เปิดข้อมูล 'ปิดโรงงาน' ปี 66 Vs 67 ครึ่งปีอัตราเลิกกิจการพุ่ง 86%

เปิดข้อมูล 'ปิดโรงงาน' ปี 66 Vs 67 ครึ่งปีอัตราเลิกกิจการพุ่ง 86%

“ส.อ.ท.” ชี้ ค่าเฉลี่ยยอดปิดโรงงานปี 66 เทียบกับครึ่งปีแรกของปี 67 พบอัตราเร่งการปิดกิจการสูงกว่า 86% คาดปีนี้ เอสเอ็มอีทยอยปิดเหมือน “ใบไม้ร่วง” ส่วนโรงงานไหนที่ยังพยุงไปต้องลดจำนวนทำงานเหลือ 3 วันต่อสัปดาห์ ไม่มีแม้แต่ OT

เศรษฐกิจโลกยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัว เครื่องชี้ด้านการผลิต PMI Manufacturing เดือนก.ค. 2567 ของประเทศหลักทั้งสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ต่างหดตัว โดยที่กำลังซื้อในประเทศของจีนยังชะลอตัว ขณะที่สหรัฐฯ กำลังเผชิญกับตลาดแรงงานที่แผ่วลงกดดันการบริโภคในระยะข้างหน้า กระทบกับครึ่งปีหลัง

ถือเป็นความท้าทายต่อการส่งออกสินค้าของไทย ซึ่งขยายตัวได้เพียง 2% ในช่วงครึ่งปีแรก ขณะที่ภาวะตลาดการเงินโลกเกิดความผันผวน ทั้งเฟดส่งสัญญาณลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วและแรงขึ้น สวนทางกับธนาคารกลางญี่ปุ่นที่ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย โดยรวมทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว 

ส่วนแบ่งตลาดของสินค้าอุตสาหกรรมไทยในอาเซียนลดลง ส่วนแบ่งตลาดส่งออกในอาเซียนของไทยลดลงในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าจาก 12.7% (1Q/66) เหลือ 11.5% (1Q/67) และยานยนต์ลดลงจาก 20.9% (1Q/66) เหลือ 18.7%  (1Q/67)

เป็นผลจากที่จีนได้ส่งออกสินค้ามาแข่งขันในตลาดอาเซียนมากขึ้น โดยเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรม 6 เดือนแรกของปีหดตัว 1.8% นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงเพิ่มเติมจากการรุกตลาดอีคอมเมิร์ซของสินค้าจีน 

เศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังเปราะบางแม้การเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐจะเริ่มนำเม็ดเงินเข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณทำให้การใช้จ่ายของรัฐกลับมาขยายตัวเฉลี่ยสูงกว่ากว่า 15% ในเดือนพ.ค.-มิ.ย. 2567

อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ภายในประเทศชะลอตัวสะท้อนจากยอดโอนอสังหาฯ 5M/67 หดตัว -8.8% ยอดจำหน่ายรถยนต์ 6M/67 หดตัวต่อเนื่องที่ -24%YoY และการส่งออกที่ยังขยายตัวได้น้อย ทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่ำกว่าศักยภาพแม้ว่าภาคการท่องเที่ยวจะทยอยกลับมาฟื้นตัว

จากข้อมูลกรมโรงงานอุตสาหกรรม รายงานว่าในช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ของปี 2567 มีการแจ้งเลิกทะเบียนโรงงาน 667 แห่ง ทุนจดทะเบียน 18,091 ล้านบาท กระทบการจ้างงาน 17,674 คน

สถิติดังกล่าว สูงกว่าช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 มีการแจ้งปิดโรงงาน 373 แห่ง ทุนจดทะเบียน 22,825 ล้านบาท กระทบการจ้างงาน 10,175 คน

ขณะที่ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 มีการแจ้งปิดโรงงาน 463 แห่ง ทุนจดทะเบียน 19,840 ล้านบาท กระทบการจ้างงาน 13,011 คน

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 พบโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการใหม่และขยายโรงงานรวม 1,275 โรงงาน แบ่งเป็น

ประกอบกิจการใหม่ 1,047 โรงงาน และขยายโรงงานใหม่ 228 โรงงาน เกิดแรงงานใหม่เพิ่ม 55,127 คน และเงินลงทุนรวม 219,855.21 ล้านบาท

ในขณะที่โรงงานที่เลิกกิจการรวม 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย.) 2567 มีโรงงานปิดกิจการทั้งสิ้น 667 แห่ง

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หากเทียบยอดเปิดโรงงานในช่วง 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย.2567) จำนวน 1,009 แห่ง แต่เป็นการเปิดในสัดส่วนที่ลดลง คืออัตราเปอร์เซ็นการเร่งเติบโตลดลง

อย่าวไรก็ตาม ในส่วนของการปิดโรงงานเฉพาะปี 2567 ยอด 6 เดือน เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ซึ่งเฉพาะต้นปี 2567 โดย 6 เดือน มีโรงงานปิดไปแล้วทั้งสิ้น 667 แห่ง

