ส่องเงื่อนไข 'การบินไทย' พ้นฟื้นฟู กลับเข้าเทรดตลาดหุ้นปี 68
ส่องเงื่อนไข “การบินไทย” ออกแผนฟื้นฟูกิจการ ก่อนกลับเข้าเทรดตลาดหุ้นในปี 2568 ประเดิม ก.ย.นี้ ยื่นไฟลิ่งเสนอเจ้าหนี้แปลงหนี้เป็นทุน และซื้อหุ้นเพิ่มทุน พร้อมเผย 4 เงื่อนไขสู่ความสำเร็จ ห้ามผิดนัดชำระหนี้ – กำไรเป็นบวกไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้าน
KEY
POINTS
- “การบินไทย” ประเดิม ก.ย.นี้ ยื่นไฟลิ่งเสนอเจ้าหนี้แปลงหนี้เป็นทุน และซื้อหุ้นเพิ่มทุน ดันส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวก ปลดล็อคหนึ่งเงื่อนไขความสำเร็จของแผนฟื้นฟู
- ปักหมุดยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ และหุ้นของบริษัทฯ กลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไตรมาสที่ 2 ของปี 2568
- พร้อมเผย 4 เงื่อนไขสู่ความสำเร็จ เพิ่มทุน - ห้ามผิดนัดชำระหนี้ – กำไรเป็นบวกไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้าน - ตั้งกรรมการใหม่
เป็นระยะเวลากว่า 4 ปี สำหรับการฟื้นฟูกิจการของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นับจากวันเริ่มเข้าสู่ แผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย ตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย.2563 โดยมีการแต่งตั้งนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เป็นประธานผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ และได้มีการปรับโครงสร้างธุรกิจ ปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงขายทรัพย์สินที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก รวมทั้งได้ยื่นขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งศาลล้มละลายกลางเห็นชอบเมื่อวันที่ 20 ต.ค.2565
โดยล่าสุด นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการผู้บริหารแผน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงความคืบหน้าแผนฟื้นฟูกิจการ โดยระบุว่า ขณะนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างการเตรียมแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ และร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) เพื่อเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อเป้าหมายทำให้ส่วนทุนเป็นบวก ก่อนยื่นคำร้องออกจากการฟื้นฟูกิจการ และกลับเข้าซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)
การบินไทยกำหนดแผนดำเนินงานเบื้องต้น แบ่งเป็น
ภายในเดือน ก.ย. 2567
ยื่นแบบแสดงรายงานข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ และร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) ให้แก่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)
ภายในเดือน พ.ย.2567
เริ่มกระบวนการใช้สิทธิและแจ้งเจตนาแปลงหนี้เป็นทุนของเจ้าหนี้แต่ละกลุ่ม
ภายในเดือน ธ.ค.2567
เข้าสู่กระบวนการเสนอขายและจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน สำหรับผู้ถือหุ้นก่อนบริษัทฯ เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ พนักงานบริษัท และนักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง
ภายในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2568
ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ และหุ้นของบริษัทฯ กลับเข้าซื้อขายบนตลาดหลักทรัพย์ฯ
รายละเอียดของการปรับโครงสร้างทุน ประกอบด้วย
1.การแปลงหนี้ โดยแบ่งออกเป็น
- แปลงหนี้ในสัดส่วนร้อยละ 100 ของมูลหนี้เป็นทุน ของเจ้าหนี้กลุ่ม 4 ซึ่งรวมถึงเจ้าหนี้เงินกู้ยืมจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ได้แก่ กระทรวงการคลัง
- แปลงหนี้ในสัดส่วนร้อยละ 24.50 ของมูลหนี้เป็นทุน ของเจ้าหนี้กลุ่ม 5 (สถาบันการเงินที่มีสิทธิตามสัญญาโอนสิทธิในการรับเงินจากการขายเครื่องบิน) เจ้าหนี้กลุ่ม 6 (สถาบันการเงินไม่มีประกัน) และเจ้าหนี้กลุ่มที่ 18-31 (เจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้)
- แปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติมจากร้อยละ 24.50 ที่ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการในส่วนของเจ้าหนี้กลุ่ม 4 5 6 และ 18-31
2.การเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ผู้ถือหุ้นก่อนการปรับโครงสร้างทุน พนักงานบริษัท และนักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจงตามลำดับ
ทั้งนี้ การบินไทยคาดว่าจะสามารถดำเนินการปรับโครงสร้างทุนให้แล้วเสร็จได้ภายใน 31 ธ.ค.2567 ตามที่กำหนดในแผนฟื้นฟูกิจการ โดยมีวัตถุประสงค์ให้งบการเงินประจำปี 2567 ของบริษัทฯ มีส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวก ซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขความสำเร็จของการฟื้นฟูกิจการ หลังจากนั้นบริษัทฯ คาดว่าจะสามารถยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ และหุ้นของบริษัทฯ กลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2568
ขณะที่ ผลสำเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการ ตามที่การบินไทยได้ยื่นต่อศาลล้มละลายกลางไว้นั้น จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จรวม 4 เงื่อนไข ได้แก่
1.การเพิ่มทุนจดทะเบียน โดยจะต้องดำเนินการจดทะเบียนเพิ่มทุนและได้รับสินเชื่อใหม่ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในแผน และมีจำนวนที่เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ
2.ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ ไม่ผิดนัดชำระหนี้ได้ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วย
3.มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จากการดำเนินงานหลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าซื้อเครื่องบิน เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปี ใน 2 ปีก่อนที่จะรายงานผลสำเร็จของแผนฟื้นฟู
4.การแต่งตั้งคณะกรรมการใหม่ ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น