‘เอกชน’ ลุ้น ‘เศรษฐา’ อยู่ต่อ หวั่นสุญญากาศฉุดเศรษฐกิจ
“เอกชน” มอง 14 ส.ค.67 หากนายกฯ พ้นคดีเป็นผลดีต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน ไม่เกิดสุญญากาศการเมือง ต่างชาติมองการเมืองไทยให้ความสำคัญเสถียรภาพ หวังสานต่อดึงลงทุน
ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยคดีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในกรณีการแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี วันที่ 14 ส.ค.2567 ซึ่งภาคเอกชนไทย และต่างชาติจับตาถึงสถานะนายกรัฐมนตรีจะได้บริหารประเทศต่อหรือไม่
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนไทย และต่างชาติต้องการเห็นเสถียรภาพรัฐบาล โดยคำวินิฉัยยุบพรรคก้าวไกลเมื่อวันที่ 7 ส.ค.2567 ทำให้นักธุรกิจตกใจ และมีผลต่อความเชื่อมั่น โดยเฉพาะนักธุรกิจต่างประเทศที่มองว่าปัจจัยเสถียรภาพการเมืองอาจมีผลต่อการตัดสินใจทางธุรกิจ
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีดึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จากการย้ายฐานการผลิตจากจีนหรือประเทศอื่น ดังนั้นหลายประเทศแย่งนักลงทุน โดยการเมืองเป็นหนึ่งในปัจจัยที่บริษัทต่างชาติพิจารณา ซึ่งอาจให้น้ำหนักต่างกันแต่เป็นปัจจัยหนึ่งในการตัดสินใจ โดยบางรายชะลอยื่นขอส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อรอคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
สำหรับนักธุรกิจเอเชียอาจตกใจแต่ไม่มาก เช่น ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่มีคุ้นชินการทำธุรกิจในไทย 30-40 ปี จึงปรับตัวได้ และเข้าใจ ส่วนจีนคงเหมือนกันจึงอาจให้คะแนนตรงนี้ไม่มาก แต่กลุ่มที่ให้คะแนนสัดส่วนสูงจะเป็นแถบอเมริกา และยุโรป ที่ค่อนข้างให้น้ำหนักเสถียรภาพการเมือง
“นักลงทุนต่างชาติลังเลการลงทุน และรอดูคำตัดสินเพราะหากเปลี่ยนนายกฯ กังวลว่าคณะทำงานชุดใหม่จะทำตามที่เคยหารือไว้หรือไม่ หรือจะเปลี่ยนนโยบาย ทำให้นักลงทุนต้องรอแต่ถ้าเป็นอย่างนี้เรื่อยๆ ไม่เป็นผลดี ส่วนกรณีนายกฯ รอดจากคดีและอยู่ในตำแหน่งมองว่าความรู้สึกนักลงทุนจะดีขึ้น เพราะนโยบายเดินหน้าต่อ"
1 ปี ตั้งใจทำงาน-ปรับ-รับกลไกภาครัฐ
นายเกรียงไกร กล่าวว่า การดำเนินงานของนายเศรษฐา ช่วง 1 ปี มีความเข้าใจ กระตือรือร้น และตั้งใจสูง โดยการที่มาจากภาคธุรกิจที่ไม่มีประสบการณ์การเมืองอาจต้องใช้เวลาปรับตัวสู่กลไกภาครัฐ ซึ่งช่วง 3-4 เดือนแรก หลังปรับตัวได้ นายกฯ เดินสายดึงนักลงทุน และสร้างความเชื่อมั่นให้นักธุรกิจต่างชาติ เพื่อสื่อสารว่าไทยพร้อมรับการลงทุน และต้องการอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นทิศทางอนาคต ซึ่งปีแรกทำผลงานผ่านจึงอยากให้สานงานต่อ
นอกจากนี้ เอกชนสื่อสารมาตลอดต้องการให้มีนโยบายประคองผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้อุตสาหกรรมดั่งเดิม โดยเฉพาะลดต้นทุนเพราะอุตสาหกรรมดั่งเดิมมีมูลค่าเพิ่มต่ำกำไรน้อย โดยส่วนใหญ่มีต้นทุนทั้งค่าไฟ ค่าแรง และค่าน้ำมัน
นายเกรียงไกร กล่าวว่า ระยะสั้นรัฐบาลต้องช่วยอุตสาหกรรมให้รอดชีวิต และปรับโครงสร้างภาคการผลิต เพื่อพัฒนาสู่อุตสาหกรรมใหม่ทั้งโครงสร้างอุตสาหกรรม รวมถึงการแก้ปัญหาสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศมาแย่งตลาด
“หอการค้า” หวั่นพ้นตำแหน่งเกิดสุญญากาศ
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้สำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ พบว่าความเชื่อมั่นลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 เป็นผลมาจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจ และเสถียรภาพทางการเมืองที่ต้องจับตาความเคลื่อนไหวการพิจารณาคดีทางการเมืองของนายกรัฐมนตรีในวันที่ 14 ส.ค.67 นี้
ทั้งนี้ หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองขึ้น คาดว่าเศรษฐกิจไทยอาจจะเกิดสุญญากาศระยะสั้น ส่งผลต่อความเชื่อมั่นประเทศ และมีผลต่อเศรษฐกิจปี 2567 ที่ระดับ 0.3% ทั้งนี้เมื่อพิจารณาปัจจัยเศรษฐกิจปัจจุบันถึงปลายปีนี้ มองว่า เศรษฐกิจไทยมีโอกาสน้อยที่จะเติบโตเพราะเผชิญปัญหาเสี่ยงหลายด้าน
