‘การบินไทย’ พร้อมลงทุน MRO อู่ตะเภา ยันไม่กระทบสภาพคล่อง
“การบินไทย” ยันพร้อมลงทุน MRO อู่ตะเภา เผยเจรจาพันธมิตรหาผู้ร่วมทุนอย่างต่อเนื่อง ชี้เป็นโครงการที่มีความจำเป็นต่อธุรกิจ แต่ขณะนี้ติดเงื่อนไขไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจ ต้องรอการตีความสิทธิตามมติ ครม. ลั่นหากอีอีซีจะเปิดกว้างประมูล สนใจเข้าร่วม
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การบินไทยยังคงแผนลงทุนในโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) อู่ตะเภา เนื่องจากเป็นโครงการที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจ เพราะการบินไทยเป็นสายการบินสัญชาติไทย และมีฝูงบินในอีก 10 ปีข้างหน้าที่ระดับ 140 - 150 ลำ ดังนั้นมีความจำเป็นที่ต้องสร้างศูนย์ซ่อมอากาศยานของตนเองในไทย ไม่เช่นนั้นต้องนำเครื่องบินไปซ่อมต่างประเทศ สร้างต้นทุน และทำเม็ดเงินไหลออกนอกประเทศ
อย่างไรก็ดี ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนหน้านี้มอบหมายให้การบินไทยเป็นผู้ลงทุนในโครงการดังกล่าว แต่สืบเนื่องจากปัจจุบันการบินไทยไม่ได้มีฐานะเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจแล้ว ดังนั้นคงต้องรอให้ทางภาครัฐ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ได้พิจารณาก่อนว่าจะให้สิทธิการบินไทยเช่นเดิมหรือไม่ และจะทำอย่างไรในการคัดเลือกเอกชนเข้าไปลงทุน
“การบินไทยเราต้องการมีศูนย์ซ่อมอยู่แล้ว เพราะเราเป็นสายการบินในไทยที่มีจำนวนฝูงบินเยอะ และที่ผ่านมาเราก็มีศูนย์ซ่อมอยู่ที่อู่ตะเภา แต่เพราะอีอีซีต้องการพัฒนารันเวย์ ทำให้เราต้องรื้อถอนโรงซ่อมเครื่องบิน(แฮงการ์) และย้ายออกก่อนที่จะหมดสัญญาเช่า ดังนั้นก็คงต้องรอให้อีอีซีได้พิจารณาว่าจะตัดสินใจเรื่องการลงทุนนี้อย่างไร ถามว่าสนใจไหมเราสนใจอยู่แล้ว มีแผนลงทุนที่ศึกษาไว้พร้อมเดินหน้าทันที”
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้การบินไทยยังไม่ทราบข้อมูลอย่างเป็นทางการ ว่าอีอีซีจะมีแนวทางคัดเลือกเอกชนลงทุน MRO อย่างไร จะยกเลิกสิทธิของการบินไทยที่ ครม.เคยมีมติไว้อย่างไร แต่หากว่าจะยกเลิกสิทธิ และเปิดประมูลจริง การบินไทยก็พร้อมลงทุน เพราะตอนนี้การบินไทยมีกระแสเงินสดสะสมอยู่ 8 หมื่นล้านบาท และการลงทุนโครงการนี้ก็จะเป็นลักษณะทยอยลงทุน อีกทั้งคงต้องหาพันธมิตรเข้ามาร่วมทุน ดังนั้นมั่นใจว่าการลงทุนจะไม่กระทบสภาพคล่อง
นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ที่ผ่านมาการบินไทยหารือร่วมกับอีอีซีมาตลอด เกี่ยวกับความต้องการลงทุนในโครงการ MRO แต่เพราะว่าขณะนี้การบินไทยไม่ได้มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว ก็คงต้องให้เจ้าของพื้นที่ได้พิจารณาประเด็นนี้ก่อน แต่อย่างไรก็ดี โครงการ MRO มีความสำคัญอย่างมาก ยังไงก็ต้องเกิด ตอนนี้อยู่ที่วิธีการคัดเลือกผู้ร่วมทุนแล้ว แต่ถ้าไม่ใช่การบินไทย คงต้องพิจารณาด้วยว่าวันนี้มีผู้ประกอบการรายใดที่มีความพร้อมอีก
ส่วนแผนลงทุนของการบินไทย ที่ผ่านมาได้เจรจาหาพันธมิตรมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโครงการ MRO มีกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องหลายอย่าง ดังนั้นสามารถจัดหาพันธมิตรที่หลากหลายธุรกิจได้ ไม่เพียงผู้ผลิตอากาศยานเท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ที่การบินไทยเจรจาอยู่ อาทิ ผู้ผลิตชิ้นส่วน และอะไหล่ของอากาศยาน รวมไปถึงผู้ประกอบการที่เคยทำธุรกิจซ่อมอากาศยานอยู่แล้ว เป็นต้น
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์