ซึ่งหากหาร 6 เดือนจะเท่ากับยอดปิดเดือนละ 111 แห่ง และเป็นอัตราเร่งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนถือว่ามียอดการปิดมากกว่าถึง 86%

นอกจากนี้ ตัวเลขสำคัญ ปี 2566 โรงงานที่ปิดส่วนใหญ่เป็นโรงงานที่มีขนาดใหญ่ มูลค่าการจดทะเบียน 172 ล้านบาท มูลค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 117.5 ล้านบาทต่อแห่ง

ดังนั้น เมื่อนำค่าเฉลี่ยการปิดโรงงานของปี 2566 ที่ 1,337 แห่ง หารด้วยมูลค่า 64,794.38 ล้านบาท หารออกมาจะเท่ากับ 1 โรงงาน ที่เลิกกิจการในปี 2566 จะมีมูลค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 117.55 ล้านบาทต่อโรงงาน

“ปีที่แล้วโรงงานเป็นขนาดกลางและขนาดใหญ่ แต่ปีนี้ 6 เดือน เมื่อนำจำนวนการปิดมาหารด้วยเฉลี่ย 6 เดือน จะพบว่าโรงงานส่วนใหญ่มีขนาดเล็กลง เงินจดทะเบียน 27.12 ล้านบาทต่อโรงงาน ถือว่าปีที่แล้วเอสเอ็มอีขนาดกลางอละใหญ่ได้รับผลกระทบก่อน และปีนี้โรงานขนาดเล็กที่เป็นซัพพลายเชนก็ตามมาด้วย เหมือนกับนกปีกหัก”

ทั้งนี้ ถือเป็นสิ่งที่ ส.อ.ท. กังวลอย่างยิ่งและได้พูดเสมอว่าให้รีบช่วยเอสเอ็มอีก่อนที่จะสายเกินไป เพราะการปิดโรงงานได้กระทบกับการจ้างงาน ซึ่งคาดว่าตั้งแต่ปีที่แล้วคนตกงานประมาณ 32,028 คน ปี 2567 เฉพาะครึ่งปีโดนไปถึง 17,674 คน

เท่ากับว่าปีที่แล้วจนถึงครึ่งปีนี้คนงานตามสถิติหายไปราว 5 หมื่นคน ก็ส่งผลให้โรงงานจำนวนมากที่โดนพิษเศรษฐกิจไม่ดีต่อเนื่อง กำลังซื้อลด หนี้ภาคครัวเรือนสูง และโดนสินค้าจากจีนที่เข้ามาตีตลาด ส่งผลทำให้โรงงานต่างๆ ที่เป็นเอสเอ็มอีที่มียอดขายลดลง

นอกจากนี้ การที่โรงงานที่ปิดกิจการจำนวนมาก ส่วนโรงงานที่ไม่เลิกกิจการก็ต้องลดเวลาการทำงานลง และการทำงานล่วงเวลา (โอที) ก็ไม่มี เพราะกะการทำงานลดลง อย่างเช่นโรงงานรถยนต์ที่เห็นได้ชัดว่า ค่ายญี่ปุ่นจำนวนมากลดเวลาทำงานจาดเดิมสัปดาห์ละ 4-5 วัน ปัจจุบันเหลือ 3 วัน มาจากยอดขายรถยนต์ที่ตกลงมาก และกำลังซื้อที่หายไปในตลาดและมีคู่แข่งจากการนำเข้ารถไฟฟ้า (อีวี) จากจีน เป็นต้น

ส่งผลให้โรงงานต่าง ๆ ต้องปรับตัว ดูกรณี เช่น บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ที่ยุบโรงงานผลิตจากอยุธยาไปอยู่ที่ปราจีนบุรีเหลือที่เดียว เหมือนเป็นการยุบรวมกันจาก 2 โรงงานเหลือโรงงานเดียว

ดังนั้น เวลาต่าง ๆ ก็ปรับลงหมด จึงไม่แปลกใจที่ตัวเลขที่ออกมามีการทำงานเวลาชั่วโมงลดลงไปหมด จะเห็นว่าผลกระทบที่เกิดขึ้น เช่น โรงงานรถญี่ปุุ่นปิดโรงงานลงเหลือแต่ฝ่ายขายและฝ่ายการตลาด ใช้วิธีนำเข้าแทน

“การยุบโรงงาน ส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชนที่เป็นเอสเอ็มอีในห่วงโซ่ได้รับผลกระทบ อาจจะต้องปิดกิจการลงตามไปด้วยอีกจำนวนมาก โรงงานเล็กจะมีเปอร์เซ็นปิดอีกมาก ปีที่แล้วเป็นการปิดของโรงงานขนาดกลางและใหญ่ แต่ปีนี้น่ากลัวสุดคือเอสเอ็มอีที่จะปิดอีกเสมือนใบไม้ร่วง”