‘โรงงาน’ ระส่ำลดชั่วโมงทำงาน ‘ชิ้นส่วนยานยนต์’ หั่น OT เพิ่มวันหยุด

‘โรงงาน’ ระส่ำลดชั่วโมงทำงาน ‘ชิ้นส่วนยานยนต์’ หั่น OT เพิ่มวันหยุด

"โรงงาน" ระส่ำหนักพนักงานถูกลดชั่วโมงในการทำงาน "ส.อ.ท" หวั่นโรงงานขนาดเล็กปิดตัวเป็นใบไม้ร่วง กลุ่ม "ชิ้นส่วนยานยนต์"  หั่น OT เพิ่มวันหยุด

ภาคการผลิตถดถอยต่อเนื่อง ชั่วโมงทำงานลดลงตั้งแต่ไตรมาส 1 ทั้งโรงงานที่ใช้แรงงานมากและโรงงานใช้เทคโนโลยี “ชิ้นส่วนยานยนต์” หนักสุด ยอดขายลดลง 30% หั่นโอที เพิ่มวันหยุดเป็น 3 วันต่อสัปดาห์ ลดจ้างซับคอนแทรค ลดค่าใช้จ่ายฟิกซ์คอสต์ 

สถานการณ์ภาคการผลิตอยู่ในภาวะถดถอย โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567 หดตัว 2.08% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนภาคอุตสาหกรรมไทยยังไม่ฟื้นตัว หลังปัญหาหนี้ครัวเรือนและอัตราดอกเบี้ยอยู่ระดับสูง รวมถึงต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานจำนวนผู้มีงานทำและชั่วโมงการทำงานของแรงงานภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมมีทิศทางลดลงมาตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2567 โดยจำนวนชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยต่อคนต่อสัปดาห์ลดลงอยู่ที่ 45.31 ชั่วโมงต่อคนต่อสัปดาห์ ลดลงจาก 45.76 ชั่วโมงต่อคนต่อสัปดาห์ หรือคิดเป็นการลดลง 1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแบ่ง 3 กลุ่ม ดังนี้

1. กลุ่มการผลิตที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศ มีเวลาการทำงานเฉลี่ย 45.23 ชั่วโมงต่อคนต่อสัปดาห์ ลดลง 1.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแรงงานส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมอาหาร 1.06 ล้านคน สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ลดลง 0.2% และอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 58.92% ลดลง 0.5%

2. กลุ่มการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น มีชั่วโมงทำงานเฉลี่ย 44.44 ชั่วโมงต่อคนต่อสัปดาห์ ลดลง 0.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แรงงานส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม 282,000 คน สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ลดลง 4.7% และอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 42.79% ลดลง 9.4%

3. กลุ่มการผลิตที่ใช้เทคโนโลยี มีชั่ใโมงทำงานเฉลี่ย อยู่ที่ 45.83 ชั่วโมงต่อคนต่อสัปดาห์ ลดลง 1.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แรงงานส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ รถพ่วงและรถกึ่งพ่วง 445,000 คน สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ลดลง 6.0% และอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 64.35% ลดลง 8.5%

สถานการณ์ชั่วโมงทำงานที่ลดลงสอดคล้องกรมโรงงานอุตสาหกรรมรายงานช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ปี 2567 แจ้งเลิกทะเบียนโรงงาน 667 แห่ง ทุนจดทะเบียน 18,091 ล้านบาท กระทบการจ้างงาน 17,674 คน สถิติดังกล่าวสูงกว่าช่วงการแพร่ระบาดโรคโควิด-19

ส.อ.ท.ห่วงชั่วโมงทำงานลดรายได้หด

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ชั่วโมงทำงานของโรงงานมีแนวโน้มลดลง โดยพิจารณาจากกรณีฮอนด้ายุบสายการผลิตจากโรงงานพระนครศรีอยุธยาไปโรงงานที่ปราจีนบุรี 

ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวเหมือนเป็นการยุบรวมกันจาก 2 โรงงานเหลือโรงงานเดียว โดยจะเห็นว่าผลกระทบที่เกิดขึ้น เช่น โรงงานรถญี่ปุุ่นปิดโรงงานลงเหลือแต่ฝ่ายขายและฝ่ายการตลาด และใช้วิธีนำเข้าแทนการผลิตในประเทศ ดังนั้น เวลาทำงานปรับลงหมดจึงไม่แปลกใจที่เวลาชั่วโมงทำงานในภาพรวมมีการปรับลดลงในช่วงที่ผ่านมา

“การยุบโรงงานส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชนที่เป็นเอสเอ็มอีในห่วงโซ่ได้รับผลกระทบ อาจจะต้องปิดกิจการลงตามไปด้วยอีกจำนวนมาก โรงงานเล็กจะมีเปอร์เซ็นปิดอีกมาก ปีที่แล้วเป็นการปิดของโรงงานขนาดกลางและใหญ่ แต่ปีนี้น่ากลัวสุดคือเอสเอ็มอีที่จะปิดอีกเสมือนใบไม้ร่วง

