ส่องนโยบายเศรษฐกิจ เคลื่อน ‘รัฐบาลปี 2‘ กาสิโน - แลนด์บริดจ์ - ดึงลงทุน

ส่องนโยบายเศรษฐกิจ เคลื่อน ‘รัฐบาลปี 2‘ กาสิโน - แลนด์บริดจ์ - ดึงลงทุน

รัฐบาลดัน 3 นโยบายเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2 เร่ง 3 นโยบายกาสิโน แลนด์บริดจ์คู่ พ.ร.บ.SEC เปิดประมูล 68 “ภูมิธรรม” ดันอีอีซี สร้างเชื่อมั่นลงทุน ผลงาน 1 ปี เน้นลดค่าครองชีพตรึงพลังงาน - ท่องเที่ยว แจกเงินดิจิทัลได้ใช้ไตรมาส 4 ปีนี้หลังเลื่อนหลายรอบ ส่วนค่าแรง 400 ลุ้น 1 ต.ค.นี้

KEY

POINTS

  • รัฐบาลเศรษฐาจะครบรอบการบริหารงาน 1 ปีในเดือนก.ย.2567 

  • ในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจปีที่ 2 รัฐบาลเตรียมผลักดันโครงการสำคัญ นอกจากดิจิทัลวอลเล็ตที่มีกำหนดเริ่มโครงการในไตรมาสที่ 4/67 ยังมีโครงการที่สำคัญโครงการอื่นๆ

  • รัฐบาลอยู่ระหว่างผลักดัน พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจร และโครงการแลนด์บริดจ์ที่มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุน 5 ชาติ และจะดัน พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) เข้าสภาฯ ปีหน้า

  • ในภาพรวมผลงานรัฐบาลในด้านเศรษฐกิจยังต้องรอพิสูจน์โดยเฉพาะการผลักดันการเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ได้เฉลี่ยปีละ 5% ตามที่ตั้งเป้าไว้ 

 

รัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน จะครบรอบการทำงาน 1 ปีในเดือน ก.ย.2567 โดยในแง่ของผลงานเศรษฐกิจในรอบขวบปีของรัฐบาลยังไม่เห็นผลการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรมชัดเจนทำให้เป้าหมายในการบริหารเศรษฐกิจที่รัฐบาลตั้งเป้าให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัวเฉลี่ย 5% ยังห่างไกลจากเป้าหมายที่วางไว้ นายพิชัย ชุณวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ระบุว่าจะพยายามขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจให้จีดีพีปีนี้ขยายตัวได้ 3% ขณะที่หน่วยงานเศรษฐกิจคาดการณ์ว่าจีดีพีไทยจะขยายตัวที่ประมาณ 2.4 – 2.8%

ในปีที่ 2 ในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลเห็นการเตรียมความพร้อมที่จะผลักดันนโยบายนี้ประกอบไปด้วย 3 นโยบายหลักได้แก่ 

1.นโยบายธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือ Entertainment Complex โดยนโยบายนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบในหลักการตั้งแต่เดือนเม.ย. และได้ให้กระทรวงการคลังจัดทำร่างกฎหมายควบคู่กับข้อเสนอของคณะกรรมาธิการศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร(Entertainment Complex) เพื่อแก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมาย และเพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ

ล่าสุดกระทรวงการคลังเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. .... โดยเปิดรับฟังความเห็นผ่านเว็บไซต์ตั้งแต่วันที่ 2 ส.ค.-18 ส.ค.2567

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้อยู่ขั้นตอนการประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย จากนั้นจะนำความเห็นมาปรับปรุงร่างกฎหมายก่อนเสนอ ครม.พิจารณา และจะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจร่างกฎหมายก่อนเสนอรัฐสภา

