ปิดโรงงานแซงช่วงโควิด เผยข้อมูล 6 เดือน แจ้งเลิก 667 แห่ง

ปิดโรงงานแซงช่วงโควิด เผยข้อมูล 6 เดือน แจ้งเลิก 667 แห่ง

เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า กระทบยอดการปิดโรงงานอุตสาหกรรมแซงช่วงวิกฤติโควิด เผยข้อมูล 6 เดือน แจ้งเลิกกิจการ 667 แห่ง

KEY

POINTS

  • ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 มีการแจ้งเลิกทะเบียนโรงงาน 667 แห่ง ทุนจดทะเบียน 18,091 ล้าน กระทบการจ้างงาน 17,674 คน
  • การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 มีการปิดโรงงาน 373 แห่ง ทุนจดทะเบียน 22,825 ล้าน กระทบการจ้างงาน 10,175 คน
  • ตั้งแต่ 1 ม.ค. - 30 มิ.ย. 2567 พบโรงงานประกอบกิจการใหม่และขยายโรงงานรวม 1,275 แห่ง แบ่งเป็น ประกอบกิจการใหม่ 1,047 โรงงาน และขยายโรงงานใหม่ 228 โรงงาน   

กรมโรงงานอุตสาหกรรม รายงานว่าในช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ของปี 2567 มีการแจ้งเลิกทะเบียนโรงงาน 667 แห่ง ทุนจดทะเบียน 18,091 ล้านบาท กระทบการจ้างงาน 17,674 คน

สถิติดังกล่าว สูงกว่าช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 มีการแจ้งปิดโรงงาน 373 แห่ง ทุนจดทะเบียน 22,825 ล้านบาท กระทบการจ้างงาน 10,175 คน

ขณะที่ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 มีการแจ้งปิดโรงงาน 463 แห่ง ทุนจดทะเบียน 19,840 ล้านบาท กระทบการจ้างงาน 13,011 คน

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 พบโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการใหม่และขยายโรงงานรวม 1,275 โรงงาน 

แบ่งเป็น ประกอบกิจการใหม่ 1,047 โรงงาน และขยายโรงงานใหม่ 228 โรงงาน เกิดแรงงานใหม่เพิ่ม 55,127 คน และเงินลงทุนรวม 219,855.21 ล้านบาท  

ในขณะที่โรงงานที่เลิกกิจการรวม 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) 2567 มีโรงงานปิดกิจการทั้งสิ้น 485 แห่ง ส่งผลให้สูญเสียเงินลงทุนรวม 13,990.61 ล้านบาท และพนักงานถูกเลิกจ้างมากถึง 12,472 คน

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า จากการข้อมูลสำรวจของ สสว.พบว่าปี 2566 สัญญาณเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อเอสเอ็มอีภาคการผลิตและการจ้างงานลดจำนวนลง และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย เดือนพ.ค. 2567 รายภูมิภาคติดลบทุกภาคทั้ง 6 ภาค คือ 

ภาคเหนือ -1.6

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ -1.4

ภาคตะวันออก -2.5

ภาคกลาง -1.8

กรุงเทพฯ และปริมณฑล -1.7

ภาคใต้ -1.5

รวมทั้งหากพิจารณารายภาคธุรกิจพบว่าติดลบทุกภาคธุรกิจเช่นกัน คือ

ภาคการผลิต -0.6

ภาคการค้า -1.5

ภาคการบริการ -2.6

ภาคธุรกิจการเกษตร -1.5 

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ต้องเผชิญกับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่อุปทานในภาคอุตสาหกรรมทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์จากสันดาปเป็นยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ เอสเอ็มอีผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ได้รับผลกระทบจากการย้ายฐานการผลิตของผู้ผลิตรถยนต์สันดาป 

การปรับเปลี่ยนธุรกิจรองรับการเปลี่ยนแปลงต้องการการสนับสนุนส่งเสริมจากภาครัฐเพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมก่อสร้างและธุรกิจเกี่ยวเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่มีปัญหาหนี้เสียจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยปลายปี 2566 ต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน 

ส่งผลการชะลอตัวปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยขนาดเล็กของสถาบันการเงิน อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าที่จีนเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกทั้งบริโภคเองและส่งออก อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าที่แข่งขันสูง ดังนั้น การสร้างความยั่งยืนให้เศรษฐกิจเติบโตต้องมีแผนชัดเจนในการมุ่งเป้าให้กลุ่มเอสเอ็มอีรายย่อยได้รับประโยชน์เพิ่มมากขึ้น “กระตุ้นฐานรากในประเทศพร้อมดันไปให้โตนอกประเทศ”