ชิ้นส่วนยานยนต์หั่นโอที-เพิ่มวันหยุด

นายสุพจน์ สุขพิศาล เลขาธิการ Cluster of FTI Future Mobility-ONE และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปี่ผ่านมา ออเดอร์ยอดขายชิ้นส่วนลบ 30% แล้ว ตั้งแต่ต้นปี 20% และรวมหลังเดือน 4 มาเห็นชัดขึ้น เดือน 5-6 บวกเพิ่มเป็น 30%

ทั้งนี้ จากสถานกการณ์ที่ปรับลดกำลังการผลิตได้กระทบการทำงานล่วงเวลา (โอเวอร์ไทม์ หรือ โอที) โดยบางบริษัทยกเลิกการทำโอทีแล้ว รวมถึงบางบริษัทเพิ่มวันหยุดจาก 2 วัน เป็น 3 วันต่อสัปดาห์ 

รวมทั้งบางบริษัทลดเวลาทำงานและเริ่มโครงการจ่ายเงินเดือน 75% ของเงินเดือนทั้งหมด ซึ่งกลับไปเหมือนตอนเกิดวิกฤติโควิด-19 และตอนน้ำท่วมใหญ่ที่กระทบภาคการผลิต แต่ความน่ากลัวคือไม่รู้เมื่อไหร่จะจบช่วง เพราะช่วงโควิดและน้ำท่วมมันเป็น Short term และภาครัฐเข้ามาสนับสนุนเยียวยาแต่เหตุการณ์นี้ไม่มี

นอกจากนี้ ทุกคนหวังว่าไตรมาส 4 ปี 2567 เศรษฐกิจไทยจะฟื้น โดยมาจากปัจจัยงบประมาณภาครัฐ นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล รวมถึงภาคท่องเที่ยวที่เป็น High Season จากตัวเลขที่จะมาเดือน 10 ก็ต้องมารอดูกัน

ทั้งนี้ ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ได้แบ่งการจ้างงานออกเป็น 3 กลุ่มคือ 

1.การจ้างงานของบริษัทเอง 

2.การจ้างงานจากซับคอนแทรค โดยถ้าคำนวณแล้วเดือนต่อไปไม่ได้ใช้งานจะคืนคนให้บริษัทซับคอนแทรค ซึ่งเหมือนการปลดหรือลดจำนวนพนักงาน ซึ่งเป็นกลุ่มแรกที่เริ่มได้รับผลกระทบแล้ว

3.การจ้างเอาท์ซอร์ส โดยการจ้างยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เช่น รปภ. แม่บ้าน รถขนส่ง

“ยอดขายที่ลดลง 30% ถ้าจะให้บาลานซ์ต้องลดคนลง 30% ในทางปฏิบัติการบริหารโรงงานอุตสาหกรรมส่วนต้นทุน fix cost ลดลงได้ยาก เช่น ค่าใช้จ่ายพนักงงาน" นายสุพจน์ กล่าว

ออร์เดอร์น้อยลงลดชั่วโมงทำงาน

สำหรับการผลิตในโรงงานจะวางแผนตามคำสั่งซื้อ โดยถ้ามียอดผลิตมากจะวางแผนใช้ชั่วโมงทำงานมากหรือใช้แรงงานมากขึ้น แต่ถ้าคำสั่งซื้อน้อยจะลดลงตามไปด้วย โดยภาพรวมการปรับเปลี่ยนจะอยู่ที่ 10-15% ไม่ถึง 30% ซึ่งผู้ประกอบการพยายามสร้างบาลานซ์ร่วมกับการทำโอที แต่ปัจจุบันไม่มีการทำโอทีแล้ว

ส่วนเอสเอ็มอีที่สายป่านไม่ยาวจะอยู่ลำบากเพราะรายเล็กอำนาจต่อรองไม่มาก โดยเมื่อสั่งซื้อสินค้าจะได้เครดิตเพียง 30 วัน แต่เมื่อส่งวัตถุดิบสินค้าไปโรงงาน OEM จะโดนเครดิต 60-90 วัน ทำให้ต้องมีเงินหมุนเวียนอีก 60 วัน โดยตั้งแต่ต้นปี 2567 ยอดผลิตไม่สูงและสถาบันทางการเงินเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อจึงเกิดปัญหา NPL สูง

“มีผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่เป็นเอสเอ็มอีถึง 70-80% ของผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ทั้งหมด ดังนั้น เอสเอ็มอีต้องบริหารจัดการองค์กรตัวเองด้วยโดยเฉพาะเงินหมุนเวียน โดยสกิลในการบริหารจัดการไฟแนนซ์เชียลของเอสเอ็มอีก็คงไม่สูงนัก ถือเป็นจุดน่าเป็นห่วง” นายสุพจน์ กล่าว