ส่วนจะแล้วเสร็จทันภายในปี 2567หรือไม่ ต้องให้เป็นไปตามขั้นตอน โดยกฎหมายฉบับนี้ครอบคลุมหลายส่วน โดยผู้ประกอบการเอกชนเกี่ยวข้องมีจำนวนที่เกี่ยวข้องกับ “Fun Economy” ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในกฎหมายฉบับนี้ถือว่าครอบคลุมหลายกลุ่มวงกว้าง

ร่าง พ.ร.บ.การประกอบสถานบันเทิงครบวงจรกำหนดให้ “สถานบันเทิงครบวงจร” หมายความว่า การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงตามบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.นี้หลายประเภทรวมกัน ร่วมกับกาสิโน และกำหนดให้ “กาสิโน” หมายความว่า การจัดให้มีการเข้าเล่นหรือการเข้าพนันในสถานที่ ที่กำหนดเป็นการเฉพาะทั้งนี้ผู้ประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรต้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งจดทะเบียนในไทยและมีทุนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาทผู้ขอรับใบอนุญาตต้องยื่นขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร และให้ใบอนุญาตมีอายุ 30 ปีนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต

โดยผู้รับใบอนุญาตต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาต และค่าธรรมเนียมรายปีตามที่กำหนด แต่ต้องไม่เกินอัตราตามบัญชีแนบท้ายกฎหมายนี้ โดยให้มีการประเมินประสิทธิภาพการดำเนินงานทุก 5 ปี และอาจพิจารณาต่ออายุคราวละไม่เกิน 10 ปี

2.นโยบายแลนด์บริดจ์ นโยบายนี้เป็นนโยบายที่รัฐบาลผลักดันเพื่อให้เกิดการลงทุนขนาดใหญ่โดยนายกรัฐมนตรีได้หยิบเอาโครงการนี้มานำเสนอต่อนักลงทุนในหลายเวที โดยความคืบหน้าของโครงการล่าสุดนายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่ารัฐบาลอยู่ระหว่างเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะภาคใต้ที่กำลังจะมีการพัฒนาโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย - อันดามัน (แลนด์บริดจ์) โครงการได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั้งใน และต่างประเทศ เช่น จีน ดูไบ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย โดยนักลงทุนเห็นด้วยกับแผนพัฒนา และรายละเอียดโครงการที่ศึกษาไว้ รวมทั้งยังเล็งเห็นว่าหากมีการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น จะทำให้โครงการแลนด์บริดจ์ประสบความสำเร็จอย่างมาก

พ.ร.บ.SEC เข้าสภาฯ ปี 68 

สำหรับการขับเคลื่อนโครงการแลนด์บริดจ์ สนข.ได้จัดสรรงบประมาณในปี 2568 จ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษารายละเอียดโครงการ เพื่อประกวดราคาคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน คาดว่าจะดำเนินการเปิดประมูลได้ภายในปลายปี 2568 ซึ่งจะดำเนินการควบคู่ไปกับการจัดทำพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ พ.ร.บ. SEC คาดว่ากระบวนการจะแล้วเสร็จ พ.ร.บ.SEC น่าจะมีผลในช่วงต้นปี 2568

3.การขับเคลื่อนนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) แม้ว่าโครงการนี้จะไม่ใช่โครงการที่ริเริ่มโดยรัฐบาลเพื่อไทย แต่รัฐบาลปัจจุบันเริ่มมีความเห็นที่ตรงกันว่าหากจะขับเคลื่อนการลงทุนขนาดใหญ่ให้เห็นผลเร็วเป็นรูปธรรมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่รัฐบาลจะต้องกลับมาสานต่อ และขับเคลื่อนโยบายอีอีซีที่ผ่านมานายเศรษฐา ก็ได้มีการเดินทางลงไปดูความคืบหน้าของโครงการในอีอีซี และเร่งรัดโครงสร้างพื้นฐานที่ยังล่าช้าได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) โครงการท่าเรือแหลมฉบัง 3 และท่าเรือมาบตาพุด 3