สำหรับการประเมินผลการทำงานของรัฐบาลในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่ารัฐบาลเข้ามาช่วงที่มีโจทย์ยากด้านเศรษฐกิจทั้งความไม่ชัดเจนของสงคราม การจัดทำ และการใช้จ่ายงบประมาณล่าช้า ซึ่งเห็นว่าการแก้ไขปัญหาช่วงแรกอาจไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
สำหรับสิ่งที่รัฐบาลมาถูกทางคือ การเร่งการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวที่เป็นตัวพยุงเศรษฐกิจ โดยมีนโยบายเชิงรุกเปิดประเทศรับนักธุรกิจ และนักท่องเที่ยวทั่วโลกจากมาตรการยกเลิกวีซ่าเข้าไทย ซึ่งการท่องเที่ยวปี 2567 จะโดดเด่น และมีนักท่องเที่ยวต่างชาติตามเป้าหมาย 36-37 ล้านคน
“ต้นทุน-ค่าครองชีพ” กระทบปากท้องประชาชน
ส่วนการแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องเป็นประเด็นที่ควรให้ความสำคัญมาก เพราะที่ผ่านมาการท่องเที่ยวเติบโตดี แต่กำลังซื้อ และภาคการผลิตยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะปัจจัยที่เกิดจากต้นทุน และค่าของชีพที่สูง รวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง
ขณะที่ไทยยังขาดการลงทุนจากต่างชาติที่เป็นเมกะโปรเจกต์ด้านเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลง เช่น อุตสาหกรรมชิป และเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งไทยยังอยู่อุตสาหกรรมประเภทเดิมที่สวนทางกับความต้องการตลาดโลก แต่รัฐบาล และ BOI เร่งทำงานเชิงรุกเพื่อดึงการลงทุนเพิ่ม โดยคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนครึ่งแรกปีนี้ (ม.ค.- มิ.ย.) มี 1,412 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 458,359 ล้านบาท
นายกฯ หลุดกระทบท่องเที่ยวระยะสั้น
นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า ภาคท่องเที่ยวอ่อนไหวกับประเด็นความปลอดภัย และความเชื่อมั่นทางการเมือง หากรัฐบาลมีเสถียรภาพจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการท่องเที่ยวในการทำตลาด แต่ถ้าสถานการณ์ไม่แน่นอน 50:50 แบบนี้จะทำให้เดินหน้าได้ไม่สุดเพราะทุกคนต้องลุ้นรอผล
อย่างไรก็ตาม หากนายเศรษฐา พ้นจากตำแหน่งนายกฯ จะกระทบภาคท่องเที่ยวระยะสั้น แต่สุดท้ายแล้วรัฐบาลต้องขับเคลื่อนนโยบายท่องเที่ยวต่อ เพราะเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการสร้างรายได้ตอนนี้
“รัฐบาลมีโจทย์ใหญ่ดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ถึงเป้าหมาย 36.7 ล้านคน ปีนี้ หลังจาก 7 เดือนแรกมียอด 20 ล้านคน เท่ากับช่วง 10 เดือนแรก ต้องทำให้ได้ 30 ล้านคน เพื่อไฮซีซัน 2 เดือนสุดท้ายดึงเข้าไทยอีก 6 ล้านคน กลยุทธ์สำคัญต้องกระตุ้นยอดผ่านผู้ประกอบการเรียลเซกเตอร์ ไม่ใช่แค่จัดอีเวนต์ เพราะมีปัญหากำลังซื้อนักท่องเที่ยวลดลงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจโลกชะลอ”
หากไม่รอดหวั่นกระทบ ศก.ระยะสั้น
นายอิสระ บุญยัง ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากคำวินิจฉัยออกมา กรณีนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน สามารถบริหารประเทศต่อไป มองว่าเศรษฐกิจประเทศยังคงอยู่ในภาวะ “ทรงตัว” ซึ่งต้องมีมาตรการกระตุ้นต่อเนื่อง
ส่วนกรณีนายกฯ ถูกตัดสินว่าผิดต้องออกจากตำแหน่งนั้นจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจระยะสั้น และนโยบายที่เกิดจากแนวคิดของนายกรัฐมนตรีคงยุติลง แต่นโยบายที่มาจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีเสียงมากที่สุดในพรรคร่วมรัฐบาลน่าจะขับเคลื่อนต่อได้ ภายใต้การเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ หากยังคงเป็นพรรคร่วมรัฐบาลเดิมแนวทางการบริหารประเทศจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงในนโยบายมากนัก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยในระยะสั้นเช่นกัน
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์