กรมประมง วงกฎคุมการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำ ป้องราคาในประเทศตกต่ำ
กรมประมง เร่งแก้ปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำช่วยชาวประมง เข้มบังคับใช้มาตรการป้องกันการลักลอบนำเข้าสินค้าประมงผิดกฎหมาย พร้อมดึงกลไกการตกลงราคาเพื่อใช้หาทางออกร่วมกัน
นางฐิติพร หลาวประเสริฐ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากการที่ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้ กรมประมงเร่งแก้ไขปัญหาสถานการณ์ราคาสินค้าสัตว์น้ำตกต่ำ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวประมงที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้นำมาตรการควบคุมการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำมาบังคับใช้อย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้าสินค้าประมงผิดกฎหมาย พร้อมดึงกลไกการตกลงราคาแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างกลุ่มชาวประมงและผู้ประกอบการ
ทั้งนี้กรมประมงได้ขับเคลื่อนข้อสั่งการดังกล่าวภายใต้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำ ซึ่งมี นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เป็นประธาน เพื่อเร่งหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด ทั้งระยะสั้น และระยะยาว เกิดผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน โดยได้ผลักดันการดำเนินงานภายใต้คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำ 2 คณะ คือ 1. กลุ่มปลาหน้าดิน และ 2. กลุ่มปลาผิวน้ำ ซึ่งตนได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ ดังกล่าว
ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการประชุมหารือถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเด็นการควบคุมการนำเข้าเพื่อไม่ให้เกิดอุปทานส่วนเกิน (Excess supply) จนกระทบต่อราคาสัตว์น้ำภายในประเทศ โดยมี ข้อสรุปแนวทางสำหรับการควบคุมการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำ ดังนี้
1. เพิ่มประสิทธิภาพมาตรการควบคุมสินค้าสัตว์น้ำนำเข้า โดยกรมประมงออกประกาศ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตและการอนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2567 ตามมาตรา 92 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 โดยมีสาระสำคัญ คือ ให้ผู้นำเข้าต้องแสดงและระบุหลักฐาน ดังนี้ 1) เอกสารบัญชีรายละเอียดภาชนะบรรจุ (Packing List) และ 2) สถานที่เก็บหรือกระจายสินค้าในประเทศ
2. คุมเข้มมาตรการป้องกันการลักลอบนำเข้าโดยผิดกฎหมาย โดยกรมประมงมีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการนำเข้า - ส่งออกสินค้าประมงผิดกฎหมายของกรมประมง ร่วมกับชุดปฏิบัติการ “พญานาคราช” ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อป้องกันการลักลอบการนำเข้าสินค้าประมงผิดกฎหมาย
3. มาตรการการตรวจสอบดำเนินคดีกับผู้นำเข้าที่ปลอมแปลงเอกสารประกอบการขออนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำ โดยศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการนำเข้า - ส่งออกสินค้าประมงผิดกฎหมายร่วมกับกองตรวจสอบเรือประมง สินค้าสัตว์น้ำ และปัจจัยการผลิต ได้ตรวจสอบเอกสารประกอบการขออนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำผ่านระบบ Fisheries Single Window (FSW)
ซึ่งพบการปลอมแปลงเอกสารประกอบการขออนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำเข้ามาในราชอาณาจักร ทางด่านตรวจประมงนราธิวาส จำนวน 2 ราย และทางด่านสิงขร จำนวน 2 ราย ทั้งนี้ ได้ดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย และจะขยายผลการตรวจสอบไปยังผู้กระทำความผิดรายอื่น เพื่อดำเนินคดีเพิ่มเติมต่อไป
4. มาตรการควบคุมการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำทางจุดผ่อนปรนพิเศษ โดยกรมประมงได้จัดทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ด่านสิงขร) และผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี (ด่านพระเจดีย์สามองค์) เพื่อขอความอนุเคราะห์ให้เข้มงวด มิให้มีการนำเข้าสินค้าประมงที่ส่งผลกระทบต่อสินค้าประมงไทยทางจุดผ่านแดนที่เป็นจุดผ่อนปรนพิเศษ
รวมถึงการคงความเข้มงวดในการตรวจสอบการนำเข้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ โดยให้คำนึงถึงศักยภาพของเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบเป็นสำคัญ แม้ว่าจะมีการขออนุญาตนำเข้าเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ ยังได้มีการนำกลไกการตกลงราคามาใช้แก้ปัญหาระหว่างกลุ่มชาวประมงกับสมาคมผู้รับซื้อ สมาคมการประมง สมาคมผู้แปรรูป โดยกรมประมงได้มีการดำเนินการเกี่ยวกับกลไกการตกลงราคา จำนวน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มปลาหน้าดิน กลุ่มปลาผิวน้ำ และกลุ่มหมึก
และยังได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยเรื่อง การขับเคลื่อนศูนย์ประสานงานและประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรและอาหาร ระหว่างหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวน 28 หน่วยงาน เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา
ซึ่งเป็นการร่วมมือในการแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรและสินค้าประมง โดยสินค้าประมงที่ได้ริเริ่มจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ได้แก่ กลุ่มสินค้าปลาโอ วัตถุดิบปลาทะเลเพื่อผลิตเนื้อปลาบด (ซูริมิ) และปลากะพงขาว
ทั้งนี้ หากชาวประมง เกษตรกร ประสบปัญหาสินค้าเกษตรและประมงราคาตกต่ำหรือล้นตลาด สามารถแจ้งข้อมูลได้ที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ อาทิ หอการค้าจังหวัด เกษตรจังหวัด ประมงจังหวัด และพาณิชย์จังหวัด หรือติดต่อผ่านแพลตฟอร์มแจ้งปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาดและราคาตกต่ำที่ เว็บไซต์ หอการค้าไทย หรือติดต่อศูนย์ประสานงานและประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรและอาหาร โทร. 0 2018 6888 ต่อ 2600, 6070, 5480