ผู้ตรวจการแผ่นดิน เตือน ครม.ลดความเสี่ยงทุจริต 'ดิจิทัลวอลเล็ต' กระทบการคลัง
ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งรายงานถึง ครม. แนะรัฐบาลระวังโครงการดิจิทัลวอลเล็ตแจกเงิน 10,000 บาท ให้นำความเห็น-ข้อสังเกตของ แบงก์ชาติ สภาพัฒน์ สศค. มาประกอบการพิจารณาหลายประเด็น ลดความเสี่ยงด้านการทุจริต และการเงินการคลังของประเทศ
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่าเมื่อเร็วๆนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบผลการวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีนางวิรังรอง ทัพพะรังสี ผู้ร้องเรียน ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาเสนอเรื่องต่อครม.ว่าการกำหนดนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet หรือเงินดิจิทัลวอลเล็ต ให้กับประชาชน เป็นกรณีที่หน่วยงานของรัฐยังไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามมาตรา 62 ในหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ทั้งนี้ ผู้ตรวจการเผ่นดิน ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสรุปได้ว่า การดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาและศึกษารายละเอียด
วิธีการดำเนินการ หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาใช้ในการดำเนินโครงการ จึงยังไม่มีความชัดเจนของรายละเอียด กรณีดังกล่าวจึงไม่ใช่เรื่องที่หน่วยงานของรัฐยังไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามมาตรา 62 ในหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ของรัฐธธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ดังนั้น ประเด็นตามคำร้องเรียนในเรื่องนี้ จึนเรื่องที่มิได้เป็นไปตามมาตรา 22 (3) ตามประกาศผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2562 ซึ่งกำหนดเรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่รับไว้พิจารณาตามมาตรา 37 (8) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2560 ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงได้มีคำวินิจฉัยยุติเรื่องร้องเรียนดังกล่าว
ครม.ต้องประเมินความคุ้มค่าโครงการ
ทั้งนี้ยังมีข้อเสนอแนะว่า ในการดำเนินการนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ครม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาตัดสินใจด้วยความละเอียดรอบคอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของเหตุผลและความจำเป็นในการดำเนินโครงการประโยชน์ที่รัฐและประชาชนจะได้รับความคุ้มค่า
เช่นเดียวกับภาระการเงินการคลังที่เกิดขึ้นแก่รัฐ แหล่งที่มาของเงินในการดำเนินโครงการ หน้าที่ของรัฐในการรักษาวินัยการเงินการคลัง ผลกระทบถึงความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อเสถียรภาพและความมั่นคงในทางการเงินของการคลังของรัฐ
รวมทั้งปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
แนะนำข้อเสนอหน่วยงานเศรษฐกิจไปใช้
โดยต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ของบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้องและยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนโดยรวมเป็นสำคัญ รวมทั้งขอให้คณะรัฐมนตรีนำข้อมูลความเห็นและข้อสังเกตของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) มาประกอบการพิจารณาดำเนินการตามนโยบายโครงการดังกล่าวด้วย
สำหรับความคิดเห็นของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีความเห็นและข้อสังเกตเบื้องต้นว่า การพิจารณาสั่งการของคณะรัฐมนตรี การกำหนดนโยบาย หลักเกณฑ์และเงื่อนไขของคณะกรรมการนโยบายฯ และคณะอนุกรรมการฯ รวมถึงการดำเนินการของหน่วยรับงบประมาณ
แบงก์ชาติห่วงเอื้อแค่บางกลุ่ม
ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จะดำเนินการตามโครงการดังกล่าว พึงเป็นไปด้วยความรอบคอบและระมัดระวังและเป็นไปตามขั้นตอนการบริหารราชการที่ดี สอดคล้องกับหน้าที่และอำนาจของหน่วยงานต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในกฎหมาย รวมทั้งไม่ส่งผลให้เกิดการดำเนินการที่เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 และพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ.2501 เพราะหากไม่ดำเนินการอย่างรอบคอบ รัดกุมอาจมีความเสี่ยงที่เกิดการทุจริตในขั้นตอนต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการในการตรวจสอบคุณสมบัติของประชาชนและร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ความเสี่ยงที่อาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มคนบางกลุ่ม
ดังนั้นรัฐบาลจะต้องมีการประเมินความเสี่ยงในการดำเนินโครงการอย่างรอบด้านและกำหนดแนวทางป้องกันการทุจริต รวมถึงกระบวบวนการตรวจสอบ เพื่อปิดความเสี่ยงอย่างรอบคอบรัดกุม
ขณะที่ สศช. มีความเห็นว่า นโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท สอดคล้องกับแนวคิดการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นผ่านการให้เงินอุดหนุนโดยตรงแก่ประชาชน
อย่างไรก็ดี จำเป็นจะต้องคำนึงถึงความเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ ปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจ เงื่อนไขฐานะทางการเงินการคลังของประเทศ และผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจชองประเทศในระยะยาว ซึ่งจะต้องอาศัยการวิเคราะห์และประเมินผลอย่างรอบด้าน
โดยเห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการ กระตุ้นการบริโภคเพิ่มเติม แต่ควรให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาที่เป็นสาเหตุของการขยายตัวในเกณฑ์ต่ำของเศรษฐกิจทั้งปัญหาในระยะสั้นและระยะยาว
เตือนกระทบการเงินการคลังระยะยาว
สำหรับแหล่งที่มาของเงินในการดำเนินโครงการจะต้องพิจารณาถึงผลกระทบทางการเงินการคลัง ผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาวของแหล่งเงินในแต่ละทางเลือก คำนึงถึงเจตนารมณ์และบทบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดรอบคอบและต้องปฏิบัติตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พระราชบัญญัติเงินตรา และพระราชบัญญัติระบบการชำระเงิน
รวมทั้งจะต้องมีการประเมินผลทั้งก่อนและหลังการดำเนินโครงการเพื่อพิจารณาถึงผลกระทบด้านต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น เช่น ผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจมหภาค เสถียรภาพทางการคลัง การจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ (Credit rating)
เตือนกำหนดแหล่งเงินให้ชัดเจน
ขณะที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) มีความเห็นว่า การดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000บาท ต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ
เนื่องจากไม่ได้มีการบรรจุงบประมาณสำหรับการดำเนินโครงการดังกล่าวไว้ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ดังนั้นหากคณะกรรมการนโยบายฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนต้องเริ่มดำเนินโครงการภายในปีงบประมาณ พ.ศ.2567
หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องสามารถขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ได้ แต่หากมีความจำเป็นเร่งด่วนต้องดำเนินโครงการภายในปึงบประมาณ พ.ศ.2567 หน่วยงานของรัฐอาจพิจารณาดำเนินการขอรับจัดสรรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ซึ่งมีกรอบวงเงินอยู่ที่ 98,500 ล้านบาท
หรืออาจตรากฎหมายกู้เงินสำหรับดำเนินนโยบายเป็นการเฉพาะ อย่างไรก็ตาม การประเมินผลกระทบยังไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนในรายละเอียดโครงการและแหล่งเงิน