‘เศรษฐกิจไทย’ สัญญาณชีพอ่อนแรง

‘เศรษฐกิจไทย’ สัญญาณชีพอ่อนแรง

เศรษฐกิจยุคนี้จะยิ่งหนักหนาสาหัสมากกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง  เพราะไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่เผชิญวิกฤติอยู่อย่างเดียวดาย แต่ทั้งโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตินี้เช่นกัน แต่จะมากหรือน้อย

เป็นที่รู้สึกได้และรับรู้โดยทั่วกันว่า ขณะนี้เศรษฐกิจประเทศกำลังย่ำแย่ โรงงานทยอยปิดตัวไปหลายแห่ง ตัวเลขคนตกงานเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี กำลังถูกพิษเศรษฐกิจเล่นงานหนัก จนต้องปิดธุรกิจไปแล้วหลายแห่ง

การปิดป้ายเซ้งร้านค้าเซ้งที่ทำมาหากิน สัญญาณร้านอาหารที่ไปต่อไม่ไหว กำลังส่งสัญญาณร้าย ตอกย้ำว่า เศรษฐกิจไทยกำลังสาหัส ท่ามกลางความไร้เสถียรภาพในประเทศหลายเรื่องที่ไม่ได้สร้างความมั่นใจให้นักลงทุน หรือในระดับประชาชนมากพอ

สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)และ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ออกมาแสดงความหวั่นใจ ถึงภาพรวมเศรษฐกิจที่ไม่ดีเอาเสียเลย โดยเฉพาะ การชะลอตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ และอสังหาริมทรัพย์ เป็นภาพที่ชัดเจนกำลังกระทบอย่างหนักลุกลามไปยังส่วนอื่นๆ

เราเห็นสัญญาณลบจากยอดจำหน่ายรถยนต์ช่วง 5 เดือนแรกที่หดตัว 24% ส่วนหนึ่งมาจากผู้บริโภคมีรายได้จากเศรษฐกิจนอกระบบเป็นสัดส่วนสูง

ส่วนยอดโอนอสังหาฯ 4 เดือนแรกสำหรับบ้านจัดสรรหดตัว 11.8% และอาคารชุดหดตัว 7.4% ซึ่งหากอุตสาหกรรมยานยนต์และอสังหาฯ มีแนวโน้มหดตัวมากขึ้น และกำลังซื้อช่วงครึ่งปีหลังก็ยังไม่ฟื้น อาจจะกระทบทำให้ GDP ปีนี้ลดลงกว่าที่คาดไว้ 0.3-0.4%

ขณะที่ผลกระทบจากต่างประเทศโดยเฉพาะกับจีน สงครามการค้าทำให้สินค้าจีนถูกต่อต้าน ก็ส่งผลต่อการส่งออกของไทยประมาณ 20% นี่คือ สัญญาณอันตราย

โดยเฉพาะภาคเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นฐานใหญ่ของประเทศไทย กำลังเผชิญวิกฤติที่น่าหวั่นใจ จากต้นตอความเหลื่อมล้ำ การเข้าถึงกลุ่มทุนที่ไม่ง่าย ไม่เหมือนกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่มีสายป่านที่ยาวกว่า มีระบบพิเศษที่เอื้ออำนวยได้มากกว่ากลุ่มเอสเอ็มอี ที่ต้องเผชิญความเสี่ยงเพียงลำพัง

ขณะที่รัฐบาลก็ขาดมาตรการรองรับและยุทธศาสตร์เชิงรุก เพื่อยกระดับการแข่งขันของเอสเอ็มอี การสร้างคน การอุดหนุนส่งเสริมในทุกกระบวนการ ดังนั้นไม่แปลกที่จากนี้ เราจะเห็นเอสเอ็มอีล้มหายตายจากไปเรื่อยๆ 

ขณะที่โลกอยู่ในห้วงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ มีปัจจัยเสี่ยงมากมายที่พร้อมฉุดประเทศที่โครงสร้างเศรษฐกิจไม่แข็งแรงพอ เดินไปสู่วิกฤติที่เร็วขึ้น

หลายคนมองถึงขนาดที่ว่า เศรษฐกิจยุคนี้จะยิ่งหนักหนาสาหัสมากกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง  เพราะไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่เผชิญวิกฤติอยู่อย่างเดียวดาย แต่ทั้งโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตินี้เช่นกัน แต่จะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม การเมืองในประเทศนั้นๆ ซึ่งประเทศไทยยังแข็งแรงไม่พอ แถมเต็มไปด้วยปัญหาที่ถูกซ่อนไว้ใต้พรมมากมาย เมื่อเจอปัจจัยท้าทายถาโถมแบบไม่รู้ตัว สัญญาณชีพของเศรษฐกิจไทยวันนี้จึงน่าห่วงและ ‘อ่อนแรง’ ลงทุกวัน