'พิมพ์ภัทรา' จ่อเรียก 'ทีมู' ถกแก้ปมสินค้าด้อยคุณภาพทะลักเข้าไทย

'พิมพ์ภัทรา' จ่อเรียก 'ทีมู' ถกแก้ปมสินค้าด้อยคุณภาพทะลักเข้าไทย

“พิมพ์ภัทรา” จ่อถก TEMU แก้สินค้าไร้มาตรฐานราคาถูกทะลักเข้าไทย สั่ง สมอ. คุมเข้มคุณภาพ ก่อนไหลถึงมือประชาชน พร้อมช่วย “เอสเอ็มอี” รับต้องรักษาสมดุลความสัมพันธ์กับจีน สถิติพบสินค้าไร้มาตรฐาน 10 เดือนกว่า 322 ล้าน “ส.อ.ท.” หวั่นครึ่งปีหลังไม่แก้ กระทบมากกว่า 30 กลุ่ม

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการมีความกังวลกรณีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่างชาติเข้ามาตีตลาดสินค้าไทย ได้ส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อธุรกิจเอสเอ็มอี รวมถึงความไม่ปลอดภัยของประชาชนจากการใช้สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ไม่ได้นิ่งนอนใจถึงข้อกังวลดังกล่าว ล่าสุดได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อสกัดกั้นสินค้าไม่ได้มาตรฐานเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าที่ สมอ. ควบคุม ทั้ง 144 รายการ จากการที่ สมอ. สามารถดำเนินการได้ตามกฎหมายเพื่อความปลอดภัยของประชาชน

“เบื้องต้นอาจจะต้องเชิญแพลตฟอร์มข้ามชาติ เช่น TEMU (ทีมู) มาร่วมหารือ เพราะขณะนี้ มีเสียงเรียกร้องจำนวนมาก และก็เป็นการหารือกับผู้ประกอบการทั่วไปในเป็นกติกาเดียวกับที่ก่อนหน้านี้ ได้เชิญแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ชต่าง ๆ มาหารือเช่นกัน” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว

อย่างไรก็ตาม การซื้อของดีราคาถูก ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ของก็ต้องมีคุณภาพด้วย อันไหนต้องมีมาตรฐาน ก็ต้องออกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ดังนั้น อาจจะต้องเชิญ TEMU มาหารือ แม้ว่าจะค่อนข้างยาก แต่ก็ต้องพยายาม ถือเป็นอีกช่องทางที่จะช่วยเอสเอ็มอีของไทยด้วย

นอกจากนี้ จากการที่เอกชนขอให้มีการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ 5-20% นั้น ก็จะต้องเริ่มทำ โดยปี 2567 ถือเป็นปีที่ท้าทายและหนักหน่วงมาก ด้วยสินค้าจีนทะลักเข้าไทย แต่เมื่อเขามา อุตสหากรรมไทยก็ต้องอยู่ให้ได้ และจำเป็นที่ต้องรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไว้ด้วย เพราะประเทศไทยก็มีการส่งออกผักและผลไม้จากภาคเกษตรกรรมไปยังจีนเช่นกัน ดังนั้น การจะมีมาตรการอะไรจะต้องไม่กระทบการค้าระหว่างประเทศด้วย

ทั้งนี้ ในการดำเนินการกระทรวงอุตสาหกรรม ยังไม่ครอบคลุมสินค้าที่มีการซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์ที่มีจำนวนกว่า 1,000 รายการ จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนร่วมดำเนินการควบคุมและกำกับติดตาม ทั้งกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ไม่มีคุณภาพหรือเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค รวมทั้ง พิจารณาให้มีการจัดเก็บภาษีอีคอมเมิร์ซ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขัน โดยการกำหนดนโยบายการจัดเก็บภาษีที่เหมาะสมสำหรับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามชาติ เพื่อให้บริษัทเหล่านี้เสียภาษีอย่างถูกต้อง และไม่เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า สมอ. ได้เร่งดำเนินการกวาดล้างสินค้าด้อยคุณภาพที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาด และทางออนไลน์ ตั้งแต่เดือนก.ย. 2566- ก.ค. 2567 ได้ยึดอายัดสินค้าไม่ได้มาตรฐานเป็นมูลค่า 322 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นสินค้าไม่ได้มาตรฐานที่นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน มูลค่า 92.7 ล้านบาท คิดเป็น 29% จากทั้งหมด

นอกจากนี้ สมอ. ยังได้กำหนดมาตรฐานสินค้าเพิ่มในปีนี้อีกจำนวนกว่า 1,400 มาตรฐาน จากเดิมที่ประกาศใช้แล้วจำนวน 2,722 มาตรฐาน และอยู่ระหว่างดำเนินการประกาศเป็นสินค้าควบคุมอีกจำนวน 52 มาตรฐาน เพิ่มเติมจากเดิมจำนวน 144 มาตรฐาน ครอบคลุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เช่น

ภาชนะและเครื่องใช้สแตนเลส กระทะ ตะหลิว หม้อ ช้อน ส้อม ปิ่นโต ถาดหลุม ถุงพลาสติกสำหรับบรรจุอาหาร ถุงพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับอุ่นในไมโครเวฟ เตาหุงต้มในครัวเรือนใช้กับก๊าซปิโตรเลียมเหลว ท่อยางและท่อพลาสติกสำหรับใช้กับก๊าซหุงต้ม ฟิล์มติดกระจกสำหรับรถยนต์ ภาชนะพลาสติกสำหรับบรรจุน้ำบริโภค ที่รองนั่งไฟฟ้าสำหรับโถส้วมนั่งราบ ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก และแผงโซล่าร์เซลล์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม จากดำเนินการข้างต้น สมอ. ยังมีแนวทางการดำเนินงานเพื่อป้องกันการเข้าถึงแพลตฟอร์มออนไลน์รายใหม่เพิ่มเติม ดังนี้

1.เร่งทำความเข้าใจและชี้แจงข้อกฎหมายกับผู้ประกอบการที่ให้บริการขนส่งสินค้า และให้บริการดำเนินพิธีการศุลกากร เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน

2.สร้างความตระหนักให้ประชาชนเลือกซื้อสินค้าที่มีเครื่องหมายมาตรฐานบนแพลตฟอร์มออนไลน์

3.บูรณาการการทำงานร่วมกับกรมศุลกากร เพื่อการนำเข้าสินค้าที่ต้องเป็นไปตามมาตรฐานจากแพลตฟอร์มออนไลน์

4.บูรณาการการทำงานร่วมกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เกี่ยวกับการควบคุมแพลตฟอร์มออนไลน์ และ 5.บูรณาการการทำงานกับสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวยอมรับว่าขณะนี้สินค้าไทย 23 กลุ่มอุตสาหกรรม จาก 46 กลุ่มอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากการนำเข้าสินค้าด้อยคุณภาพ ราคาถูกบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามชาติ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) เห็นได้จากยอดปิดโรงงาน 6 เดือนของปีนี้(ม.ค.-มิ.ย.2567) มีจำนวน 667 แห่ง 

ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเอสเอ็มอีเกือบ 100% ที่ปิดกิจการเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเร่งตัวขึ้น 86% หากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีมาตรการป้องกัน ก็เป็นห่วงว่าครึ่งหลังของปีนี้จะเห็นเอสเอ็มมากกว่า 30 กลุ่มอุตสาหกรรมจะได้รับกระทบกว่าที่เป็นอยู่ปัจจุบัน