‘เอกชน’ หวั่นการเมืองอึมครึม เลื่อนคดีนายกฯ 'เศรษฐา' ซ้ำเศรษฐกิจ

‘เอกชน’ หวั่นการเมืองอึมครึม เลื่อนคดีนายกฯ 'เศรษฐา' ซ้ำเศรษฐกิจ

"เอกชน" กังวลสถานการณ์การเมืองไม่นิ่ง หลังจากคดีนายกฯ เลื่อน ส.อ.ท.ชี้สร้างความอึมครึมนักลงทุน "หอการค้า" ความไม่แน่นอนฉุดหุ้นไทย “ไพบูลย์” ห่วงยืดเยื้อกระทบเซนทิเมนต์ลงทุน “ศุภวุฒิ-พิพัฒน์” ย้ำกระทบเชื่อมั่นเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า

การพิจารณาคดีกรณีประธานวุฒิสภาส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่

คดีดังกล่าว สว.จำนวน 40 คน ยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภาว่านายเศรษฐา นำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่านายพิชิตขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ  เพราะเคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากการที่ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ตัดสินคดีนายกรัฐมนตรี ส่งผลให้บรรยากาศโดยรวมเหมือนจะอึมครึมเข้าไปใหญ่ โดยหากมีการตัดสินไปเลยก็จะรู้แล้วรู้รอดไป การที่ยังยืดเยื้อก็ทำให้เกิดความอึมครึมต่อเนื่อง เพราะยังจะต้องมีการลุ้นต่อว่าจะเป็นบวกก็ได้เป็นลบก็ได้ ดังนั้น หากตัดสินมาแล้ว ทุกคนจะได้รู้ทิศทางในการดำเนินธุรกิจต่อไป

อย่างไรก็ตาม ทั้งนักลงทุนทั้งใน และต่างประเทศต่างมองว่าเป็นการซื้อเวลาทำให้ต้องรอความชัดเจน รวมถึงการจะตัดสินใจลงทุนอะไรออกไปก็อาจจะต้องชะลอออกไปด้วย ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจโดยรวม เพราะนักลงทุนทั้งใน และต่างประเทศต่างถามว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป 

“ภาพรวมเศรษฐกิจนักลงทุนชอบความชัดเจน ไม่ชอบความอึมครึมขมุกขมัว ทำให้เดาไปทั้งดีก็ได้ ไม่ดีก็ได้ สถานการณ์แบบนี้ทำให้ทุกอย่างชะลอตัว แทนที่เศรษฐกิจจะพลิกฟื้นหรือจะเป็นการนับหนึ่งของการเริ่มต้นใหม่ที่ควรเริ่มฟื้นตัวได้ก็ทำให้ต้องรอต่อไปอีก” นายเกรียงไกร กล่าว

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาวะความไม่แน่นอนทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลอย่างชัดเจนต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน สะท้อนจากภาวะตลาดหุ้นไทยที่ร่วงลงมา มีการถอนเงินออกนอกประเทศ รวมทั้งอาจส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนใหม่ ดังนั้น ยิ่งสถานการณ์ชัดเจนเร็วเท่าไรก็จะยิ่งส่งผลดี

‘เอกชน’ หวั่นการเมืองอึมครึม เลื่อนคดีนายกฯ \'เศรษฐา\' ซ้ำเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ มองว่าจะได้รับปัจจัยบวกมากขึ้นจากโมเมนตัมของการเบิกจ่ายภาครัฐ เข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวสินค้าเกษตร รวมทั้งนักท่องเที่ยวที่เข้ามามากขึ้นในช่วงปลายปี

การเมืองยืดเยื้อกระทบเซนทิเมนต์ลงทุน 

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การเมืองไทยกรณีตัดสินนายกฯ ยืดเยื้อ ยังเป็นความไม่แน่นอน ทำให้นักลงทุนยังกังวล ซึ่งกระทบต่อเซนทิเมนต์การลงทุนในตลาดหุ้นไทยช่วงนี้อยู่ ยังต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป

อย่างไรก็ตาม มองว่ากรณีการเปลี่ยนตัวนายกฯ ยังไม่น่าจะเกิดขึ้น เป็นเพียงปัจจัยสร้างความกังวลให้กับนักลงทุน ทั้งนี้แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนตัวนายกฯ ก็ยังเป็นความเสี่ยงที่ไม่ถึงขั้นทำให้นักลงทุนไม่ลงทุนเลย เพราะเป็นการเปลี่ยนเพียงตัวบุคคล ไม่ได้เปลี่ยนรัฐบาล และหากรัฐบาลยังเดินหน้าผลักดันนโยบายทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวปีนี้ ได้ 2.5-2.6% และในปีหน้า 3% ตามที่ประกาศไว้ ดังนั้นเชื่อว่าหากเศรษฐกิจไทยดีขึ้นนักลงทุนเชื่อมั่นมากขึ้นจะเห็นการลงทุนโดยตรง และในตลาดหุ้นทยอยฟื้นตัวกลับมา

“ตลาดรอติดตามว่ามาตรการภาครัฐจะเข้ามามีส่วนในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยได้อย่างที่ประกาศไว้หรือไม่ ส่วนมาตรการตลาดทุนที่เข้ามาแก้ปัญหาต่างๆ ถือว่ามาถูกทาง เริ่มเห็นผลดีขึ้น เช่น การใช้มาตรการอัปติ๊ก ลดการชอร์ตเซล”

สศช. ชี้กระทบเชื่อมั่น เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า 

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การเมืองไทยยังมีความไม่แน่นอน และยืดเยื้อ ซึ่งนักลงทุนยังรอความชัดเจนดังกล่าว และส่งผลต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนอยู่ รวมทั้งการฟื้นของเศรษฐกิจไทยล่าช้าออกไปอีกส่วนกรณีธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีโอกาสลดดอกเบี้ยปีนี้ มีมุมมองเงินเฟ้อสหรัฐน่าจะดีขึ้น และน่าจะลดลงได้ 

โดยคาดเฟดลดดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้งในปีนี้ ช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ และไม่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ช่วงเลือกตั้งในเดือนพ.ย.

