‘จีน’ ยึดอุตสาหกรรมเหล็กไทย ‘ซินเคอหยวน’ ลงทุนใหญ่ผลิต 12 ล้านตัน/ปี

‘จีน’ ยึดอุตสาหกรรมเหล็กไทย ‘ซินเคอหยวน’ ลงทุนใหญ่ผลิต 12 ล้านตัน/ปี

“เหล็กจีน” ยึดตลาดเไทย “ซินเคอหยวน” ลงทุนเพิ่มกำลังการผลิต 12 ล้านตัน ส.อ.ท.ร้องกระทรวงอุตสาหกรรมควบคุมการตั้งโรงงาน ชี้โรงงานที่มีเพียงพอกับดีมานด์ในประเทศ 16 ล้านตัน ห่วงนำเข้าเหล็กโครงสร้างสำเร็จรูปพุ่ง เลี่ยงมาตรฐาน มอก. เผยปี 66 นำเข้าจากจีนถึง 1.8 หมื่นล้านบาท

อุตสาหกรรมเหล็กไทยได้รับผลกระทบจากเหล็กจีนที่เข้ามาทุ่มตลาดในอาเซียนอย่างต่อเนื่องในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการส่งออกกำลังการผลิตส่วนเกินของจีนออกนอกประเทศ และอาเซียนเป็นแหล่งระบายสินค้าเหล็กของจีน 

ที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยได้ยื่นให้กระทรวงพาณิชย์ออกมาตรการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดเพื่อสกัดสินค้าเหล็กจากจีน แต่ผู้ส่งออกจีนใช้วิธีการปรับคุณลักษณะสินค้าเหล็กเพื่อเปลี่ยนพิกัดศุลกากรและทำให้ไม่ถูกเก็บภาษี และการนำเข้าเหล็กจากจีนในปริมาณสูงส่งผลให้การใช้กำลังการผลิตของโรงงานเหล็กไทยอยู่ในระดับต่ำ

ในขณะที่ผู้ผลิตเหล็กไทยบางรายมีแผนหยุดการผลิตหลังจากได้รับผลกระทบจากเหล็กนำเข้า โดยบริษัท มิลล์คอน บูรพา จำกัด สาขาระยอง ประกาศหยุดกิจการชั่วคราว โดยให้เหตุผลว่าสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน และอุตสาหกรรมเหล็กจากนอกประเทศเข้ามาประกอบธุรกิจในไทยทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมผู้ผลิผลิตเหล็กในประเทศ 

รวมทั้งที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและธุรกิจของบริษัท มิลล์คอน บูรพา จำกัด ทำให้ยอดขายลดลงและขาดสภาพคล่องจึงต้องปรับแผนการเงินและกำหนดมาตรการเพื่อลผลกระทบด้วยการหยุดการประกอบกิจการบางส่วนชั่วคราวทั้งโรงงานและสำนักงาน ตั้งแต่วันที่ 14 ส.ค.ถึง 13 ก.ย.2567 โดยจ่ายค่าจ้าง 75% สำหรับวันที่ไม่ได้มาปฏิบัติงาน และจ่ายค่าจ้าง 100% สำหรับวันที่มาปฏิบัติงาน

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกับ กรุงเทพธุรกิจ ว่า อัตราการใช้กำลังผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กไทยต่ำสุดรอบ 7 ปี โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค.-มิ.ย.) อยู่ที่ระดับ 29.3% เท่านั้น โดยปี 2566 มีอัตรการใช้กำลังการผลิตเพียง 31.2% ส่วนปี 2565 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 33.4%

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมเหล็กไทยกำลังเผชิญสถานการณ์บริษัทเหล็กจีนเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานในไทย โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ส.อ.ท.ได้รวบรวมข้อมูลพบว่า ขณะนี้มีบริษัทจีนเข้ามาลงทุนขนาดกำลังการผลิตรวม 12.42 ล้านตัน ในขณะที่ความต้องการใช้เหล็กของไทยในปี 2567 อยู่ที่ 16 ล้านตัน

สำหรับการลงทุนของบริษัทจีนดังกล่าวมาจาก 2 บริษัท ดังนี้

1.บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด จดทะเบียนวันที่ 23 ก.พ.2554 ทุนจดทะเบียน 1,530 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ อ.บ้านค่าย จ.ระยอง โดยมีโรงงานที่กำลังดำเนินการ กำลังการผลิต 12.09 ล้านตันตัอปี ประกอบด้วย 

  • โรงงานเหล็กลวด กำลังการผลิต 2.28 ล้านตันต่อปี อยู่ระหว่างการก่อสร้าง, โรงงานเหล็กแผ่นรีดร้อน กำลังการผลิต 5.6 ล้านตันต่อปี อยู่ระหว่างการก่อสร้าง, โรงงานเหล็กแผ่นรีดเย็น กำลังการผลิต 0.45 ล้านตันต่อปี ได้รับส่งเสริมการลงทุนจาก BOI แล้ว 
  • โรงงานเหล็กเคลือบ กำลังการผลิต 2.03 ล้านตันต่อปี ได้รับ BOI แล้ว, โรงงานเหล็กท่อ กำลังการผลิต 1.7 ล้านตันต่อปี ได้รับ BOI แล้ว และโรงงานเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ (Welded H, I Beam) กำลังการผลิต 0.03 ล้านตัน อยู่ระหว่างขออนุมัติ BOI