 ขณะที่โครงการการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออกล่าสุดนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้เดินทางลงไปในพื้นที่เพื่อติดตามความคืบหน้าของโครงการพร้อมให้คำเชื่อมั่นกับนักลงทุนว่าโครงการอีอีซีจะเกิดขึ้นแน่นอน อีอีซี จะสร้างความเชื่อมั่น ให้เกิดการลงทุนรัฐบาลพร้อมจะผลักดัน ให้เกิดการลงทุนในอีอีซีมากขึ้นอย่างเต็มกำลัง ซึ่งขณะนี้อีอีซีมีโครงการที่รอการลงทุนตาม EEC Track อยู่กว่า 2.7 แสนล้านบาท

ส่องผลงานเศรษฐกิจรัฐบาล 1 ปี

สำหรับการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจหลักในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา หากดูในเรื่องของนโยบายเศรษฐกิจสำคัญๆ ที่รัฐบาลได้มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาฯ และตั้งเป้าหมายในการทำงานเอาไว้ว่าจะเป็นนโยบายควิกวินที่จะขับเคลื่อนภายใน 1 ปีเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ประกอบไปด้วย

  • ดิจิทัลวอลเล็ตลุ้นใช้ทันไตรมาส 4 ปีนี้

1.นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายเติมเงิน 10,000 บาทในกระเป๋าเงินดิจิทัลวอลเล็ต นโยบายลดค่าครองชีพ นโยบายการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ นโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยว และดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ประเทศไทย

นโยบายแรกคือ นโยบายเติมเงิน 10,000 บาทในกระเป๋าเงินดิจิทัลวอลเล็ตซึ่งรัฐบาลได้มีการเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนโครงการไปเมื่อวันที่ 1 ส.ค.67 ที่ผ่านมาปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการประมาณ 23 ล้านคน โดยโครงการนี้มีความล่าช้า และมีการเลื่อนไทม์ไลน์การแจกเงินออกมาเป็นระยะๆ จากปลายปี 2566 มาเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2567 และล่าสุดขยับเวลามาเป็นไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ โดยนโยบายนี้มีการขับเคลื่อนยากทั้งในเรื่องของกฎหมายการเงินการคลัง วิธีการทางงบประมาณ รวมทั้งการวางระบบทั้งระบบลงทะเบียน และระบบธุรกรรมทางการเงินขนาดใหญ่ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ

โครงการนี้มีการปรับเปลี่ยนเรื่องแหล่งเงินในโครงการจากรัฐบาลหลายครั้งจากเดิมจะใช้การออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ปรับมาเป็นการใช้งบประมาณ และเงินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก่อนที่จะมีการยกเลิกการใช้เงินของ ธ.ก.ส.มาใช้วิธีการบริหารจัดการเงินงบประมาณในปี 2567 และ 2568 และการออก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมเป็นงบกลางปี 2567 อีก 1.22 แสนล้านบาท ซึ่งแม้จะลดความเสี่ยงเรื่องของข้อกฎหมายลงไปได้แต่ผลที่ตามมาในเรื่องของงบประมาณ และหนี้สาธารณะภาพรวมของประเทศปรับแผนบริหารหนี้สาธารณะปี 2567 ครั้งที่ 2 ที่รัฐบาลมีการก่อหนี้ใหม่อีก 2.7 แสนล้านบาท ดันให้ตัวเลขหนี้สาธารณะต่อจีดีพีปรับเพิ่มขึ้นเป็น 65.05% เมื่อสิ้นปีงบประมาณ

  • ตรึงค่าไฟ 4.18 บาทต่อหน่วย ขยายเพดานดีเซล

2.นโยบายลดค่าครองชีพในส่วนของราคาพลังงาน รัฐบาลได้มีการใช้นโยบายตรึงค่าไฟฟ้าที่ 4.18 บาทต่อหน่วยตั้งแต่ค่าไฟงวดที่แรกเดือน ม.ค.- มี.ค.2567 และลดค่าไฟให้กับกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือนจะได้รับส่วนลดเพิ่ม 21 สตางค์ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 17 ล้านครัวเรือน ที่จะจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตราเดิมคือ 3.99 บาทต่อหน่วย

