่อบรรเทาภาระและผลกระทบให้กับประชาชน และผู้ประกอบการในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

นอกจากนี้ กรมธนารักษ์ได้มีการปรับราคาประเมินที่ดินใหม่ทั่วประเทศ ซึ่งส่งผลให้ราคาที่ดินที่นำมาประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพิ่มสูงขึ้น

ขณะที่การรับฟังความเห็นเพื่อแก้ไขภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ดำเนินการไปเมื่อวันที่ 1 เม.ย.2567 ถึงวันที่ 15 พ.ค.2567 โดยขณะนี้ สศค.อยู่ระหว่างสรุปข้อมูลเพื่อเสนอกระทรวงการคลัง 

สศค.ประเมินว่าการปรับปรุงจะทำให้การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีฐานทรัพย์สิน มีการใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างเป็นฐานในการคานวณภาษี ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ลดข้อพิพาทระหว่างผู้เสียภาษีและเจ้าหน้าที่ 

รวมถึงมีการจัดเก็บภาษีในอัตราภาษีก้าวหน้าตามมูลค่าที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง และตามการใช้ประโยชน์แต่ละประเภท โดยผู้ที่มีมูลค่าทรัพย์สินสูงจะต้องเสียภาษีมากกว่า ผู้ที่มีมูลค่าทรัพย์สินต่ำ 

นอกจากนี้ ผู้เสียภาษีที่มีทรัพย์สินในลักษณะเดียวกันขนาดเท่ากัน และใช้ประโยชน์เหมือนกันก็จะมีภาระภาษีเท่า ๆ กัน จึงเป็นระบบภาษีที่มีความเป็นธรรม 

ขณะที่การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นการขยายฐานภาษีให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เนื่องจาก อปท.จะสามารถจัดเก็บภาษีจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่แต่เดิมเจ้าของไม่เคยแจ้งรายการทรัพย์สินเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบารุงท้องที่ รวมถึงราคาประเมินทุนทรัพย์ของกรมธนารักษ์ซึ่งเป็นฐานในการคานวณภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต 

ดังนั้น เมื่อ อปท.จัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้เพิ่มขึ้น อปท.จะมีรายได้ที่จะนำไปใช้ในการจัดระบบบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น และการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างช่วยกระตุ้นและจูงใจให้ผู้เสียภาษีนาที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างมาใช้ ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวม