ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐและปัจจัยที่ต้องจับตามอง
การเพิ่มขึ้นของอัตราการว่างงานส่งผลให้ตลาดกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากระดับของอัตราการว่างงานแตะจุดที่บ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยตามนิยามของ Sahm Rule ที่คิดค้นโดย Claudia Sahm ซึ่งระบุว่า หากค่าเฉลี่ยของอัตราการว่างงานในรอบ 3 เดือนล่าสุดอยู่สูงกว่าอัตราการว่างงานต่ำสุดในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมาเกิน 0.5% จะเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอย
หลังจากสหรัฐรายงานตัวเลขภาคแรงงานที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อวันศุกร์ที่ 2 ส.ค. ที่ผ่านมา มีการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่คาด และอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันสู่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปีที่ 4.3% ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงรุนแรง
การเพิ่มขึ้นของอัตราการว่างงานส่งผลให้ตลาดกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากระดับของอัตราการว่างงานแตะจุดที่บ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยตามนิยามของ Sahm Rule ที่คิดค้นโดย Claudia Sahm ซึ่งระบุว่า หากค่าเฉลี่ยของอัตราการว่างงานในรอบ 3 เดือนล่าสุดอยู่สูงกว่าอัตราการว่างงานต่ำสุดในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมาเกิน 0.5% จะเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดย Sahm Rule สามารถทำนายถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้อย่างแม่นยำมาตลอดนับตั้งแต่ได้ถูกคิดค้นมา
อย่างไรก็ดี Claudia Sahm และนักเศรษฐศาสตร์หลายท่านต่างระบุตรงกันว่า Sahm Rule อาจไม่สามารถนำมาเป็นข้อสรุปสำหรับสถานการณ์ในขณะนี้ได้ เนื่องจากสถานการณ์แตกต่างในอดีตที่ผ่านมา โดย Sahm Rule มีสมมุติฐานว่า ความอ่อนแอของเศรษฐกิจส่งผลให้มีการปลดแรงงานจำนวนมาก เป็นผลให้อัตราการว่างงานสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และจะกระทบต่อการบริโภค แต่การปลดแรงงานในปัจจุบันอยู่ที่ใกล้ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และการปลดแรงงานในช่วงนี้เป็นผลจากปัจจัยชั่วคราวจากผลกระทบของพายุเฮอร์ริเคน
นอกจากนี้ อัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากแรงงานกลับเข้าสู่ตลาดมากขึ้น หลังจากที่แรงงานส่วนหนึ่งกลับไปดูแลครอบครัวหรือไม่กล้าทำงานในช่วงการระบาดของโควิด และเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเริ่มหมดลง รวมถึงจำนวนผู้อพยพที่เข้าสู่ตลาดแรงงานมีมากขึ้น อีกทั้งอัตราการว่างงานล่าสุดยังคงอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 5.69% อยู่มาก ดังนั้น จึงควรดูหลายๆปัจจัยประกอบการพิจารณาถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐ
ในด้านเศรษฐกิจ จีดีพีไตรมาส 2/67 ของสหรัฐโต 2.8% สูงกว่าที่ตลาดคาดที่ 2.0% และเร่งตัวจากไตรมาสแรกที่โต 1.4% โดยตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ ล่าสุดของสหรัฐยังคงบ่งชี้ถึงปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และจำนวนผู้ขอสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ยังคงบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานมีความแข็งแกร่ง จึงอาจมองได้ว่าตลาดแรงงานเพียงแค่ลดความร้อนแรงลง ในขณะที่เงินเฟ้อชะลอตัวลงต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ดังนั้น ภาพรวมของเศรษฐกิจสหรัฐยังคงอยู่ในภาพของ Goldilocks (เศรษฐกิจฟื้นตัวหรือเติบโตภายใต้เงินเฟ้อที่มีแนวโน้มลดลง)
ในแง่ของผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐ กว่า 78% ของบริษัทที่รายงานผลประกอบการไตรมาส 2/67 แล้ว มีผลประกอบการที่ดีกว่าที่คาด และผลประกอบการสูงเกินค่าเฉลี่ยในอดีต แต่ตลาดกลับมองไปที่จุดที่แย่กว่าที่คาดเพื่อหาเหตุผลสนับสนุนเรื่องการปรับฐาน หลังจากที่ตลาดปรับตัวขึ้นต่อเนื่องยาวนาน เช่น ผลประกอบการของบริษัท Microsoft ออกมาดีกว่าที่คาดทั้งรายได้และกำไรสุทธิ แต่ราคาหุ้นกลับปรับตัวลดลง เนื่องจากนักลงทุนมองว่าผลประกอบการในธุรกิจ Cloud ออกมาต่ำกว่าที่คาด นอกจากนี้ การลดลงของตลาดหุ้นทั่วโลกส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปิดสถานะ Yen Carry Trade (กู้เงินในสกุลเงินเยนซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยต่ำ แล้วนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า) เนื่องจากความคาดหวังที่เพิ่มขึ้นต่อการลดดอกเบี้ยของเฟด ส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่า ในณะที่ค่าเงินเยนมีแนวโน้มแข็งค่าท่ามกลางดอกเบี้ยของญี่ปุ่นที่มีทิศทางเป็นขาขึ้น
เมื่อพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานด้านเศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนฯ การร่วงลงของตลาดหุ้นอาจเป็นการตอบรับต่อข้อมูลการจ้างงานในเชิงลบที่รุนแรงเกินไป และตลาดหุ้นทั่วโลกมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวหลังจากนักลงทุนทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลที่ได้รับ
สำหรับปัจจัยเสี่ยงในระยะสั้น ยังคงเป็นเรื่องปัญหาสงครามในตะวันออกกลางที่มีโอกาสจะขยายเป็นวงกว้าง สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ และผลกระทบจากการเลือกตั้งของสหรัฐ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในระยะถัดไป ดังนั้น นักลงทุนจึงควรใช้ความระมัดระวังมากขึ้นในการตัดสินใจลงทุน เนื่องจากสถานการณ์มีความเปราะบางมากขึ้น นอกจากนี้ การที่ตลาดเพิ่มความคาดหวังต่อการลดดอกเบี้ยของเฟด โดยตลาดมองว่าเฟดมีโอกาสที่จะลดดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมในเดือน ก.ย. และอาจลดดอกเบี้ยลงมากกว่า 1% ในปีนี้ ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ตลาดอาจผิดหวังหากเฟดไม่ได้ลดดอกเบี้ยมากอย่างที่ตลาดต้องการ และจะส่งผลกระทบด้านลบต่อตลาดการลงทุนได้
สำหรับนักลงทุนที่ยังคงไม่มั่นใจต่อสถานการณ์ในขณะนี้ อาจเลี่ยงความเสี่ยงโดยเน้นลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงิน หรือ กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น แต่หากนักลงทุนประเมินว่าการปรับฐานน่าจะสิ้นสุดลงแล้ว และทิศทางเศรษฐกิจโดยรวมยังคงดีอยู่ ก็อาจทยอยลงทุนเพิ่มเติม โดยกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ที่หลากหลายเพื่อลดผลกระทบเชิงลบจากกรณีที่ผลตอบแทนการลงทุนไม่เป็นไปตามที่คาด ทั้งนี้ นักลงทุนควรเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ท่านยอมรับได้ และควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน