เปิดช่องโหว่ พ.ร.บ.กาสิโน รัฐได้ภาษี 'ไม่คุ้มเสีย'
"นักวิชาการ" เปิดช่องโหว่ พ.ร.บ.กาสิโน ชำแหละรัฐบาลได้ภาษี “ไม่คุ้มเสีย” เปิดทางเอื้อนายทุนใหญ่ เกิดการคอร์รัปชัน
KEY
POINTS
- รัฐกำหนดให้เอนเทอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ เป็นนโยบายดันในการสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจลดการลักลอบการเปิดสถานบันเทิง บ่อนการพนันที่ทำธุรกิจแบบผิดกฎหมาย
- ทั่วโลกให้ความสนใจธรรมาภิบาล ซึ่งไทยวัดคะแนนตั้งแต่ปี 2538 ไม่เคยพ้น 40 คะแนน แม้จะมีการจัดองค์กรปราบคอร์รัปชัน
- หากคนไทยเล่นกาสิโนจะสร้างต้นทุนทางสังคมมหาศาล ภาษีที่เก็บได้ไม่เพียงพอกับปัญหา กฎหมายละเลยความเป็นจริง วาดฝันแต่การท่องเที่ยว
- คนไทยมากกว่า 50% ไม่เห็นด้วยกับกาสิโนถูกกฎหมาย และอีก 30% เห็นด้วย และที่เหลือยังตัดสินใจไม่ได้ การรวบรัดจึงไม่น่าเป็นผลดี การเปิดกาสิโนหากดูแลไม่ดีจะกระทบกับประชาชน
- การหวังสร้างเม็ดเงินทางเศรษฐกิจด้วยกาสิโน กฎหมายต้องแข็งแรงมีหน่วยงานควบคุม แต่กฎหมายที่ยกร่างมามีช่องโหว่
รัฐบาลเดินหน้ายกร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ.... อยู่ระหว่างการรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้เสีย โดยกระทรวงการคลังเปิดรับฟังระหว่างวันที่ 2 ส.ค.-18 ส.ค.2567 ผ่านเว็บไซต์
ทั้งนี้ รัฐบาลกำหนดให้เอนเทอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ เป็นนโยบายดันในการสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว ส่งเสริม และกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการหาแหล่งที่มาของรายได้เพิ่ม และยังหวังที่จะลดจำนวนการลักลอบการเปิดสถานบันเทิง บ่อนการพนันที่ทำธุรกิจแบบผิดกฎหมาย
สำหรับร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ.... กำหนดให้มีการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงหลายประเภทรวมกัน ร่วมกับกาสิโน ซึ่งเป็นการจัดให้มีการเข้าเล่นหรือการเข้าพนันในสถานที่ ที่กำหนดเป็นการเฉพาะ
รวมทั้งประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรต้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งจดทะเบียนในไทย และที่มีทุนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท โดยจะได้ใบอนุญาตมีอายุ 30 ปี และจะประเมินประสิทธิภาพการดำเนินงานทุก 5 ปี และอาจพิจารณาต่ออายุได้คราวละไม่เกิน 10 ปี
ส่วนผู้จะเข้าไปใช้บริการต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี โดยต้องลงทะเบียนเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติ และชำระค่าธรรมเนียมก่อนใช้บริการจะคิดค่าใบอนุญาตในปีแรก 5,000 บาท และต่ออายุปีละ 1,000 บาท ส่วนผู้ที่จะเข้าใช้บริการกาสิโนที่มีสัญชาติไทยต้องเสียค่าเข้าบริการอีกครั้งละ 5,000 บาท
ขณะที่กลไกการบริหารจะมีคณะกรรมการนโยบายสถานบันเทิงครบวงจร ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นรองประธาน มีกรรมการโดยตำแหน่ง 9 คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 6 คน
รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน กล่าวงานเสวนาวิพากษ์ (ร่าง) พ.ร.บ.เอนเทอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ “แค่อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่” จัดโดยมูลนิธิรณรงค์หยุดพนันว่า ข้อกำหนดทุนชำระแล้ว 10,000 ล้านบาท ถือเป็นทุนใหญ่ที่จะมาลงทุนเอนเทอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ครบวงจร
ทั้งนี้ บัญชีแนบท้ายที่ระบุกิจการสถานบันเทิงยังไม่ชัดเจนว่าเป็นธุรกิจขนาดเล็ก แม้จะกำหนดประกาศเพิ่มได้อีก รวมทั้งการให้อำนาจคณะกรรมการที่ส่วนหลักเป็นข้าราชการ นักการเมือง นักวิชาการ และผู้เป็นคุณวุฒิที่ไม่ใช่อาจารย์มหาวิทยาลัย จึงเป็นช่องทางให้ภาคเอกชนที่ไม่มีต้นสังกัดเข้ามาส่วนนี้ได้ รวมทั้งไม่เชื่อว่าจะมีภาคสังคมเข้าไปถ่วงดุลได้ทำให้มิติการกำกับควบคุมหายไป
รวมทั้งทั่วโลกให้ความสนใจธรรมาภิบาลลำดับที่ 108 ปี 2023
คะแนนค่ะที่อยู่ 35-40
ลำดับ 1 ที่มีการคอร์รัปชั่นต่ำสุดคือเดนมาร์ก คะแนนที่ 90 คะแนน แม้ไทยจะมีการจัดองค์กรปราบคอร์รัปชัน แต่ก็ไม่ลดน้อยลง
“หากคนไทยเล่นกาสิโนจะสร้างต้นทุนทางสังคมมหาศาล ภาษีที่เก็บได้ไม่เพียงพอกับปัญหา กฎหมายจึงละเลยความเป็นจริง วาดฝันแต่การท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวจะบังคับหนี้อย่างไรเมื่อเขากลับไปแล้ว ประเทศต่างๆ พยายามไม่ให้คนในประเทศเล่น โดยปัจจุบันนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สำคัญมากจากจีน ซึ่งมีกฎหมายเข้มงวดการเล่นการพนัน การจัดทัวร์ดึงจีนมาเล่นไม่ใช่เรื่องง่าย” รศ.ดร.นวลน้อย กล่าว
ทั้งนี้ การสอบถามความเห็นคนไทยมากกว่า 50% ไม่เห็นด้วยกับกาสิโนถูกกฎหมาย และอีก 30% เห็นด้วย และที่เหลือยังตัดสินใจไม่ได้ ดังนั้นการรวบรัดจึงไม่น่าเป็นผลดี โดยปัจจุบันมีการสื่อว่ากาสิโนเสรี แต่ความเป็นเสรีไม่มีในโลก จะมีแต่ถูกกฎหมายแต่ต้องกำกับดูแล
“ร่าง พ.ร.บ.มีจุดอ่อน ถ้าทำตกก่อนเข้าสภาจะดีมาก แม้กาสิโนถูกกฎหมายแต่กาสิโนที่ผิดกฎหมายไม่หายไป เห็นตัวอย่างจากประเทศเพื่อนบ้าน จึงไม่ใช่คำตอบการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ จึงต้องช่วยกันโวยให้ดัง แม้นักการเมืองปัจจุบันจะไม่ฟังเสียงประชาชน แต่เราอย่าอยู่เฉยไม่อย่างนั้นประเทศชาติจะอยู่อย่างไร” รศ.ดร.นวลน้อย กล่าว
ขาดกลไกป้องกันฟื้นฟูผลกระทบจากกาสิโน
นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กล่าวว่า การเปิดกาสิโนหากดูแลไม่ดีจะกระทบกับประชาชน ดังนั้น หากหวังสร้างเม็ดเงินทางเศรษฐกิจ กฎหมายต้องแข็งแรงมีหน่วยงานควบคุม แต่กฎหมายที่ยกร่างมามีช่องโหว่ 3 ประเด็นหลัก คือ
1.ไม่ตรงปกเพราะกาสิโนมีสัดส่วนไม่เกิน 5% ของเอนเทอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ โดยรัฐบาลชูโมเดลสิงคโปร์ที่ต้องสร้างตึกสูง และห้างสรรพสินค้าครบวงจร โรงแรมระดับ 5 ดาว ถูกตัดทิ้ง รวมถึงผู้เล่นต้องมีเงิน 500,000 บาท แต่สิ่งเหล่านี้ได้หายไป รวมถึงกลไกป้องกันฟื้นฟูผลกระทบที่ถูกตัดทิ้ง
2.ตีเช็คเปล่าเอื้อคณะบุคคลบางคณะ เพราะกำกับโดยคณะกรรมการ 18 คน ที่มีอำนาจกำหนดกาสิโนตั้งแต่ต้นจนจบ โดยกฎหมายจะอยู่คู่สังคมตลอดไป และไม่สมควรที่มีการปล่อยสินเชื่อในกาสิโน
3.เอื้อทุนใหญ่ ซึ่งต้องมีทุนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท โดยไม่ต้องประมูลใบอนุญาต แต่คณะกรรมการอนุมัติให้ได้ และขยายการถือครองใบอนุญาต 30 ปี จากเดิมที่มีอายุ 20 ปี ถือว่าเป็นระยะเวลานาน และยกเว้นจากกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว
“ร่างใหม่นี้แย่กว่าร่างของกรรมาธิการ อีกทั้งยังมีการตัดเกณฑ์ก่อนกำหนดขอบเขตที่ตั้งต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ และพื้นที่ใกล้เคียง และบทลงโทษก็ถูกบังคับจะใช้ได้หรือไม่ เพราะกลไกผู้ออกคำสั่งคือบอร์ด” นายธนากร กล่าว
นายธนากร กล่าว หากร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวผ่านจะทำให้ดัชนีคอร์รัปชันของไทยแย่ลง ดังนั้น รัฐบาลควรแก้ไข พ.ร.บ.การพนัน ให้แข็งแรงก่อน และดึงกลไกตาม พ.ร.บ.การพนัน มาบรรจุในคณะกรรมการบริหารระดับชาติ
“ภาษีกาสิโน” รัฐได้ไม่คุ้มเสีย
ผศ.ดร.ชิดตะวัน ชนะกุล นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า รัฐบาลมักเน้นย้ำว่ากาสิโนถูกกฎหมายจะสนับสนุนภาคท่องเที่ยวเป็นภาคอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้ประเทศ ดันการท่องเที่ยวยั่งยืน ดังนั้น อยากให้โฟกัสความยั่งยืนได้เพราะคำนิยามการท่องยั่งยืนจะต้องให้ความสำคัญในมิติ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมทั้งระยะสั้นและยาว
สำหรับมิติสังคม จากการวิจัยจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐพบว่า การมีกาสิโนถูกกฎหมายในประเทศส่งผลกระทบ 2 ประเด็น คือ
1.ยิ่งพื้นที่ใดมีการพนันถูกกฎหมายมาก จะเกิดการพนันแพร่หลาย ยอดการติดพนันเพิ่มขึ้น
2.ยิ่งถูกกฎหมายนานขึ้นจะทำให้ปัญหาจากการพนันมากขึ้น ซึ่งเชื่อมโยงถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ไม่เข้มแข็ง และเกิดปัญหาอาชญากรรม
ส่วนมิติเศรษฐกิจ แบ่งเป็น 3 ประเด็น คือ 1.การสร้างรายได้ภาครัฐ 2.การจ้างงาน และ 3.การกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ ซึ่งการจะสร้างรายได้ให้รัฐบาลหรือไม่นั้น ผลศึกษาจากการเกิดกาสิโนที่ลาสเวกัส พบว่าจำนวนเงิน 1 ดอลลาร์ ที่ได้จากภาษีของกาสิโน รัฐต้องจ่ายค่าเยียวยาผลกระทบถึง 3 ดอลลาร์ จึงได้ไม่คุ้มเสีย
สร้างแรงงานเพิ่มเฉพาะแรงงานทักษะ
นอกจากนี้ แม้การจ้างงานเพิ่มขึ้นแต่เป็นการจ้างงานไม่ก่อมูลค่าเศรษฐกิจ เพราะเป็นงานไม่มีทักษะ ดังนั้นการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประเทศรายได้สูงจึงยาก และสุดท้ายจะกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศได้หรือไม่นั้น รัฐบาลยกตัวอย่างประเทศที่ดีอยู่แล้ว เช่น สิงคโปร์ที่คอร์รัปชันน้อยสุด ขณะที่ไทยมีดัชนีชี้วัดการคอร์รัปชันสูงมาก
“ประเทศที่บังคับใช้กฎหมายดี ไม่มีคอร์รัปชันจะมีความเสียหายไม่มาก แต่ประเทศที่กฎหมายอ่อนต้องระวังหายนะเศรษฐกิจ เช่น ฟิลิปปินส์ ทำกาสิโนถูกกฎหมายมีประเด็นตามมาคือ เกิดปัญหาสังคมและเศรษฐกิจ การคอร์รัปชันรุนแรง อีกทั้ง GDP ต่ำกว่าไทย”
ยัน “กาสิโน” ถูกกฎหมายเอื้อคอร์รัปชัน
ทั้งนี้ ตัวอย่างกาสิโนถูกกฎหมายของสหรัฐ ที่เมืองแอตแลนติสที่คล้ายไทยมีหาดทรายสวยหวังเป็นแหล่งทำเงิน แต่เมืองนี้มีปัญหาหลายอย่าง ทั้งพนันผิดกฎหมาย โสเภณี การคอร์รัปชัน จึงไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อพื้นที่ดังกล่าว รายได้เฉลี่ยต่ำ ความยากจนสูง แม้ข้อดีจะมีรายได้จากภาษีอสังหาริมทรัพย์ไปพัฒนาเยาวชนในพื้นที่ แต่เยาวชนส่วนมากไม่จบการศึกษา อีกทั้งการพนันผิดกฎหมายไม่หมดไป
สำหรับประเด็นที่น่าเป็นห่วง มาตรา 11 กำหนดคณะกรรมการนโยบายให้มีอำนาจในการเก็บภาษี ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าอัตราภาษีต่ำ ในขณะที่ภาษีเงินได้นิติบุคคลอยู่ที่ 20-30% ซึ่งในประเทศพัฒนาแล้วเก็บภาษีถึง 60% เพื่อนำรายได้จากการทำกาสิโนต้องเข้าประเทศ"
"ส่วนตัวมองว่ารัฐบาลจะทำกาสิโนถูกกฎหมายในไทยยังไม่ถึงเวลา เพราะไทยยังไม่พร้อมทั้งมิติสังคม เศรษฐกิจ และความยั่งยืน จึงขอฝากความหวังหากกฎหมายผ่านเข้าสภาฯ แล้วจะตีตกเพื่อเห็นประโยชน์ประเทศชาติ” ผศ.ดร.ชิดตะวัน กล่าว
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์