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจครึ่งปีหลังคงจะดีกว่าครึ่งปีแรกที่ตัวเลขไม่สวยโดยเฉพาะไตรมาส1 จีดีพีโตแค่ 1.5%  ในเชิงเปรียบเทียบประเทศภูมิภาคเดียวกันถือว่าไทยต่ำสุด สอดคล้องกับดัชนี MPI ที่ตัวเลขภาคการผลิตติดลบต่อเนื่อง

ทั้งนี้ บ่งชี้ว่าอุตสาหกรรมการผลิตแบบดั่งเดิมถดถอย เพราะอาจเป็นสินค้าเก่า ไม่เป็นที่ต้องการ ดังนั้น ครึ่งปีหลังน่าจะดีขึ้นมาจากปัจจัยหลายอย่าง ทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สคช.) ได้คาดการจีดีพีปีนี้ที่ 2.5% จึงหวังว่าไตรมาส3 จนไปถึงสิ้นปีนี้จะดีขึ้น โดยมีปัจจัยมาจาก 

1. ภาคท่องเที่ยว ที่จะเข้าสู่ไฮซีซั่นโดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวไม่น้อยกว่า 35 ล้านคน 

2. ภาคการส่งออก โดยเครื่องยนต์ในช่วงต้นปีแม้ไม่ดี แต่เมื่อเทียบเดือนต่อเดือนลดลงบ้าง แต่ก็หวังว่าตัวเลขการส่งออกจะคล่องๆ คลี่คลายแต่ก็ต้องขึ้นกับสถานการณ์โลก และสงครามไม่บานปาย 

3. ภาคการลงทุน โดยในช่วงไตรมาสที่ 1 งบงการลงทุนไม่มี ซึ่งงบประมาณล่าช้ามีผลต่อการลงทุน ดังนั้น การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐจะเติมเม็ดเงินเข้าไป และงบทั้งปี 2567 และ 2568 จะทำให้มีเงินเพิ่มขึ้นในระบบ 

4. ดิจิทัลวอลเล็ต โดยไตรมาส4 หากเป็นไปตามเป้ารัฐบาล 4.5 แสนล้านบาท จะเข้ามาในระบบ จึงน่าจะเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจครึ่งหลังจะดีกว่าช่วงที่ผ่านมา

สำหรับปัจจัยที่เอกชนกังวลที่สุดคือ ระบบการเงินประเทศโดยเฉพาะเอสเอ็มอี ช่วงที่ผ่านมาได้รับความบอมช้ำ ทั้งโควิด ภูมิรัฐศาสตร์ เงินเฟ้อ ต้นทุนค่าพลังงานสูง จึงขาดสภาพคล่องและเม็ดเงิน ไม่สามรถเข้าถึงแหล่งเงินได้ ยิ่งภาวะแบบนี้ธนาคารพาณิชย์มีความเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น อีกทั้งหนี้ NPL ก็เพิ่มขึ้น เป็นจุดตายของเอสเอ็มอีที่ภาครัฐต้องช่วย

"ส.อ.ท.ในฐานะดูแลภาคการผลิตการลงทุน 46 กลุ่มอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมดั่งเดิม กำลังปรับปรุงตัวเองไปสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ภาครัฐต้องสนับสนุนทั้งอินฟราตรัคเจอร์ ต้นทุนพลังงาน การบริโภค โลจิสติกส์ปัจจุบันที่ต้นทุนสูงถึง 15% ดังนั้น การคมนาคมทั้งทางน้ำ ราง บก จะต้องสอดคล้องเชื่อมโยงกันเพื่อให้ต้นทุนลดลง" นายเกรียงไกร กล่าว 

ทั้งนี้ หากดูยอดโรงงานที่ปิดกิจการ ก็อาจจะเป็นเอสเอ็มอีรายย่อยอยู่ในนั้น ซึ่งยอมรับว่านับยาก เพราะ 1 โรงงานอาจพ่วงด้วยเอสเอ็มอีที่เป็นซัพลายเชนอีกเยอะ สิ่งที่ผลิตอยู่ก็อยู่ในช่วงชลมุน ซึ่งโรงงานซึ่งมีห่วงโซ่ที่เป็นเอสเอ็มอีขนาดเล็กก็อาจจะคูณโรงงานแห่งหนึงกระทบระดับ 5-20 รายก็เป็นได้