นโยบายนี้ใช้งบกลางในการบริหารจัดการครั้งละประมาณ 1,950 ล้านบาท รวม 4 ครั้งในปี 2567 ใช้งบกลางฯ ในการบริหารจัดการค่าไฟฟ้าไปประมาณ 7.8 พันล้านบาท อย่างไรก็ตามการบริหารจัดการค่าไฟฟ้าในอัตรานี้ทำให้ภาระหนี้คงค้างเรื่องค่าไฟฟ้าของการไฟฟ้าแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 9.5 หมื่นล้านบาท และหนี้ที่ต้องชำระคืนบริษัท ปตท.อีกประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท ยังคงเป็นการทยอยชำระเพื่อไม่ให้กระทบกับอัตราค่าไฟฟ้าของประชาชน

 

ในส่วนของการลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องการตรึงราคาน้ำมันขายปลีกน้ำมันดีเซลเพื่อให้สอดคล้องกับราคาน้ำมันในตลาดโลก และสถานะของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีหนี้สะสมกว่า 1.1 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลขยายเพดานการตรึงราคาน้ำมันดีเซลจากไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรไปเป็น 33 บาทต่อลิตร โดยมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ล่าสุดให้ตรึงราคาที่เพดานนี้ไปจนถึงวันที่ 31 ต.ค.2567 โดยให้กองทุนน้ำมันฯ บริหารเงินในกองทุนไปก่อน ขณะที่การใช้กลไกภาษีสรรพสามิตน้ำมันที่รัฐบาลเคยใช้เป็นเครื่องมือในการลดราคาน้ำมันมาก่อนหน้านี้เป็นกลไกที่รัฐบาลมีข้อจำกัดในการนำมาใช้ในขณะนี้เพราะกระทบกับการจัดเก็บรายได้ของประเทศหลังจากในปี 2567 โดยก่อนหน้านี้นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลังยอมรับว่าการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันทำให้รัฐเสียรายได้ในปีงบประมาณนี้กว่า 2.8 หมื่นล้านบาท

  • ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 ทั่วประเทศ 1 ต.ค.67

3.การปรับค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งรัฐบาลได้มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่าจะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 600 บาทภายในปี 2570 โดยนายกรัฐมนตรีได้ออกมาให้สัมภาษณ์หลายครั้งว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องทยอยทำแบบค่อยเป็นค่อยไป และอยากเห็นการขยับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ 400 บาทต่อวันก่อน โดยที่ผ่านมาได้มีการปรับขึ้นแล้วใน 10 จังหวัดนำร่องที่เป็นจังหวัดที่มีรายได้จากการท่องเที่ยว ขณะที่การปรับค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศเป็นวันละ 400 บาทต่อวันจะเกิดขึ้น

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวในกิจกรรมวันแรงงานแห่งชาติประจำปี 2567 จะเกิดขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 อย่างไรก็ตามการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำถือเป็นหนึ่งในความท้าทาย และความเสี่ยงที่ผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีแสดงความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้นในภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวมากในปัจจุบัน

  • ตั้งเป้ารายได้ท่องเที่ยว 3.5 ล้านล้านบาท

4.นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวถือเป็นนโยบายที่รัฐบาลใช้พูดถึงความสำเร็จในเรื่องการบริหารเศรษฐกิจอยู่บ่อยครั้งนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของไทยผ่านมาตรการต่างๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบาย IGNITE Thailand 8 ด้าน ของนายกรัฐมนตรี และรัฐบาล โดยย้ำว่า IGNITE Thailand's Tourism เป็นด้านแรกๆ “เป็นเครื่องจักรเศรษฐกิจ” ที่จะมีบทบาทอย่างยิ่งในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยได้อย่างเร็ว โดยข้อมูลสถานการณ์การท่องเที่ยวของไทยระบุว่า เมื่อปีที่แล้วนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้าประเทศในปี 2567 (ข้อมูล ณ วันที่ 4 สิงหาคม 2567) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยประมาณ 21,045,344 ล้านคน

ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว (ปี 2566) โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น 33% ตลอดเวลา 7 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ค.67) โดยนักท่องเที่ยวทุกเดือนมีจำนวนสูงขึ้นต่อเนื่อง เมื่อรวมจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีอยู่ที่ 37.98 ล้านคน ( เพิ่ม 34.88%) ส่วนนักท่องเที่ยวไทย พบว่าท่องเที่ยว 105.00 ล้านคน-ครั้ง (เพิ่ม 5%) เมื่อรวมจำนวนนักท่องเที่ยวไทยทั้งปีอยู่ที่ 205.08% ล้านคน-ครั้ง (เพิ่ม 10.46%) ส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวรวม 1,410,000 ล้านบาท (เพิ่ม 6.2%) เมื่อรวมรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งปีอยู่ที่ 2,738,000 ล้านบาท (เพิ่ม 31%) ขณะที่รัฐบาลตั้งเป้ารายได้ท่องเที่ยวปี 2567 อยู่ที่ 3.5 ล้านล้านบาท

ขณะเดียวกันรัฐบาลได้มีมาตรการ “ฟรีวีซ่า” เพิ่มเติมโดยปรับให้ชาวต่างชาติจาก 93 ประเทศ เดินทางมาประเทศไทยได้โดยได้รับสิทธิยกเว้นการตรวจลงตรา และสามารถอยู่ในประเทศไทยได้ไม่เกิน 60 วัน เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยโฆษกรัฐบาลคาดว่านโยบายนี้จะสร้างรายได้เข้าประเทศได้อีก 8 แสน – 1 ล้านล้านบาท

  • โรดโชว์ 14 ประเทศดึงการลงทุน

และ 5.นโยบายการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งเป็นอีกนโยบายที่รัฐบาลประกาศไว้ในชุดนโยบาย IGNITE Thailand ในช่วงเกือบๆ 1 ปีที่ผ่านมา นายเศรษฐามีการเดินทางไปโรดโชว์ และร่วมการประชุมสำคัญในต่างประเทศทั้งในสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น รวม 14 ประเทศ กับอีก 1 เขตเศรษฐกิจพิเศษพบปะนักธุรกิจชั้นนำระดับโลกจำนวนมากผลที่เป็นรูปธรรมจากการไปดึงบริษัทชั้นนำเข้ามาลงทุนนั้นยังไม่ชัดเจนแต่มีตัวเลขการขอส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้น 

ขณะที่ตัวเลขการลงทุนจริงที่มองผ่านตัวเลขการลงทุนทางตรง (FDI) ถือว่ายังมีน้อย ที่ผ่านมาบริษัทขนาดใหญ่ที่ประกาศเข้ามาลงทุนในไทยส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และอิเล็กทรอกนิกส์ ขณะที่บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่อย่างไมโครซอฟต์มีการประกาศแผนลงทุนในไทยแต่ยังไม่ประกาศตัวเลขในการลงทุนที่ชัดเจน

  • "พิชัย" ตั้งเป้าดึงลงทุนจริง 3 หมื่นล้าน

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ได้ตั้งเป้าหมายว่าจะใช้มาตรการกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน เร่งรัดให้นักลงทุนที่ได้รับการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนให้เริ่มลงทุนจริงให้ได้ภายในปีนี้ประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาท ซึ่งตรงนี้ก็จะทำงานร่วมกับบีโอไออย่างใกล้ชิดเพื่อให้นักลงทุนกลับเข้ามาลงทุนในไทยให้เร็วที่สุด

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์