ทั้งนี้ คาดว่าปีหน้าดอกเบี้ยของเฟดยังทรงตัวระดับสูงต่อ ซึ่งแตกต่างจากมุมมองที่ตลาดคาดว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยต่อในปีหน้า

หากทรัมป์ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ เศรษฐกิจสหรัฐจะไม่ดีเหมือนเดิม ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกจะเพิ่มขึ้น และยังคงเกิดความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งสหรัฐกับจีน และประเทศอื่นๆ

อีกทั้งอาจทำให้ลดดอกเบี้ยของเฟดในปีหน้า ไม่ได้เป็นอย่างที่คิด หนี้สาธารณะของรัฐจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก กดดันดอกเบี้ยระยะยาวของสหรัฐ มีโอกาสปรับขึ้น ซึ่งหากดอกเบี้ยระยะยาวของสหรัฐปรับขึ้น 1% จะส่งผลต่อดอกเบี้ยระยะยาวของไทยเพิ่มขึ้น 1% เช่นกัน ต้นทุนรัฐบาล และเอกชนเพิ่มขึ้น เป็นความเสี่ยงเพิ่ม จากปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงใช้นโยบายการเงินตึงตัว หากยังไม่ลดดอกเบี้ยนโยบายไปเรื่อยๆ จะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง และปีหน้า ต่ำกว่าที่คาดการณ์กันทั้งหมด

“เศรษฐกิจไทยหลายๆ ภาคส่วนน่าจะเริ่มรู้สึกถึงอาการไม่ฟื้นตัว จากการใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวสวนเงินเฟ้อปีก่อน จะใช้เวลา 6-9 เดือนเริ่มเห็นผลต่อภาคเศรษฐกิจจริง ปีนี้เศรษฐไทยไม่ได้ฟื้นตัวอย่างที่คาดหวังกันไว้”

“การเมือง” ยืดเยื้อกดดันเศรษฐกิจฟื้นตัว 

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งหลังปีนี้ ยังมีแรงกดดันมากต่อการฟื้นตัว จากความไม่แน่นอนทั้งการเมืองในประเทศยังยืดเยื้อ คดีตัดสินนายกฯ จะกระทบนโยบายของรัฐบาลกำลังจะดำเนินการอยู่เปลี่ยนแปลงไปอีกหรือไม่ โดยเฉพาะมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต และยังกระทบต่อเซนทิเมนต์การลงทุนในตลาดหุ้นไทยรอการฟื้นตัว

จากความหวังรัฐเร่งเบิกจ่ายในไตรมาส 3 รวมถึงการปรับลดดอกเบี้ยของเฟด ช่วยสนับสนุนบาทอ่อน ส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจของไทย ทำให้กำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทย ปรับตัวดีขึ้นต่อได้ นักลงทุนเชื่อมั่นมากขึ้น ประเมินเป็นจุดกลับของฟันด์โฟวล์ไหลกลับเข้าตลาดหุ้นไทย มองกรอบดัชนีสิ้นปีนี้ที่ 1,450 จุด

อย่างไรก็ตาม ระหวางนี้เศรษฐกิจไทย และตลาดหุ้นไทยยังมีความไม่แน่นอน ในแง่การเมืองในสหรัฐ ที่รอผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเดือนพ.ย.นี้ ระหว่างนี้ที่ยังไม่มีความชัดเจน เพราะหลังจบดีเบตรอบแรก เริ่มมีประเด็นทั้ง “ไบเดน” อาจถอนตัวหรือไม่ และ “ทรัมป์” ประกาศชัยชนะ

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงเป็นเดือนที่ 4

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า จากการสำรวจประชาชนจำนวน 2,243 คน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือน มิ.ย.2567 อยู่ที่ 58.9 ลดลงจาก 60.5 ในเดือน พ.ค.2567 โดยปรับตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือนนับตั้งแต่เดือนต.ค.2566 เป็นต้นมา 

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม อยู่ที่ 52.6 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางาน อยู่ที่ 56.1 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 67.9 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ในรอบ 10 เดือนทุกรายการ โดยสาเหตุที่ทำให้ลดลง มาจาก 3 สาเหตุหลัก คือ 

1.ค่าครองชีพที่สูงขึ้น จากสถานการณ์ราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ประปา ในขณะที่รายได้เพิ่มขึ้นไม่ทันกับรายจ่าย

2.กำลังซื้อหดตัว จากผลของรายจ่ายในชีวิตประจำวันที่เพิ่มขึ้น รายได้ไม่พอ และภาวะหนี้ครัวเรือนในระดับสูง

3.การเมืองไม่นิ่ง โดยมีความกังวลกับการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีสถานภาพของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แม้ว่ายังไม่มีคำวินิจฉัย เพราะจะมีผลต่อการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล หากมีการปรับเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต หรือ นโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้บริโภคเกิดความไม่มั่นใจ และระมัดระวังการใช้จ่าย

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์