2. บริษัทหย่งจิน เมทัล เทคโนโลยี จำกัด จดทะเบียนวันที่ 7 มิ.ย.2565 ทุนจดทะเบียน 401 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี โดยมีโรงงานเหล็กกล้าไร้สนิมที่กำลังดำเนินการ กำลังการผลิต 0.332 ล้านตันตันปี ประกอบด้วยโรงงานระยะที่ 1 กำลังการผลิต 0.012 ล้านตันต่อปี และโรงงานระยะที่ 2 กำลังการผลิต 0.32 ล้านตันต่อปี โดยผ่านการอนุมัติ BOI แล้ว และอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA)

ส.อ.ท.ร้องควบคุมตั้งโรงงานเหล็ก

นายเกรียงไกร กล่าวว่า กำลังการผลิตเหล็กของผู้ประกอบการไทยไทยเพียงพอต่อความต้องการใช้เหล็กในประเทศ ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจึงควรมีการควบคุมการตั้งโรงงานผลิตเหล็ก

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจีนมีแนวโน้มลงทุนอุตสาหกรรมเหล็กในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจมาจากนโยบายการลดมลพิษในจีน หรือจากกรณีที่จีนถูกหลายประเทศทั่วโลกใช้มาตรการทางการค้า ดังนั้น จึงต้องหาแหล่งลงทุนในการผลิตสินค้าเหล็กใหม่

“หากมีลงทุนและก่อสร้างโรงงานเหล็กจีนในไทยสำเร็จ จะส่งผลโดยตรงต่อผู้ผลิตเดิมในประเทศ โดยเฉพาะอัตราการใช้กำลังการผลิตที่เดิมต่ำมากในปัจจุบันจะลดต่ำลงไปอีก” นายเกรียงไกร กล่าว

รายงานข่าวระบุว่า กำลังการผลิตโรงงานใหม่ของบริษัทซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด 12.09 ล้านตัน ถือว่าค่อนข้างสูง โดยเฉพาะเหล็กแผ่นรีดร้อน กำลังการผลิต 5.6 ล้านตันต่อปี สูงกว่าบริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ เอสเอสไอ ที่มีกำลังการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนชั้น 4 ล้านตันต่อปี

เพิ่ม มอก.คุมมาตรฐานสินค้าเหล็ก

หลังจากได้รับการร้องเรียนว่ามีการจำหน่ายเหล็กเคลือบไม่ได้มาตรฐานสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมเหล็ก และอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่นำเหล็กเคลือบไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเป็นอย่างมาก โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 ก.ค.2567 เห็นชอบร่างกฎกระทรวง 2 ฉบับ ที่คาดว่ามีผลบังคับใช้ภายในเดือน พ.ค.2568  ได้แก่ 

  • 1.ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนเคลือบอะลูมิเนียม 55% ผสมสังกะสี โดยกรรมวิธีจุ่มร้อน ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. …
  • 2.ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนรีดเย็นเคลือบสังกะสี โดยกรรมวิธีจุ่มร้อน ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. …

เหล็กโครงสร้างสำเร็จรูปเลี่ยง มอก.

นายเกรียงไกร กล่าวว่า ปัญหาการนำเข้าสินค้าเหล็กไม่ได้มาตรฐานพบในเหล็กโครงสร้างสำเร็จรูป ซึ่งเป็นสินค้าที่มีความเสี่ยงความปลอดภัยเนื่องจากไม่มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) โดยส่วนประกอบหลักของสินค้าโครงสร้างสำเร็จรูปมาจากสินค้าที่ต้องมี มอก.บังคับ เช่น เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน เหล็กแผ่นรีดร้อน และเหล็กรางน้ำ

ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยปัจจุบันนำเข้าสินค้าเหล็กโครงสร้างสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากจีน ซึ่งข้อมูลปี 2566 มีปริมาณนำเข้า 426,340 ตัน มูลค่า 21,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นสัดส่วนการนำเข้าจากจีนสูงถึง 92% มูลค่า 18,000 ล้านบาท

เหล็ก-วัสดุก่อสร้างด้อยคุณภาพอันดับ 1

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า สมอ.ตรวจเข้มสินค้าไม่ได้มาตรฐานมากขึ้น โดยช่วงเดือน ต.ค.2566 ถึงปัจจุบันเฉลี่ย 10 เดือน พบสินค้าไม่ได้มาตรฐานกว่า 344 ล้านบาท โดยมากกว่าปี 2566 ที่มีมูลค่ารวม 203 ล้านบาท โดยกลุ่มที่พบมากสุด 4 อันดับแรก คือ 

1. เหล็กและวัสดุก่อสร้างกว่า 126 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 37%

2. เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 111 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 33%

3.ยางล้อรถยนต์ 86 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 25% และ

4. สินค้าโภคภัณฑ์ 17 ล้านบาท คิดเป็น 3%

ทั้งนี้ สินค้าไม่ได้มาตรฐานมีแนวโน้มสูงขึ้นจึงอยากให้ภาครัฐเพิ่มความเข้มงวดการตรวจสอบมากขึ้นทั้งกำลังคนและอุปกรณ์การตรวจสอบมาก โดยปัจจุบันตรวจสอบสัดส่วน 10-20% อาจตรวจสอบมากขึ้น