เศรษฐกิจสหรัฐเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย?
เดิมทีผมจะเขียนเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทย แต่ในช่วงหลังนี้ ราคาหุ้นปรับตัวลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะหุ้นเทคโนโลยีที่สหรัฐ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่หุ้นราคาแพง เพราะนักลงทุนตั้งความหวังกับอนาคตของหุ้นดังกล่าวเอาไว้สูงมาก
แต่อีกสาเหตุหนึ่ง คือตัวเลขเศรษฐกิจมหภาคของสหรัฐที่อ่อนตัวลงค่อนข้างมากเกินคาด ทำให้แนวคิดของนักลงทุนและนักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กลัวว่าธนาคารกลางสหรัฐจะคุมเงินเฟ้อไม่อยู่
แต่มาวันนี้ ตลาดแรงงานอ่อนแรงลงเกินคาด และเงินเฟ้อก็ปรับลดลงมาเหลือเพียง 2.5% ทำให้กังวลว่า เศรษฐกิจของสหรัฐเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยตอนปลายปีนี้
ที่มีการกล่าวถึงกันอย่างมากคือ Sahm Rule ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้วัดการเข้าสู่สภาวะถดถอยของเศรษฐกิจ
Sahm Rule นี้คิดค้นโดยนักเศรษฐศาสตร์ชื่อ Claudia Sahm เมื่อปี 2019 ในช่วงที่ทำงานที่ธนาคารกลางสหรัฐและคณะที่ปรึกษาเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโอบามา
โดยตั้งใจให้เป็นเครื่องมือในการแจ้งเตือนว่าเศรษฐกิจได้เข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว เพื่อให้รัฐบาล สามารถเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ ด้วยนโยบายการคลังได้อย่างทันท่วงที
โดย Salm Rule นั้นให้ความสำคัญกับอัตราการว่างงานที่เร่งตัวเพิ่มขึ้น โดยเกณฑ์คือ ตัวเลขอัตราว่างงานเฉลี่ยในช่วง 3 เดือนล่าสุด เทียบกับอัตราว่างงานเฉลี่ยในช่วง 3 เดือนในปีก่อนหน้า หากเพิ่มขึ้น 0.50% หรือมากกว่า ก็แปลว่า เศรษฐกิจได้เข้าสู่สภาวะถดถอยไปแล้ว
ประเด็นที่ทำให้นักลงทุนกังวลคือ คืออัตราการว่างงานในเดือนกรกฎาคมที่ประกาศออกมาเมื่อวันศุกร์ที่ 2 สิงหาคมนั้น นั้นปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 4.3% จาก 4.1% ในเดือนมิถุนายน
ทำให้อัตราการว่างงานเฉลี่ย 3 เดือนเท่ากับ 4.13% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (เฉลี่ยอัตราการว่างงาน ในเดือนมิถุนายน ถึงเดือนกรกฎาคม 2023) ที่เฉลี่ยเท่ากับ 3.6% เมื่อลบกันแล้วก็จะพบว่า อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น 4.13 - 3.6 = 0.53% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ของ Sahm Rule คือต่ำกว่า 0.50%
ประเด็นคือ ตลาดแรงงานของสหรัฐได้อ่อนตัวลงอย่างมีนัยสำคัญจริง แต่จะอ่อนตัวมากเพียงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยจริงหรือไม่และเมื่อไหร่?
แน่นอนว่า การเข้าสู่สภาวะถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐนั้น เป็นข่าวร้ายอย่างมากสำหรับเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย นอกจากนั้น ก็จะช่วยให้อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ มีโอกาสชนะการเลือกตั้งเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ดังนั้น ความแม่นยำของ Salm Rule ในการคาดการเศรษฐกิจสหรัฐในปีนี้ จึงมีความสำคัญอย่างมาก
ข่าวดีคือ Claudia Sahm เอง ได้เขียนบทความและให้สัมภาษณ์ว่า สภาวะการปัจจุบัน เป็นสภาวะการพิเศษ ที่ทำให้ตัวบ่งชี้ของเธอ ผิดเพี้ยนไปในทางที่ส่งเสียงเตือน “ดังเกินไป”
เพราะในช่วงหลังโควิดระบาดนั้น ตลาดแรงงานสหรัฐตึงตัวอย่างรุนแรง ทำให้มีความต้องการจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นอย่างมาก และได้กระตุ้นให้มีแรงงานต่างด้าวไหล เข้ามาในสหรัฐอย่างมาก เมื่อความต้องการแรงงานชะลอตัวลงบ้าง แต่คนที่ต้องการหางาน ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (rising labor force participation rate)
ก็เลยส่งผลให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น แต่เป็นการเพิ่มขึ้น ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากการปลดพนักงานที่เพิ่มขึ้นผิดปกติ (excessive layoffs causing a rise in unemployment) แต่เพิ่มขึ้นเพราะว่ามีจำนวนคนเข้ามาในตลาดแรงงานเพื่อหางานมากขึ้น (unemployment rising from higher labor force participation rate)
แต่ต้องยอมรับว่า ตัวเลขการว่างงานนั้น เพิ่มขึ้นจริงและการจ้างงานในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ที่เพิ่มขึ้นเพียง 114,000 ตำแหน่งนั้น ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์คือ 175,000 ตำแหน่งอย่างมาก ทั้งนี้ ในช่วง 12 เดือนก่อนหน้า อัตราการจ้างงานใหม่ของสหรัฐสูงถึง 215,000 ตำแหน่งโดยเฉลี่ยต่อเดือน
นอกจากนั้น ตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ ของสหรัฐเช่น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในภาคการผลิต (US ISM PMI Manufacturing) ก็อ่อนตัวลง และต่ำกว่าที่คาดการณ์ในช่วงเดือนกรกฎาคมเช่นกัน
จึงทำให้นักลงทุนและนักวิเคราะห์เริ่มวิตกกังวลกับแนวโน้มของเศรษฐกิจสหรัฐในครึ่งหลังของปีนี้มากขึ้น
โดยตลาดล่วงหน้าทำนายเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2024 ว่า ธนาคารกลางสหรัฐมีโอกาส 72.2% ที่จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงไป 0.25% มีโอกาส 22.3% ที่จะคงดอกเบี้ยนโยบาย และมีโอกาส 5.5% ที่จะลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.50% ในการประชุมวันที่ 18 กันยายน
แต่เมื่อเวลาผ่านไปประมาณเดือนกว่า คือวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา ตลาดล่วงหน้า ไม่คิดแล้วว่าจะมีการคงดอกเบี้ยนโยบาย แต่คาดว่าโอกาสที่ดอกเบี้ยจะลดลง 0.25% เท่ากับ 37% และโอกาสที่ดอกเบี้ยจะลดลง 0.50% เท่ากับ 63%
ประเด็นสุดท้ายคือ Sahm Rule นั้น ในอดีตแม่นยำมากมายเพียงใด? คำตอบคือถูกต้อง 10 ครั้ง “ผิด” (false alarm) 2 ครั้ง
“ผิด” ครั้งแรกคือปีค.ศ 1959 ที่มีสัญญาณเตือน แต่เศรษฐกิจยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย แต่ได้เข้าสู่ภาวะถดถอย 5 เดือนให้หลัง และผิดอีกครั้ง เดือนพฤศจิกายน 1976
แต่สำหรับ 10 ครั้งอื่นๆที่เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยนั้น สัญญาณเตือนจาก Sahm Rule เกิดขึ้นโดยเฉลี่ยเมื่อเศรษฐกิจสหรัฐ เข้าสู่ภาวะถดถอยไปก่อนหน้าแล้วประมาณ 3 เดือน
แปลว่า ในครั้งนี้ หาก Sahm Rule ไม่ผิดอีก ในอนาคตเราจะได้เห็นสถาบัน National Bureau of Economic Research ประกาศว่า เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยไปแล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาครับ.
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร