‘สภาพัฒน์’ ถก ‘หอการค้านานาชาติ’ ชี้ข้อดีเข้าร่วม ‘OECD’ ยกระดับเศรษฐกิจไทย
‘สภาพัฒน์’ หารือ ‘ICC’ แจงประโยชน์ที่จะได้รับจากการเข้าเป็นสมาชิก OECD ช่วยส่งเสริมการปฏิรูปและแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศในหลายด้าน เช่น การผลิต การค้า และการลงทุน รวมถึงการบริหารจัดการภาครัฐ
เมื่อเร็วๆนี้ นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบหารือกับ Mr. John W.H. Denton AO, เลขาธิการหอการค้านานาชาติ (International Chamber of Commerce: ICC) ณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยมี นายสุริยนต์ ตู้จินดา เลขาธิการหอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทย (ICC Thailand) นายวิบูลย์ สุภครพงษ์สกุล รองประธาน ICC Thailand นายนิมิต หมดราคี ประธานคณะกรรมาธิการด้านการตลาดและการโฆษณา และ Ms. Sonia Arakkal เจ้าหน้าที่ ICC เข้าร่วมหารือเกี่ยวกับการเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ของประเทศไทย โดย ICC พร้อมให้การสนับสนุนภาครัฐและภาคเอกชนไทยตลอดกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD รวมถึงการแสวงหาความร่วมมือใหม่ ๆ กับไทย เพื่อยกระดับความสัมพันธ์กับไทยและ ASEAN ให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น
ในโอกาสนี้ เลขาธิการ สศช. ได้กล่าวถึงความก้าวหน้าในการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของประเทศไทย โดยเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 คณะมนตรี OECD (OECD Council) ได้มีมติเห็นชอบแผนการเข้าเป็นสมาชิก OECD (Accession Roadmap) ของประเทศไทย ซึ่งเป็นเอกสารที่ระบุขั้นตอนการดำเนินการในกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก (accession process) ทั้งหมด และระบุจำนวนคณะกรรมการ 26 คณะที่จะประเมินทางเทคนิคและให้คำแนะนำ (recommendations) แก่หน่วยงานไทยในการปรับมาตรฐานต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับมาตรฐาน OECD
เลขาธิการ ICC กล่าวชื่นชมความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการสมัครเข้าเป็นสมาชิก OECD และยินดีที่จะสนับสนุนภาคเอกชนไทยในการทำความร่วมมือกับภาคเอกชนของ OECD โดย ICC ในฐานะองค์กรภาคเอกชนระดับโลก มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมนโยบายที่เป็นมิตรต่อภาคเอกชน ภาครัฐ และองค์การระหว่างประเทศในประเด็นต่าง ๆ เช่น การเงิน การค้า การลงทุนระหว่างประเทศ การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลและนวัตกรรม และ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น
นอกจากนี้ ICC ยังมีความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งกับภาคเอกชนไทย โดยมี ICC Thailand ทำหน้าที่เชื่อมความสัมพันธ์และดำเนินความร่วมมือกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งภาคเอกชนไทยสามารถร่วมกิจกรรมกับ ICC Thailand เพื่อเป็นช่องทางในการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และปรับตัวเพื่อเตรียมพร้อมต่อการเข้าเป็นสมาชิก OECD
เลขาธิการ สศช. เน้นย้ำว่ากระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD จะช่วยส่งเสริมการปฏิรูปและแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของไทยในหลากหลายสาขา อาทิ (1) การผลิต ผ่านการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพื่อให้ผลิตได้มากขึ้น (productivity) ในขณะที่ต้นทุนการผลิตลดลง (2) การค้าและการลงทุน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่ปัจจุบันภาครัฐประกาศใช้มาตรการยานยนต์ EV 3.5 (พ.ศ. 2567 – 2570) ที่ให้สิทธิประโยชน์ด้านเงินอุดหนุนและการลดภาษี เพื่อดึงดูดให้บริษัทต่างชาติเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย และ (3) การบริหารจัดการภาครัฐ ซึ่งจะช่วยผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐปฏิรูปโครงสร้างและการบริหารจัดการที่เป็นระบบ โปร่งใส และมีมาตรฐาน อันจะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย
เลขาธิการ ICC ยังขอรับการสนับสนุนจาก สศช. ในการให้คำแนะนำเพื่อตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ การดำเนินงานของ ICC ในปัจจุบัน ที่มุ่งเน้นการทำความร่วมมือกับกลุ่มประเทศ/เขตเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ อาทิ ASEAN APEC G20 เป็นต้น ซึ่งรวมถึงประเทศไทยที่ ICC เล็งเห็นถึงศักยภาพในการดำเนินความร่วมมือโดยเลขาธิการ สศช. ได้นำเสนอภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นภาคส่วนสำคัญของเศรษฐกิจไทย โดย ICC อาจริเริ่มดำเนินความร่วมมือใหม่ ๆ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งจะช่วยสร้างบทบาทใหม่ให้กับ ICC ในการดำเนินความร่วมมือกับภาคเอกชนและผู้ประกอบการท้องถิ่นของไทย